สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

“ป่าแห่งความหลัง”ของปู่คออี้ อดีตพรานใหญ่แห่งต้นน้ำเพชร

ปู่คออี้ในวันทำบุญและตามหาบิลลี่ ที่ด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ปู่คออี้ในวันทำบุญและตามหาบิลลี่ ที่ด่านเขามะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ผมกลับมาอ่าน “ป่าแห่งความหลัง”ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ อีกครั้ง หลังจากที่อ่านครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

จำได้ว่าช่วงนั้นคลั่งอ่านหนังสือท่องไพรอยู่พักใหญ่ พออ่านเพชรพระอุมาจบก็เลยเสาะแสวงตัวอักษรที่เขียนเรื่องทำนองเดียวกันไปเรื่อยๆ

ป่าแห่งความหลังเป็นการเรียบเรียงบันทึกเรื่องราวการท่องไพรในป่าซึ่งในหนังสือเรียกว่า “ป่ากะเหรี่ยงต้นน้ำเพชร”ของอาณัติ บุญนาค ที่ติดตามคณะพรานจากเมืองกรุง อาทิ เจ้าเพชร์ราชฯ หมอบุญส่ง เจ้าคุณสุรพันธ์เสนี ตะลุยดงลึกโดยมีเหล่าพรานกะเหรี่ยงนำทาง ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดผ่านงานเขียนของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์

สมัยเมื่อ 70-80 ปีก่อนยังไม่มีเขื่อนแก่งกระจาน พื้นที่ป่าต้นน้ำเพชรยังกว้างขวางเกือบจรดตัวอำเภอท่ายาง การเดินทางเข้าป่าต้องอาศัยเกวียน(ไปถึงแค่บางช่วง)และการเดินเท้าเป็นหลัก นอกจากสัตว์ป่ามากมาย บันทึกยังได้เขียนถึงความชุกชุมของจระเข้ต้นน้ำเพชรด้วย

ในฐานะคนเมืองเพชร ทำให้ผมรู้สึกกระหายใคร่รู้จักฉากเก่าแก่ที่ถูกนำมาถ่ายทอด ที่สำคัญคือยังเชื่อมโยงสถานการณ์ปัจจุบันที่ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งถูกป้ายสีให้ตกเป็นผู้ร้ายทำลายป่าและสัตว์ป่า ทั้งๆที่เขาอยู่กับป่าต้นน้ำเพชรมานานและไม่เคยมีปัญหาใดๆจนกระทั่งพวกเขาถูกย้ายมาทนทรมานอยู่ด้านล่างพร้อมๆกับการหาเหตุผลมาประกอบของใคร “บางคน”

ไปบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสขึ้นบ้านปู่คออี้ หลังจากคุยกับผู้อาวุโสชาวกะเหรี่ยงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เอามาเป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง

เรื่องหนึ่งที่ผมบันทึกคำบอกเล่าของผู้อาวุโสเอาไว้คือเรื่องราวของป่าต้นน้ำเพชรในอดีต โดยมีน้องๆจากเครือข่ายกะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ซึ่งเดินทางมาร่วมงานที่บางกลอยในวันนั้นด้วย ช่วยแปลความให้

ผมทึกทักเอาเองว่า ปู่คออี้คือ “พรานใหญ่” ในอดีต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฟังเรื่องราวการดำรงชีพของปู่สมัยหนุ่มๆมาพอสมควร ที่สำคัญคือการมีชีวิตยาวนานร้อยกว่าปีของมนุษย์คนหนึ่งย่อม “ไม่ธรรมดา”

ฉากต่างๆในหนังสือป่าแห่งความหลัง ชวนให้อยากฟังผู้อาวุโสเล่าย้อนถึงบรรยากาศเมื่อครึ่งค่อนศตวรรษที่ผ่านมา

อาหารเย็นมื้อหนึ่งในกระท่อมน้อยบ้านบางกลอยล่าง
อาหารเย็นมื้อหนึ่งในกระท่อมน้อยบ้านบางกลอยล่าง

“ก็มีคนเมืองมาขอให้เราพาเข้าไปเที่ยวในป่าอยู่หลายครั้ง เขาอยากได้เก้ง กวาง บางคนก็อยากได้อุ้งตีนหมี แต่จำไม่ได้แล้วว่าใครบ้าง หากดูรูปคงพอจำได้”เวลาที่ล่วงเลยทำให้ความทรงจำของผู้เฒ่าหล่นหายไปบ้าง เมื่อผมถามถึง “เจ้านาย”ในเมืองที่ปู่เคยพาเที่ยวป่า

การเที่ยวป่าท่องไพรยิงสัตว์ในยุค 70-80 ปีก่อนเหมือนเป็นกิจกรรมสันทนาการของผู้มีอันจะกินในยุคหนึ่ง ซึ่งพอเข้าใจได้เพราะสมัยก่อนบ้านเราปกคลุมด้วยผืนป่าครึ่งค่อนประเทศ สัตว์ป่าก็มีมากมาย

“สมัยก่อนสัตว์เชื่องมาก เราใช้หน้าไม้เป็นอาวุธก็ยิงได้แล้ว ได้เนื้อก็มาแบ่งกันกินทั้งหมู่บ้าน” ปู่คออี้เล่าถึงวัยเยาว์ซึ่งอาวุธที่ชื่อว่าปืนยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน อาวุธสำคัญคือหน้าไม้ ต่อมาถึงเริ่มมีปืนแก็บ และเมื่อเกิดสงครามในฝั่งพม่า จึงทำให้ปืนเข้ามาแพร่หลายใน“ใจแผ่นดิน”

ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ต้นน้ำเพชรอยู่เยื้องมาทางเหนือในเขตสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มานานนม บ้านบางกลอยบนที่ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงถูกบังคับให้ย้ายลงมาก็เป็นส่วนหนึ่งของใจแผ่นดิน

“เวลาเข้าป่าสิ่งที่ต้องระวังมากคือเรื่องของคำพูด ไม่ใช่พูดไปเรื่อย หรือลบหลู่ป่าเขา เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกที่ เราต้องเชื่อฟังกันและกัน” ผู้อาวุโสอธิบายถึงกฎแห่งป่าและ คำว่า “สัจจะ” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อดีตพรานกะเหรี่ยงยึดถือมาทั้งชีวิต

 

บรรยากาศในใจแผ่นดินยามนี้ที่ค่อนข้างเงียบเหงา (ภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2557)
บรรยากาศในใจแผ่นดินยามนี้ที่ค่อนข้างเงียบเหงา (ภาพถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2557)

“ช่วงที่เราออกไปล่าสัตว์ ปล่อยให้ผู้หญิงและเด็กอยู่บ้าน หากมีอะไรไม่เหมาะสมในหมู่บ้าน เสือจะมาคำราม” กฎของชุมชนอีกข้อหนึ่งที่ปู่พูดถึง ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์พึ่งพิงกันระหว่างคนกับป่า “เคยเจอเสือหลายครั้ง แต่ไม่เคยยิงเสือเลย ช้างก็ไม่เคยยิง เพราะสมัยนั้น เราจะกลัวสัตว์ใหญ่ แต่ตอนหลังที่มีปืนแล้วเคยยิงแรดได้ 3 ตัว และเอานอไปขายที่ราชบุรี”

สมัยนั้นป่าที่ปู่เที่ยวอยู่ตั้งแต่ใจแผ่นดินมาจนถึงแก่งกระจานเป็นป่าทึบ นอกจากจระเข้ต้นน้ำเพชรมากมายแล้ว ยังมีสัตว์หายากอีกหลายชนิด ทั้งแรด เสือโคร่ง ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินใช้เป็นเส้นทางเดินท่องไป-มาอยู่เป็นประจำเพราะมีญาติพี่น้องกระจายอยู่ทั่วไปในป่าแก่งกระจาน เรียกได้ว่าย่านนี้คืออาณาจักรย่อยของชาวกะเหรี่ยง

“สมัยก่อนที่ใจแผ่นดินเคยมีคนอาศัยอยู่เยอะ ตอนหลังมีคนจากข้างนอกเข้ามา พวกเราบางส่วนเลยย้ายหนีไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เราก็ข้ามกันไปๆมาๆเพราะเป็นญาติพี่น้องกัน” คนที่อยู่ในป่าและสัตว์ป่าต่างไม่เคยรู้จักเส้นแบ่งแดน เพราะทั้งป่า เขา แม่น้ำและธรรมชาติต่างเชื่อมร้อยเป็นผืนเดียวกัน และชาวกะเหรี่ยงก็ยังคงดำเนินชีวิตไปตามวิถี

ชาวกะเหรี่ยงอยู่ในใจแผ่นดินมายาวนานเหมือนกับเมืองลับแลที่คนนอกไม่ค่อยได้เข้าไป รูปแบบของชีวิตเป็นไปอย่างดั้งเดิมเหมือนที่บรรพบุรุษสั่งสอนไว้ ขณะที่โลกภายนอกถูกหมุนด้วยความเจริญอย่างรวดเร็วและรุกคืบเข้าไปกำหนดกติกาในทุกที่ ท้ายที่สุดคนที่อยู่ในใจแผ่นดินกลายเป็นผู้ทำผิดกติกาของสังคมใหญ่

 

ผืนป่าต้นน้ำเพชรบริเวณใจแผ่นดิน
ผืนป่าต้นน้ำเพชรบริเวณใจแผ่นดิน

กว่า 3 ปีแล้วที่ปู่คออี้และลูกๆหลานๆถูกทางการไทยบีบบังคับให้อพยพย้ายจากบางกลอยบนในใจแผ่นดิน มาอยู่บางกลอยล่างบ้านโป่งลึก

วิธีการโหดร้ายถูกนำมาใช้อย่างได้ผลคือการเผาบ้าน เผายุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง พร้อมๆกับป้ายสีให้ชาวบ้านกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย”ที่เป็นตัวการตัดไม้ทำลายป่า

วันนี้ปู่คออี้และลูกหลานต้องอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่จำกัดที่อุทยานฯจัดไว้ให้ ผืนดินที่ได้รับการจัดสรรให้ชาวกะเหรี่ยงไม่สามารถปลูกข้าวปลูกพืชให้พออยู่พอกินได้ แม้ทางการและบางหน่วยงานพยายามจัดทำโครงการช่วยเหลือต่างๆเพื่อเยียวยาชาวบ้าน แต่ก็ยังห่างไกลวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านนัก

เป็นเรื่องน่าเศร้าและเจ็บปวดของชนชาติที่เคยทระนงและยิ่งใหญ่อยู่ในป่าดิบ จากผู้นำผู้รอบรู้ดงลึก กลับกลายเป็นเพียงผู้รอรับความช่วยเหลือ

“เราอยากกลับไปตายข้างบน อยู่ที่นี่นอนไม่เคยหลับสักคืน อยู่ไม่เคยมีความสุข”ผู้เฒ่าร้อยกว่าปีบอกถึงความหวังสุดท้ายของชีวิต แม้ทุกวันนี้แกไม่ได้เดินไปไหนไกล แต่วิถีอิสระในป่าใหญ่ก็ยังอยู่ในวิญญาณของแกอย่างเต็มตัว

“ ตั้งแต่เราถูกย้ายอยู่ที่นี่ ลูกหายไป 2 คน ลูกเขยหายไป 1 คนและหลานชายหายไปอีก 1 คน เราอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้” ผู้อาวุโสไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเจอทุกข์มหันต์ในยามชรา ลูกๆหลานๆที่แกบอกว่าหายไปนั้น หมายถึงบางคนป่วยเสียชีวิต บางคนถูกบังคับให้สูญหาย ผืนดินนี้จึงเป็นความเลวร้ายมากในความเชื่อของคนกะเหรี่ยง

22
นับวันความหวัง ความฝันสุดท้ายของผู้เฒ่าจะดูเลือนราง เพราะป่ากลายเป็นเขตหวงห้ามสำหรับคนที่เคยอยู่ป่าไปแล้ว แถมภารกิจในการตามหาหลานชาย “บิลลี่”ก็ยังไม่สิ้นสุด อย่างน้อยแกก็หวังจะได้กระดูกคืน

ผู้เฒ่าวัย 107 ปีรับรู้ถึงบรรยากาศของป่าอันเปลี่ยนแปลง แต่แกไม่เคยคิดว่า“ความเปลี่ยน”จะโหดร้ายถึงปานนี้ น้ำใจที่ชาวกะเหรี่ยงเคยมีให้คนเมือง วันนี้กลับแห้งแล้งยิ่ง

วันนี้แม้แต่แสงสุดท้ายในผืนป่า ก็ยากยิ่งที่อดีตพรานใหญ่แห่งป่าต้นน้ำเพชรจะได้เห็น

 

โดย ภาสกร จำลองราช

.

 

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →