สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

วิจารณ์ 10 ปีมติครม.คุ้มครองชาวเลยังไปไม่ถึงไหน จัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์คึกคัก-สรุปปัญหา 8 ประเด็น ชาวราไวย์ยังเผชิญทุกข์หนัก ผู้หญิงอูรักลาโว้ยปาดน้ำตาหลังถูกอัยการเตรียมส่งฟ้องคดีทั้งๆที่บ.เอกชนยอมถอนแล้ว

บรรยากาศเตรียมงานวันชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 10

ระหว่างวันที่ 18 -19 มกราคม 2563 ได้มีการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 ภายใต้ชื่องาน“10 ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ขึ้นที่บริเวณหน้าหาดราไวย์ ม.2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยตั้งแต่เช้าวันที่ 18 มีชาวเลจากพื้นที่ต่างๆ อาทิ เกาะลันตา จ.กระบี่ เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล บ้านทับตะวัน จ.พังงา เกาะเหลา จ.ระนอง ทยอยเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก ขณะที่ชาวเลชุมชนราไวย์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้ออกเรือหาปลาตั้งแต่เช้าเพื่อหาปลามาทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานโดยได้ปลาต่างๆ​ จำนวนมาก

นางวีรวรรณ ผู้หญิงอูรักลาโว้ยกำลังร่ำไห้เล่าถึงสถานการณ์ที่ถูกอัยการเตรียมสั่งฟ้องในคดีพิพาทกับบริษัทเอกชน

ทั้งนี้ภายในงานได้มีนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยระบุมาตรการระยะสั้นคือ 1.สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยด้วยการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนผ่านภาพถ่ายทางอากาศและด้วยวิธีอื่น 2.ให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ​ ได้และเสนอผ่อนปรนพิเศษในอาชีพประมง 3.ช่วยเหลือด้านสาธารณะสุข 4.ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสัญชาติ 5.ส่งเสริมด้านการศึกษา 6.แก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ 7.ส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล 8.ส่งเสริมให้ชุมชนชาวเลเกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 9.จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายชาวเล อย่างไรก็ตามมติ ครม.ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้จริง

นอกจากนี้ภายในงานยังได้สรุปสถานการณ์ของชาวเลไว้อย่างน่าสนใจโดยระบุว่า ผ่านมา 10 ปี ปัญหาของชาวเลยังไม่ได้รับการแก้ไขแถมยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีชาวเลอยู่ประมาณ 12,000 คน รวม 44 ชุมชน กระจายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีปัญหา ดังนี้ 1.ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย มี 25 ชุมชน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง ทั้งๆ​ ที่อาศัยมายาวนาน กลายเป็นที่ดินรัฐหลายประเภททั้งป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ป่าไม้ เขตอุทยาน กรมธนารักษ์ ฯลฯ เช่น ชุมชนชาวเลสะปำ ภูเก็ต ชุมชนชาวเลเกาะสุรินทร์ พังงา ชุมชนชาวเลเกาะเกาะพีพี กระบี่ เป็นต้น 2.สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน จากการสำรวจพบว่ากำลังมีปัญหาถึง 15 แห่ง มีทั้งการออกเอกสารมิชอบทับที่ ถูกรุกล้ำแนวเขต ถูกห้ามฝังศพ เช่น พื้นที่บาราย ของชาวเลราไวย์ ภูเก็ต สุสานเกาะหลีเป๊ะ สตูล เป็นต้น

บรรยากาศเตรียมงานวันชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 10

3.ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชนออกเอกสารมิชอบทับชุมชน โดยเฉพาะ ชุมชนชาวเลราไวย์ ชุมชนชาวเลบ้านสิเหร่ ภูเก็ต และชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ สตูล ถูกดำเนินคดี 29 คดี มีชาวเลเดือดร้อนมากกว่า 3,500 คน 4.ปัญหาที่ทำกินในทะเล จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าแต่เดิม ชาวเลหากินตามเกาะแก่งต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 27 แหล่งแต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 แหล่ง มีชาวเลถูกเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ จับกุมพร้อมยึดเรือเพิ่มขึ้น 5.พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน ผู้หญิงชาวเลใช้ หาหอย หาปู วางเครื่องมือประมง และที่จอดเรือก็กลายเป็นสิทธิของโรงแรมและนักท่องเที่ยว เช่น หน้าหาดราไวย์แห่งนี้ ทางธุรกิจเอกชนพยายามปิดทางเข้าออก หาดและที่จอดเรือของเกาะหลีเป๊ะ และเกาะพีพี ชาวเลถูกบีบบังคับ กดดันไม่ให้จอดเรือ

6.ปัญหาเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มชาวเลส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ขาดความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรม ทำให้กำลังจะสูญหาย 7.ปัญหาเรื่องสุขภาวะ ด้วยปัญหารอบด้านทำให้เกิดความเครียด บางส่วนติดเหล้า และชาวเลมีปัญหาเรื่องสุขภาพต่างๆ​ ตามมา 8.ปัญหาการไร้สัญชาติ ยังมีชาวเลกว่า 400 คนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยเฉพาะ ชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ พังงา เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม ระนอง

ชาวเลราไวย์ออกเรือหาปลาเพื่อทำอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงาน

นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนราไวย์ กล่าวว่าภายหลังมีมติครม.10 มิถุนายน 2553 คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แต่ชาวเลกลับยังถูกจับอยู่เรื่อยๆกุมเพราะออกไปหาปลาเนื่องจากบางส่วนเข้าไปในเขตอุทยานฯ และใช้เครื่องมือหาปลาในจำนวน 17 ชนิดที่เคยทำข้อตกลงไว้กับอุทยานฯ​ ที่จะผ่อนปรน โดยอุทยานฯอ้างว่าเป็นแค่มติครม.แต่เขาต้องรักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนยังไม่เข้าใจถึงข้อตกลงดังกล่าว ขณะที่ชาวเลในหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาถูกบุกรุกสุสานฝังศพ เช่นชาวเลเกาะสิเหร่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ไม่สามารถเข้าไปฝังศพได้เพราะเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ ส่วนเรื่องบัตรประชาชนก็ได้เฉพาะกลุ่มโดยชาวมอแกนมีปัญหามากแต่ชาวอูรักลาโว้ยได้เกือบหมดแล้ว

นายนิรันดร์กล่าวว่า ในส่วนของชาวเลราไวย์ที่เกิดปัญหากับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จนเกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันเมื่อ 3 ปีก่อน แต่เรื่องก็ยังไม่สิ้นสุดซึ่งบริษัทเอกชนฟ้องชาวบ้าน และมีการไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านรับสารภาพว่าบุกรุกแต่ชาวบ้านไม่ยอม อย่างไรก็ตามในที่สุดบริษัทเอกชนก็ยอมถอนฟ้อง แต่ทางอัยการบอกว่าเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้เพราะเป็นอาญาแผ่นดินและอัยการเตรียมส่งฟ้องผู้หญิงชาวเล 3 คนประกอบด้วย นางวีรวรรณ หาดทรายทอง นางบุญใจ พลรบ และนางบังอร แซ่ฉั่ว จากตอนแรกที่ออกหมายจับมี 9 คน แต่รูปภาพที่ฝ่ายโจทย์นำไปอ้างนั้น เห็นหน้าชัดเจนแค่ 3 คน จากชาวเลนับพันคนที่ร่วมกันต่อสู้ปกป้องเส้นทางสาธารณะที่เดินไปสู่บาราย(พื้นที่ประกอบพิธีกรรม)

“ที่ดินบริเวณชายหาดราไวย์ที่เดินไปยังบาราย ยังเกิดข้อพิพาทอยู่โดยชาวบ้านยืนยันว่าเป็นที่ดินที่พวกเราใช้มาเนิ่นนาน แต่บริษัทเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์ ขณะที่ทางฝ่ายปกครอง เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล บอกว่าเป็นที่ดินสาธารณะเนื่องจากน้ำทะเลท่วมถึง แต่กรมที่ดินและบริษัทเอกชนอ้างว่าเป็นที่ดินของเขาซึ่งจรดทะเล ดังนั้นจึงยังไม่ได้ข้อยุติ” นายนิรันดร์ กล่าว

ชาวเลราไวย์ออกเรือหาปลาเพื่อทำอาหารเลี้ยงผู้ร่วมงาน

นางวีรวรรณ หาดทรายทอง อายุ 36 ชาวอุรักลาโว้ย ซึ่งเกิดในชุมชนราไวย์กล่าวว่า รู้สึกตกใจและแปลกใจที่ถูกฟ้องเพราะในวันเกิดเหตุเขาเอาหินมากองเป็นแนวกั้นเส้นทางจนเต็ม ซึ่งชาวบ้านยังใช้ชีวิตปกติธรรมมดา กลุ่มผู้หญิงชาวเลในชุมชนได้เดินมาดูกันเรื่อยๆ และห้ามไม่ให้เขาปิดกั้นเส้นทาง เขาจึงถ่ายภาพซึ่งมีผู้หญิงนับร้อยคนและบอกว่าจะเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับฟ้องร้อง แต่ตนคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเพราะแค่ใช้วิชีตเหมือนปกติ เราไม่ได้ทำลายทรัพย์สินของเขา เราแค่มายืน ตอนนี้รู้สึกกับวลใจเพราะแม้เอกชนไม่เอาผิดแล้ว แต่อัยการยังยืนยันที่จะฟ้องต่อโดยระบุข้อหารุนแรงว่าบุกรุกทำลายอสังหาริมทรัพย์

“เราไม่เคยทำผิดอย่างที่เขากล่าวหา แต่กลับมีตำรวจเอาหมายจับมาที่บ้านถึง 7 คน ทำให้ตกใจมาก เราเป็นคนหน้าแปลก แต่เขาเป็นคนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน แทนที่พวกเขาจะถูกฟ้องกลับกลายเป็นว่าพวกเราผู้หญิงที่ยืนดูเหตุการณ์ถูกฟ้อง ตอนนี้ทุกข์ใจมากเพราะเราไม่รู้เรื่องกฎหมาย เราเป็นห่วงลูกหลานเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะอยู่อย่างไร เกิดฉันมาไม่เคยทำผิดกฎหมายและถูกสอนให้ทำแต่สิ่งดีๆ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้” นางวีรวรรณ กล่าวพร้อมกับปาดน้ำตา


//////////////////////////////

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →