สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

แม่เฒ่ากะเหรี่ยงปาดน้ำตาร่ำไห้อยากตายหลังชีวิตต้องอพยพหนีทหารพม่า 3 รอบ-พบ 260 คนกำลังอด ข้าวของบริจาคไปไม่ถึง

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 รายงานข่าวความคืบหน้าถึงสถานการณ์ช่วยเหลือชาวบ้านหลายพันคนริมแม่น้ำสาละวิน บริเวณพรมแดนไทยพม่า ที่หลบหนีภัยการสู้รบหลังจากทหารพม่าใช้เครื่องบินรบโจมตีฐานที่มั่นกองพล 5 แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่หมู่บ้านเด่ปูโหน่ เมืองมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่วันที่ 27-28 มีนาคม ทำให้ชาวบ้านอพยพหนีตายมายังชายแดนไทยริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ว่าตลอดทั้งวันได้มีการทยอยนำข้าวของบริจาคลงเรือจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่กำลังประสบความลำบาก

สำหรับจุดใหญ่ที่มีชาวบ้านมาหลบพักพิงอยู่จำนวนมากคือบริเวณที่แม่น้ำสาละวินไหลผ่านหมู่บ้านแม่นือท่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน โดยมีชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านเด่ปูโหน่ราว 2 พันคน สร้างเพิงพักหลังคาผ้าใบอยู่ตามริมตลิ่ง

ชาวบ้านรายหนึ่งที่ทำหน้าที่รวบรวมและจัดการสิ่งของบริจาคเล่าว่า บริเวณชายแดนจุดนี้ใกล้หมู่บ้านเด่ปูโหน่มากที่สุด ชาวบ้านจึงอพยพหนีภัยมาที่นี่โดยประมาณการไว้อย่างต่ำ 2 พันคน แต่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่หลบซ่อนอยู่ในป่าและทยอยเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ในเด่ปูโหน่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยล่าสุดมีข่าวว่าทหารพม่าจะใช้เครื่องบินบุกโจมตีอีกในวันที่ 7-8 เมษายน

“คืนวันที่เครื่องบินมาทิ้งระเบิด พวกเราหนีกันกระเจิงไปอยู่ในป่า โดยไม่ได้เอาอะไรติดตัวมาเลย ตอนแรกคิดว่าตอนเช้าจะกลับเข้าไปเอาข้าวของ แต่ทหารพม่าได้โจมตีต่อเนื่องจนถึงวันที่ 28 มีนาคม เราเลยไม่มีโอกาสกลับไป หลบซ่อนกันในป่าจนเดินมาถึงที่นี่” ชาวกะเหรี่ยงรายนี้ กล่าว

เขากล่าวว่า เมื่อ 3 วันก่อนที่ชาวบ้านมาถึง แทบไม่มีอะไรกินและยังเจอฝนตกหนักทำให้ลำบากมาก แต่วันนี้มีข้าวของบริจาคมาถึง ทำให้ชาวบ้านมีข้าวกินโดยได้แบ่งข้าวสารให้ชาวบ้านคนละ 2 แก้วต่อวัน

ขณะเดียวกันที่น่าเป็นห่วงมากคือจุดที่บ้านผาแดง ซึ่งมีชาวบ้าน 52 ครอบครัว 260 คนมาหลบภัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ห่างไกลจากบ้านแม่สามแลบมากที่สุด โดยต้องนั่งเรือราว 5 ชั่วโมง ทำให้ข้าวของบริจาคยังไปไม่ถึง ชาวบ้านจึงต้องกินข้าวกันอย่างอดมื้อกินมื้อ

ชาวบ้านรายหนึ่งที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือใดๆ มาถึงและยังไม่มีใครเข้ามาเก็บข้อมูล โดยความจำเป็นเร่งด่วนคือข้าวสารและเกลือ รวมถึงยารักษาโรค

“ตอนฝนตกหนักพวกเราไม่รู้ทำอย่างไร ก็ต้องอยู่กันอย่างเปียกๆ ทำให้ตอนนี้เด็กๆ ที่มีอยู่ 68 คน บางส่วนเริ่มป่วย แต่เราไม่มียา” เขากล่าว

ขณะที่นางหน่อวา แม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยง กล่าวว่า ตนออกจากบ้านมาหลบซ่อนอยู่ในป่าตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม เพราะได้รับแจ้งข่าวว่าหมู่บ้านอาจถูกทหารพม่าโจมตีเพราะบริเวณใกล้หมู่บ้านมีฐานที่มั่นของทหารพม่าตั้งอยู่ และทางเคเอ็นยูได้ประกาศให้ทหารพม่าถอนกำลังออกจากฐานดังกล่าว โดยตอนแรกพวกตนหลบซ่อนตามป่าแถวหมู่บ้าน แต่เมื่อทหารพม่าใช้เครื่องบินบุกโจมตีหมู่บ้านเด่ปูโหน่ และต้องบินผ่านหมู่บ้านของตน ดังนั้นจึงค่อยๆ พากันอพยพกันมาอยู่ชายแดนไทย

“ฉันอยากกลับบ้านแต่ก็กลับไม่ได้ เกิดมาต้องหนีตลอด อพยพย้ายบ้านหนีทหารพม่าแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่แย่ที่สุดต้องอดแทบไม่มีข้าวกิน ชีวิตนี้ต้องเริ่มต้นใหม่ตลอด ถึงวันนี้ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว อยากตายให้มันจบไป” นางหน่อวากล่าวพร้อมยกมือปาดน้ำตา

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →