สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

วายร้ายที่ชื่อ “เหมืองทอง”

image

“ตอนกลับ พวกเขาบอกว่าจะมาอีก ทำให้เรานอนไม่ค่อยหลับกันทุกคืน” อาการหวาดผวาของนางระนอง กองแสน หรือ “แม่รส” ชาวบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ยังคงบ่งบอกด้วยสายตาหรือน้ำเสียงทุกครั้ง ที่เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 ถึงเช้าวันที่ 16 พฤษภาคม ที่มีชายฉกรรจ์ปิดหน้ารุมทำร้ายและกักขังชาวบ้านหลายสิบคน เพื่อให้รถขนแร่ผ่านเส้นทางของชุมชน

ในวันที่สื่อมวลชนจากส่วนกลางกว่า 10 คน ลงพื้นที่ (22-24 พฤษภาคม) ชาวบ้านเพิ่งผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายไปแค่ 7 วัน บรรยากาศในหมู่บ้านจึงยังคงคุกรุ่นและเต็มไปด้วยความระแวดระวัง โดยมีข่าวลือมาเป็นระยะว่าจะมีการมาขนแร่ที่เหลืออีก โดยเฉพาะในคืนวันที่ 29-30 พฤษภาคมนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนผู้บริหารในจังหวัดกลับมีท่าทีเพิกเฉย ความเป็นธรรมจึงเข้าไปไม่ถึง 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง

พื้นที่ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง มีสายแร่ทองคำอยู่ใต้แผ่นดิน ทำให้ถูกจับจ้องจากนักแสวงหาประโยชน์ตาเป็นมัน โดยในปี 2546 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ประทานบัตรเหมืองทองคำแก่บริษัททุ่งคำฯเป็นเวลา 25 ปี และเริ่มมีการทดลองทำแร่

image

“ตอนแรกเราก็ดีใจ เพราะบ้านเราจะได้มีเหมืองทองคำ ซึ่งฟังแล้วดูดีมาก ที่สำคัญลูกหลานจะได้มีงานทำ” แม่รสย้อนความรู้สึกเมื่อปี 2549 ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำเหมืองทองเลย แม้แต่คำว่า “ทำเหมือง”ก็แทบไม่เคยมีใครรู้จัก

“เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไผ่ เป็นแหล่งหากินหาอยู่ของพวกเรา แต่เดี๋ยวนี้มันใช้อะไรไม่ได้แล้ว” แม่รส พาสื่อมวลชนไปสำรวจพื้นที่ภูซำป่าบอน ซึ่งเคยเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้าน แต่รัฐบาลยกให้เป็นพื้นที่ทำเหมืองแห่งแรกในย่านนี้

สภาพปัจจุบันของภูซำป่าบอนคือเนินเขาที่ถูกเจาะเหมือนปล่องภูเขาไฟโดยมีน้ำสีเขียวปราศจากสิ่งมีชีวิตขังอยู่ รอบๆเป็นหน้าดินที่ถูกขุดขึ้นมากองไว้ เมื่อฝนตกลงมาได้ชะดินเหล่านี้ไหลลงไปตามไร่นาของชาวบ้าน พร้อมๆกับการปนเปื้อนสารไซยาไนด์ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นพระเอกในการทำเหมืองทอง

ภูซำป่าบอถูกแปลงจากแหล่งอาหารเป็นแหล่งพิษภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ชาวบ้านต่างรู้สึกเจ็บปวดไปตามๆกัน แม้ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะระบุไว้ตั้งแต่ต้นว่าให้ผู้ประกอบการทำการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังจากการขุดแร่เสร็จสิ้น แต่สุดท้ายเมื่อเขาไม่ทำตาม ก็ไม่มีกลไกใดๆบังคับ เศษซากความหายนะจึงเป็นภาระของชุมชน

“นายทุนเข้ามาทำลายหมด แล้วเราจะเอาอะไรไว้ให้ลูกหลานได้หาอยู่หากิน เราอยากให้สังคมได้รู้ได้เห็นว่าพวกเขามาทำความชิบหายให้กับเราไว้อย่างไรบ้าง” แม่รสระบายความคั่งแค้นในใจที่หน่วยงานรัฐไม่ค่อยจะรับฟัง

image

หลังจากเปิดหน้าดินและขุดแร่ที่ภูซำป่าบอนแล้ว บริษัททุ่งคำฯได้ก่อสร้างโรงแต่งแร่ขึ้นที่ภูสับฝ้า แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นภูทับฟ้า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากภูซำป่าบอน

ปี 2552 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเลยได้เข้ามาตรวจสอบน้ำในลำห้วยเหล็ก ซึ่งมีบ่อกักเก็บน้ำที่มีสารปนเปื้อนของเหมืองทอง เช่น ไซยาไนด์ อยู่ในบริเวณดังกล่าว และมีคำประกาศห้ามตามมาคือ ห้ามชาวบ้านกินหอยในลำห้วยแห่งนี้ รวมทั้งห้ามใช้น้ำอุปโภคบริโภคเพราะพบสารปนเปื้อน

“เมื่อก่อนลุงเคยทำนาได้ปีละ 40-50 กระสอบ เหลือก็เอาไปขาย แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะต้นข้าวไม่โต ปีที่แล้วทำได้แค่ 9 กระสอบ”ลุงเลียง พรหมโสภา ชาวบ้านภูสับฝ้า เล่าถึงสถานการณ์อันยากลำบากของแก

ลุงเลียงเกิดและเติบโตที่นี่ ที่ดิน 24 ไร่ในความครอบครองเป็นมรดกที่บรรพบุรุษหักร้างถางป่าไว้ให้ แกแบ่งที่ดิน 12 ไร่ไว้ทำนาซึ่งอยู่ในร่องห้วยเหล็ก ส่วนอีก 12 ไร่อยู่บนเนินสำหรับปลูกยางพารา

“สมัยก่อนร่องห้วยเหล็กมีความอุดมสมบูรณ์มาก น้ำใสแจ๋ว ผักหญ้าปูปลามากมาย แต่ตอนหลังน้ำกลายเป็นสีสนิม กินใช้ไม่ได้ แม้แต่หอยเขาก็ห้ามกิน ผักกูดที่เคยเขียวก็หงิกงอ” ผู้เฒ่ามองถึงความเปลี่ยนแปลงด้วยจิตใจห่อเหี่ยว แกไม่คิดว่าเหมืองจะก่อการร้ายกับแหล่งอาหารของชุมชนได้ถึงเพียงนี้

น้ำจากห้วยเหล็กไหลลงลำน้ำฮวย น้ำจากลำน้ำฮวยไหลลงแม่น้ำเลย และน้ำจากแม่น้ำเลยไหลลงแม่น้ำโขง สายน้ำธรรมชาติรับช่วงกันเป็นทอดๆ ทำให้ชาวบ้านหวาดวิตกว่า หากวันใดวันหนึ่งบ่อกักเก็บสารปนเปื้อนซึ่งมีเขื่อนกั้นอยู่ที่ลำห้วยเหล็ก เกิดการพังทลายเพราะฝนหรือพายุถล่มขึ้นมา ความพินาศย่อมเกิดขึ้นทั้งในระบบนิเวศและในชุมชน

“หลังจากเขาเริ่มทำเหมืองไป 2-3 ปี เราก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง น้ำเริ่มทำให้คันและมีกลิ่น เมื่อก่อนหน้าแล้ง ลำห้วยจะแห้งไปเลย และมีน้ำเต็มในหน้าฝน แต่เดี๋ยวนี้มีน้ำไหลตลอด น้ำมาจากไหนไม่รู้ แต่เป็นน้ำสีขุ่นๆและมีกลิ่นเหม็น”

สารปนเปื้อนที่ผสมกับแหล่งน้ำธรรมชาติในลำห้วยเหล็ก ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีอาการเจ็บป่วย และผลจากการตรวจสอบของโรงพยาบาลวังสะพุง พบว่าประชาชนใน 6 หมู่บ้านในละแวกนี้ต่างมีสารปนเปื้อน เช่น ไซยาไนด์ ปรอท อยู่ในร่างกายมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป บางส่วนแสดงอาการแล้วคือมือเท้าไม่มีแรงถึงขนาดเดินไม่ได้ บางส่วนสะสมอยู่ในร่างกายรอวันแผลงฤทธิ์ แต่เหนืออื่นใดคือไม่มีหน่อยงานใดเข้ามารับผิดชอบ และจัดการกับต้นเหตุของปัญหา

ชะตากรรมของหมู่บ้านในชนบท 6 หมู่บ้าน ที่เคยอยู่กันอย่างสงบสุข ต้องตกอยู่ในอาณาจักรของความหวาดกลัว เพราะ วายร้ายที่ชื่อ“เหมืองทอง” ซึ่งนอกจากรุมโทรมชุมชนจนยับเยินแล้ว มันยังทิ้งโรคร้ายไว้ให้ชาวบ้านได้ทรมานอีก

มีใครบ้างมั้ยที่จะช่วยทวงคืนเป็นธรรมให้ชาวบ้านตำบลเขาหลวง

ภาสกร จำลองราช

 

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →