สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

รุมจวก “วีระกร” ทำเกินบทบาท กมธ.โทรไปเฉ่งชาวบ้านค้านโครงการผันน้ำยวมสู่ลุ่มเจ้าพระยา-เผยตั้งท่าผลักดันโครงการชัดเจนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป สส.ก้าวไกลสอนมวยศึกษาให้รอบด้าน-ไม่มีหน้าที่รับรองพิมพ์เขียวหน่วยงานราชการ

วันที่ 9 กันยายน 2563 นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ชาวบ้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ได้เขียนบันทึกและมีผู้นำมาเผยแพร่ว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.12 น.ของวันที่ 8 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ตนได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แจ้งว่า ชื่อ ส.ส.วีระกร บอกว่าเป็นกรรมาธิการของ ส.ส. (สภาผู้แทนราษฎร) เรื่องน้ำ  โดยนายวีระกรได้ถามถึงหนังสือที่ตนส่งไปคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ว่า “คุณเป็นใคร อยู่ที่ไหน ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จริงหรือไม่ โครงการนี้ไม่มีผลกระทบอะไรเลย ในพื้นที่ได้ลงไปถามแล้วชาวบ้านบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย แล้วทำไมคุณได้รับผลกระทบ”

นายสะท้านเขียนบันทึกต่อไปว่า “ ผมก็ตอบว่าผมเป็นคนในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ทุกปีที่ดินของผมถูกน้ำยวมท่วมอยู่แล้ว คุณวีระกรบอกว่าทุกครั้งที่มีเวที ไม่เห็นคุณมาเข้าร่วมเวทีเลย ผมบอกว่าเวทีทุกครั้งที่เขาเชิญ ผมเข้าร่วมทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วม คือเวทีกรรมาธิการของ ส.ส. เรื่องน้ำ ผมไม้ได้เข้าร่วม เหตุผลคือทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เชิญ คุณวีระกรบอกว่าเขาไม่เห็นความสำคัญของผมก็เลยไม่เชิญผมเข้าร่วมเวที แล้วคุณวีระกร ก็บอกต่อว่าในพื้นที่แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา อยู่ในพื้นที่อุทยานหมดเลย ผมก็บอกว่าพื้นที่ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ คุณวีระกร ถามต่อว่าพื้นที่คุณมีโฉนดหรือไม่ ผมบอกว่ามีโฉนด อยู่ติดแม่น้ำยวม คุณวีระกรบอกวผมว่าให้ผมถ่ายโฉนดที่ดินให้ด้วย และบอกว่าจะให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ มาตรวจสอบพื้นที่ แล้วบอกว่าบุกรุกพื้นที่ป่า ที่คุณส่งหนังสือคุณมั่วแล้ว ผมบอกว่าผมไม่คุยแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ครับ”

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เครือข่ายลุ่มน้ำยวม เงา เมยและสาละวิน ที่ลงชื่อโดยนายสะท้านได้ยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเรื่องขอคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลฯโดยให้เหตุผล 8 ข้อ อาทิ การสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่า การสำรวจไม่ครอบคลุมชุมชนทั้งหมด ขอให้ทบทวนแนวทางการบริหารน้ำทั้งระบบ โดยในหนังสือฉบับนี้ได้แนบรายชื่อหมู่บ้าน 28 แห่ง ทั้งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตากและเชียงใหม่ ที่ร่วมกันคัดค้านโครงการดังกล่าว และหนังสือฉบับนี้ได้นอกจากปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯได้ลงนามรับทราบแล้ว ยังได้เวียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 นายวีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทาน ได้เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านท่าเรือ ม.8 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และแม่น้ำยวมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล โดยนายวีระกรได้ให้สัมภาษณ์ว่าพื้นที่ที่คาดว่าราษฏรจะได้รับผลกระทบ ประมาณ 40 ไร่ ราษฏร 4 ครอบครัวที่ซึ่งมีอาชีพทำไร่ โดยทางภาครัฐก็จะดำเนินการชดเชยตามระเบียบ 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายสำนักข่าวได้ลงสำรวจพื้นที่โครงการดังกล่าวเช่นเดียวกันโดยได้สัมภาษณ์ชาวบ้านที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดอุโมงค์ กว่า 64 กิโลเมตร และชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอุโมงค์และสถานีสูบน้ำ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ จึงได้ร่วมกันทำหนังสือคัดค้านและส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าหากดูจาก พฤติกรรมของ กมธ.บางคนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรมีบทบาทหน้าที่ทำการศึกษาและเสนอแนะ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือตามที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ ว่าชาวบ้านเห็นด้วยหรือไม่ แต่ปรากฎว่า กมธ.บางส่วนกลับสร้างความคับข้อข้องใจให้ชาวบ้านว่าทำบทบาทของ ส.ส. และกมธ.ได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะมีท่าทีผลักดันโครงการฯชัดเจน 

“เขามองไม่เห็นปัญหาของชาวบ้าน ทำหน้าที่คล้ายเป็นนายหน้าผลักดันโครงการฯ แทนหน่วยงานรัฐ โดยไม่สนใจเหตุผลที่คัดค้าน ว่าโครงการฯ จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง คุ้มหรือไม่ในการลงทุน  มิติเหล่านี้กลับไม่มีการพิจารณา เมื่อพวกเขาลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีแต่สิ่งที่พวกเขาพูดๆๆ จนแทบไม่มีเวลารับฟังเสียงที่ท้วงติงเลข ผมทราบมาว่าในการลงพื้นที่มีรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พยายามยกมือพูด แต่เขากลับไม่ยอมให้พูด แล้วนำมารายงานในที่ประชุม กมธ.ว่าประชาชนเห็นด้วยหมด วิธีการแบบนี้ไม่น่าจะเป็นบทบาทของ ส.ส. ซึ่งไม่ใช่ ส.ส. ในพื้นที่ด้วยซ้ำ” นายหาญณรงค์ กล่าว 

นายหาญณรงค์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กมธ.บางคนให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ได้มีการเจรจากับทุนรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งจะมาลงทุนในโครงการนี้ฟรีเพื่อแลกกับสิทธิการในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในเขตชายแดนไทย-พม่าและขายไฟฟ้าให้ไทย ถามว่าเรื่องนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของ กมธ.หรือไม่ ตนคิดว่าสภาควรมีการตรวจสอบการทำงานของ กมธ.หรือ ส.ส.ประเภทนี้ ว่าทำเกินเลยหน้าที่หรือไม่ หากทำแบบนี้ต่อไปชาวบ้านคงไม่สามารถไว้ใจในการทำหน้าที่ของ กมธ.ได้ เพราะการลงพื้นที่แต่ละครั้งก็ทำตัวเหมือนเจ้าของโครงการ ชาวบ้านจะมั่นใจในการส่งเสียงสะท้อนและข้อท้วงติงผ่าน กมธ.ได้อย่างไร 

ขณะที่นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า พวกตนได้ลงพื้นที่โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไปคนละคณะกับ กมธ.ชุดใหญ่ โดยโครงการนี้กรมชลประทานได้ปักหมุดเอาไว้แล้ว และ กมธ.บางรายก็เชื่อตามกรมชลประทานที่บอกว่ามีบ้านที่ได้รับผลกระทบเพียง 4 หลัง แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือมีชุมชนอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผืนป่าใหญ่แห่งสุดท้ายของจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย ซึ่งเราต้องทำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปใน กมธ. เพราะมีประชาชนเดือดต้อนจำนวนมาก การที่กรมชลประทานอ้างมีบ้านที่ได้รับผลกระทบแค่ 4 หลังนั้น อาจเป็นแค่จุดหัวงานเขื่อนสร้างโรงสูบน้ำเท่านั้น แต่ยังมีหมู่บ้านอีกมากมายที่อยู่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อนที่ได้รับผลกระทบ

นายคำพองกล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมยอยู่ในชุดอนุ กมธ.เจ้าพระยา ที่อยู่ในระหว่างทำการศึกษาและต่อเวลาออกไปน่าจะสิ้นสุดการในช่วงปลายปี ซึ่งเราก็จะนำข้อมูลที่ได้รับเข้าไปนำเสนอเช่นกัน โดยบทบาทของเราคือการศึกษาอย่างรอบด้านและเสนอแนะนำสู่สภา  ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของศึกษาแนวทาง ไม่ใช่ศึกษาว่าจะไปสร้างโครงการหรือไม่ หรือรับรองพิมพ์เขียวให้หน่วยงานราชการ ถ้าเห็นด้วยกับพิมพ์เขียวแล้วของหน่วยงานราชการทั้งหมดแล้ว กมธ.จะศึกษาไปทำไม ถ้ากรรมธิการบางคนบอกว่าเป็นแนวทางที่ใช่แล้วก็คงต้องไปคุยกันใน กมธ.ให้รอบคอบกว่านี้เพราะมีผลกระทบมากมายซึ่งต้องอยู่ในรายงานของ กมธ. 

“เราเห็นว่าทุกเขื่อนก่อนจะสร้างก็มักบอกว่าจะมีน้ำเข้าและกักน้ำได้มากมายเท่านั้นเท่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเลย ทางตรงกันข้ามกลับมีผลกระทบต่อป่าและชุมชนมากมาย และสิ่งเหล่านี้เอากลับคืนมาไม่ได้ ตอนนี้ยังจะทำต่อไปอีก ถ้าล้มเหลวอีกจะทำอย่างไร” นายคำพอง กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ กมธ.บางคนโทรไปตำหนิชาวบ้านที่ออกมาคัดค้าน นายคำพองกล่าวว่า อำนาจ กมธ.ต้องรับฟังชาวบ้าน แต่ไม่มีหน้าที่ตำหนิหรือแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ควรศึกษาให้รอบด้าน ความเห็นของชาวบ้านมีส่วนสำคัญที่ต้องรับฟังเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง กมธ.ไม่มีหน้าที่บีบบังคับให้ชาวบ้านเห็นด้วยหรือจะโปรโมทโครงการให้หน่วยงานรายการ หรือการไปคุกคามวิถีชีวิตของคนในชุมชน คิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นความเห็นส่วนตัวหรือเรื่องอคติส่วนตัวของ กมธ.บางคนมากกว่า

“ปกติชาวบ้านเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบกับโครงการก็หนักพอควรแล้ว กมธ.ไม่ควรเข้าไปเผชิญหน้ากับชาวบ้านอีก มิเช่นนั้น ชาวบ้านก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เรามีหน้าที่ศึกษาให้รอบด้าน ถ้าชาวบ้านต้องการก็ค่อยเสนอแนะผ่านสภา แต่ไม่ใช่ไปยัดเยียดให้เขา เราเห็นอยู่แล้วแต่ละโครงการที่สร้างความเสียหายยามนี้ซึ่งเราเรียกร้องกลับคืนมาไม่ได้” นายคำพอง กล่าว

อนึ่ง โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก เป็นโครงการของกรมชลประทาน ซึ่งระบุว่าเป้าหมายคือ ผันน้ำมาแก้ไขปัญหาให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามี พื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่วะหลวง แม่สวด กองก๋อย และสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, ตำบลนาเกียน อมก๋อย และนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รวม 36 หมู่บ้าน องค์ประกอบของโครงการ ประกอบด้วย 1. เขื่อนน้ำยวมและอาคารประกอบ  

ลักษณะเขื่อนคอนกรีต สูง 69.50 เมตร 2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา 

3. ระบบอุโมงค์และถังพักน้ำ ส่งน้ำลำเลียงไปท้ายน้ำห้วยแม่งูด บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เข้าสู่อ่างของเขื่อนภูมิพล ความยาวของอุโมงค์ 63.47 กม. ลักษณะของอุโมงค์ดาดคอนกรีตเสริมเหล็ก 4. จุดกองวัสดุในป่า 7 จุด นอกจากนี้ยังมีโครงการผันน้ำจากแม่น้ำเมยบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งรวมทั้ง 2 โครงการ อยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน มีมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ผืนป่าหลายพันไร่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการฯประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแม่เงา(เตรียมการ),ป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยาง,ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มแม่ตื่น,ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย,ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย และป่าสงวนแม่ยวมฝั่งขวา อยู่ในเขต จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน 

////////////////////////////          

On Key

Related Posts

ชาวบ้านป่าหมากโวยถูกปักเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน หวั่นเสียที่ทำกินยกหมู่บ้าน หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรีแจงสำรวจถูกต้อง เตรียมกันเขต-ออกหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 นายเยบุ จอเด๊ะโก อายุ 6Read More →

SAC ชี้ “พ.อ.ชิตตู”ตัวอันตราย สื่อพม่าอ้างทางการไทยจับมือทางการพม่ารวบรวมข้อมูลผู้นำ BGF “รศ.ดุลยภาค”เผยกลยุทธ์ทัพพม่าเลาะชายแดนไทยโอบล้อมตี KNU แนะรัฐบาลไทยคุมเข้มพื้นที่ชายแดนแม่สอด-อุ้มผาง-พบพระ

วันที่ 25 เมษายน 2567 สื่อออนไลน์พม่า Khit Thit MeRead More →

หญิงโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์ริมน้ำเมยแฉ แก๊งมาเฟียสุดเหี้ยม คุมขัง-ทรมาน-ฆ่าเพื่อเรียกค่าไถ่ มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์คุมเข้ม เผยนานาชาติตกเป็นเหยื่อ-ชาวยูกันดา 23 คนได้รับการช่วยเหลือหลังถูกหลอกเป็นสแกมเมอร์ หนุ่มสาวลาว 14 คนถูกส่งต่อจากคิงส์โรมันส์วอนช่วยด่วน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 น.ส.ไอชะห์(นามสมมุติ) อRead More →