สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

จดหมายจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงถึงจีน เรื่อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลเขื่อนบนแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้างและระงับโครงการเขื่อนที่ยังไม่ก่อสร้างเพื่อศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน

image

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
สำนักงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
62 ม.8 บ.เวียงแก้ว อ.เชียงของ จ.เชียงราย

12 กันยายน 2557

เรื่อง ขอให้เปิดเผยข้อมูลเขื่อนบนแม่น้ำโขง-แม่น้ำล้านช้าง และระงับโครงการเขื่อนที่ยังไม่ก่อสร้างเพื่อศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน
เรียน ประธานาธิบดี สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำเนา ประธานบริษัทไฮโดรลานชาง

แม่น้ำโขง ซึ่งไหลจากประเทศจีนลงสู่ 5 ประเทศทางท้ายน้ำ เป็นแหล่งทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นดังสายเหลือดของพวกเรา ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ การประมง คมนาคม แหล่งรายได้ และแหล่งวัฒนธรรมของภูมิภาค

แต่เมื่อราว 18 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนแห่งแรก คือเขื่อนมานวาน กั้นแม่น้ำล้านช้าง หรือแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนาน ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขงโดยเฉพาะพรมแดนไทย-ลาว ในจังหวัดเชียงราย ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้น-ลง ของระดับน้ำที่ผิดไปจากวัฎจักรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับวิถีชีวิตและความมั่นคงของชุมชน และหลายครั้งก็ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่รุนแรง ผันผวน และผิดฤดูกาล

ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระดับน้ำโขงที่จ.เชียงราย หลายครั้งที่ผ่านมา ขึ้น-ลง สูงถึง 3 เมตรภายใน 1 สัปดาห์ หรือบางครั้งก็หลายสิบเซนติเมตรภายในเวลาเพียงวันเดียว สิ่งนี้เรายืนยันได้ว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เกิดขึ้นหลังจากมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างไปแล้วถึง 6 แห่ง

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการอ้างอิงตัวเลขว่า น้ำในแม่น้ำโขงไหลมาจากประเทศจีนเพียงร้อยละ 16-18 แต่นั่นคือปริมาณรวมของน้ำทั้งลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ต้นกำเนิดไปจนถึงปากแม่น้ำที่เวียดนาม แต่สำหรับพวกเราที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงที่ภาคเหนือของไทย เราทราบว่าปริมาณน้ำที่สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นน้ำที่มาจากจีนปริมาณมาก มีสัดส่วนถึง 90-95% ในฤดูแล้ง และ 70-75% ในฤดูฝน ดังนั้นการกระทำใดๆ ต่อแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนาน จึงส่งผลกระทบรุนแรงต่อแม่น้ำทางท้ายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้ทราบข้อมูลที่บริษัทเจ้าของเขื่อนจิงหง ทำหนังสือแจ้งเจ้าท่าเมืองเชียงรุ้ง เกี่ยวกับปริมาณน้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากฝนที่ตกหนัก ทำให้ต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 4-30 กันยายน ดังที่เจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดเชียงรายทำจดหมายแจ้งเตือนนายอำเภอเชียงแสนในวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา นำมาซึ่งความกังวลเป็นอย่างยิ่งสำหรับพวกเราที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย เนื่องจากเขื่อนที่อยู่ล่างที่สุด คือเขื่อนจิงหง ตั้งอยู่เหนือเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา ห่างจากพรมแดนไทยที่สามเหลี่ยมทองคำ เพียงประมาณ 340 กิโลเมตรเท่านั้น ไม่มีใครตอบเราได้ว่าหากเขื่อนจำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมาในปริมาณมากในทันที น้ำเหล่านั้นจะไหลลงมาถึงบ้านของเราในเวลากี่ชั่วโมง และจะทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นมากเพียงใด

ในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่อำเภอเชียงแสน ประชาชนวิตกกันมากถึงขนาดยกเครื่องใช้ไฟฟ้าและของมีค่าต่างๆ  ขึ้นบนชั้นสองของบ้านทันทีหลังจากที่ได้ทราบข่าวดังกล่าว ประชาชนต่างหารือเกี่ยวกับความกังวลที่มีเกี่ยวกับเขื่อนในวงกว้าง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย รวมถึงคนหาปลา และเกษตรกรที่เพาะปลูกริมแม่น้ำโขงในภาคอีสาน

พวกเรา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคม ที่ทำงานติดตามกรณีการพัฒนาแม่น้ำโขงมาตลอด พบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับเขื่อนที่อยู่บนลุ่มน้ำตอนบนให้แก่ประเทศท้ายน้ำ ทำให้พวกเราต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย ไม่รู้ว่าจะเกิดความเสียหายเมื่อไหร่ และจะป้องกันได้อย่างไร

 

เครือข่ายฯ จึงขอให้ท่านเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ปริมาณน้ำในเขื่อน ปริมาณการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้ง 5 ประเทศ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสของข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาระบบการสื่อสารเพื่อเตือนภัยและป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับเขื่อนอื่นๆ ที่กำลังก่อสร้าง หรือวางแผนก่อสร้าง ขอให้ท่านหยุดโครงการทั้งหมด และดำเนินการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างรอบด้าน โดยเป็นการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเขื่อนชุดทั้งหมดที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบด้านอุทกวิทยา ปริมาณการไหลของน้ำ ตะกอนแร่ธาตุ การอพยพของปลา เพื่อให้เกิดการพิจารณาโครงการเขื่อนบนฐานของการใช้แม่น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืนและสันติ พร้อมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับเขื่อนที่สร้างแล้ว

ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่แม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำนานาชาติซึ่งเปรียบดังดังชีพจรของภูมิภาค และประชาชนหลายล้านชีวิตที่พึ่งพาระบบนิเวศและทรัพยากรแม่น้ำโขงตลอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอย่างเร่งด่วน

 

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

ส่ง สถานเอกอัคราชฑูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย 57 ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร 10400

สำเนาส่ง         Hydrolancang  1 Century City Mid Road, Guandu District, Kunming, Yunnan, China 650214

 

 

On Key

Related Posts

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →

กองทัพ KNDF-KNPP ยึดพื้นที่รัฐคะเรนนีได้ 90% โดยเฉพาะหลายเมืองติดชายแดนไทย ส่วนทัพโกก้างเริ่มฟื้นฟูเมืองเล่าก์ก่ายหลังสงครามสงบชั่วคราว ขณะที่ทัพอาระกันรุกคืบพื้นที่-กลไกรัฐยะไข่ราชการหยุดทำงาน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 สำนักข่าว Myanmar Now แRead More →

ชาวบ้านสามพร้าวยื่นหนังสือ 4 หน่วยงาน เผยถูกรัฐขับไล่ออกจากที่ทำกินกว่า 500 ไร่ เตรียมสร้างวิทยาลัยแพทย์ เคยร้องเรียนตั้งแต่ปี 65 ไร้ความคืบหน้า หวังเร่งแก้ปัญหาเยียวยาผลกระทบ

วันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลากลางจังRead More →