สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

กสม.เรียกแจงแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ธนารักษ์ระบุผวจ.เป็นคนร้องขอ ชาวบ้านโวยจังหวัดรายงานข้อมูลเท็จ

received_950350665008219
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม). ได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน เพื่อรับฟังการชี้แจงข้อมูลจากประชาชนผู้ร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีข้อร้องเรียนว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และกรณีเรื่องร้องเรียนผลกระทบจากนโยบายเวนคืนที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในพื้นที่ตำบล ท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธานการประชุม โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจง อาทิ ตัวแทนกรมธนารักษ์ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตัวแทนสำนักโยธาธิการและผังเมือง และชาวบ้านจากจังหวัดตากรวมประมาณ 20 คน

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษไปในพื้นที่ 2 จังหวัดดังกล่าว มีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียนถึงความทุกข์ และข้อกังวลหลายด้าน ซึ่งบางกรณีสะท้อนว่ามีปัญหาการไม่เคารพสิทธิของชาวบ้าน ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าร่วม และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแบบตรงไปตรงมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้เกิดความคลุมเครือมากขึ้น ซึ่งในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประชาชนร้องเรียนอย่างต่อเนื่องกรณีการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้นทางอนุกรรมการสิทธิชุมชน ต้องใช้เวลาในการขอเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอคำชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ว่าข้อมูลที่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นจริงหรือไม่ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษย์ชนส่วนใดบ้าง

นางสาวพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ใน 6 พื้นที่ชายแดน โดยหลักการเลือกเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยแม้ปัจจุบันจะกำหนดให้หัวหน้า คสช.เป็นประธานคณะกรรมการ แต่ว่าในการเสนอพื้นที่เพื่อขอพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เป็นเจตจำนงของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งดำเนินการขอมาในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร โดยมุกดาหารและตาก ก็เป็น 2 พื้นที่ที่เสนอเข้ามาเอง จากนั้นก็มีรายงานสภาพพื้นที่โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นั้นมีการรายงานว่าเป็นสภาพป่าเสื่อมโทรม

นางสาวพจนีกล่าวว่า สภาพัฒน์ ฯ เป็นเพียงฝ่ายเลขาที่ทำหน้าที่สรุปข้อมูลตามคำสั่งส่วนกลางจะกำหนด โดยสภาพัฒน์เองไม่เคยวางเงื่อนไขอะไรเลยในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เชื่อว่ากระบวนการพิจารณาสภาพพื้นที่ในระดับจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเหมือนหัวเรือใหญ่ที่ทำความเข้าใจกับชุมชนมาโดยตลอด ส่วนการแสดงความคิดเห็นนั้น กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษทำได้ในระดับพื้นที่ไม่ใช่ส่วนกลาง ทั้งนี้หากเป็นการจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องดูแลทั้งถนน ไฟฟ้า สิ่งอุปโภคบริโภค รัฐจะอำนวยความสะดวกให้ แต่กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อาจมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตนั้น จะต้องผ่านกระบวนการทำแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็ไม่จำเป็นต้องทำ

“ตามเหตุผลที่ทางจังหวัดเสนอมานั้น อย่างกรณีตาก และมุกดาหาร ต่างระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางการค้าสูง เป็นจังหวัดชายแดนที่คนไทย และประเทศเพื่อนบ้านจับจ่ายใช้สอย เหมาะแก่การสร้างรายได้เข้าประเทศ อีกทั้งหากพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เชื่อว่าปัญหาชายแดน เช่น ยาเสพติด และการค้ามนุษย์จะน้อยลง แรงงานเถื่อนก็ลดลง เพราะความมั่นคงจะมีมากขึ้น ทหาร ตำรวจก็จะจัดดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจที่เปิดลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถลงทุนได้ทั้งด้านการเกษตร ประมง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะช่วยพัฒนาพื้นที่ได้ดี” นางสาวพจนี กล่าว

ด้านนายสุชาติ ชัยจิตร์ ธนารักษ์พื้นที่มุกดาหาร กล่าวว่า ตามประกาศคำสั่งของ คสช.นั้น จังหวัดมุกดาหาร เป็นพื้นที่ซึ่งจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 11 ตำบลใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอดอนตาล และอำเภอหว้านใหญ่ มีพื้นที่ทั้งหมด 578.5 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 360,000 กว่าไร่ ทั้งนี้เข้าใจว่าเป็นจังหวัดที่ถูกเลือกเพราะเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตในเรื่องการใช้จ่ายระหว่างประเทศมากมาย เพื่อใช้เป็นพื้นที่เขตพาณิชย์ และการท่องเที่ยว เพราะติดชายแดนลาว คือ เมืองสะหวันเขตซึ่งมีการใช้จ่ายข้ามประเทศจำนวนมหาศาล รัฐบาลจึงอยากให้มีการยกระดับ แต่พอนโยบายประกาศไปแล้ว ปรากฏว่าที่ดินราคาสูงขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องมองหาที่ดินของรัฐ และราชการ เช่น ที่ดินของสำนักงานปฏิรูปการเกษตร(สปก.) และเขตป่าที่ส่อแววเสื่อมโทรม หรือเป็นที่ดินที่ราชการใช้ประโยชน์น้อยมาเพิกถอนให้เป็นที่ดินราชพัสดุ เข้าใจว่าประเด็นนี้ชาวบ้านกังวลเพราะเข้าใจผิดว่า ที่ดินในชุมชนจะถูกยึดคืนหมด แล้วได้ค่าเวนคืนน้อย แต่จากการสำรวจพบว่า ที่ดิน สปก.ของรัฐบาลในการดำเนินเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรกนั้นมีแค่ 5 ครอบครัวเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ จึงไม่น่าจะกระทบ ส่วนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ก็เจรจาซื้อขายกันต่อไป เนื่องจากหากราคาแพง นักลงทุนอาจไม่มาลงทุน

“สำหรับสัญญาเช่านั้น รัฐจะกำหนดให้มีสัญญาเช่า50 ปี แล้วให้ต่ออีกไม่ต่ำกว่า50 ปี ซึ่งที่ดิน สปก.ในพื้นที่มุกดาหารตอนนี้ มีพื้นที่1,085ไร่ อยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาค่าชดเชยแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ สิ่งหนึ่งที่อยากให้เข้าใจคือ กรณีการจัดจังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เจตนาคือส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการลงทุน แต่ถ้าราคาที่ดินแพงมากเกินไป จะลำบากมาก จังหวัดจึงต้องหาที่ดินของรัฐมาช่วยเพื่อการลดราคาลงทุน อย่างน้อยต้อง 500 ไร่ขึ้นไป ซึ่งเราสำรวจที่ดินพบว่า มีที่ของส่วนราชการ สาธารณะประโยชน์ ที่ดินป่าไม้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และที่ดิน สปก. ทดลองปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ แล้วไม่คุ้มทุนจึงต้องพัฒนาต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน กล่าวว่า รายละเอียดที่ดินของจังหวัดมุกดาหารและแม่สอดนั้น ทางสภาพัฒน์ควรมีการส่งตัวเลขและแสดงเอกสารเกณฑ์การจัดสรรที่ดินสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ชัดเจนกว่านี้ และในฐานะเลขา ควรร่วมกับจังหวัดนั้นๆ เพื่อหาแนวทางเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจนด้วย ส่วนการเพิกถอนที่ดินรัฐมาเป็นราชพัสดุนั้น ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมธนารักษ์ ควรที่จะมีการหารือท้องถิ่นด้วย เพราะที่ดินของรัฐในแต่ละที่มีข้อแตกต่าง บางพื้นที่ปลูกเกษตรแบบพึ่งพากัน คือ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนได้ กรณีนี้ไม่น่าจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษใดๆ หรือบางพื้นอย่างแม่สอด แม้จะสร้างในพื้นที่อื่นแต่ปิดล้อมทางเข้าออกหมู่บ้าน หากวันหนึ่งมีอุตสาหกรรมหนักเข้ามา ชาวบ้านก็จะเดือดร้อน ส่วนนี้หาคนรับผิดชอบยังไม่ได้ ต้องชี้แจงให้ชัดเจนกว่านี้ ทั้งเงื่อนไขการเลือกจังหวัด และเงื่อนไขการรับผิดชอบหากมีผลต่อชุมชน

ขณะที่นายสำรวม พันธุ์พุ่ม ตัวแทนตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากกล่าวว่า กรณีอำเภอแม่สอดนั้น ข้อมูลจากทางจังหวัดเป็นเท็จ เพราะป่าแม่สอดไม่ได้เสื่อมโทรมและเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่ทำกินแบบพึ่งพาธรรมชาติไม่มีปัญหาแล้ง หรือท่วม และแม่สอดไม่ได้เหมาะแก่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและชาวบ้าน มีอาชีพยั่งยืน สภาพัฒน์และรัฐบาลไม่ควรเชื่อข้อมูลจังหวัดทั้งหมด แต่ควรจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อตัดสินใจสร้าง ส่วนตัวยืนยันว่าไม่อยากได้พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใดๆ เพราะอาศัยอยู่ที่แม่สอดมานานกว่า40ปี คุณภาพชีวิตดีอยู่แล้ว

นายสำรวม กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาร้องเรียนนากยกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล จึงต้องร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิ์ฯให้ตรวจสอบ ซึ่งได้ลงพื้นที่มาแล้วทั้งนี้กรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ที่ดินตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเป็นราชพัสดุ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 ข้อ(1) ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมนั้น เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเอาที่อยู่อาศัยที่ทำกินไปเป็นราชพัสดุ อ้างว่าที่ตรงนี้เป็นเขตป่ามาก่อนแล้วประกาศเป็นราชพัสดุ ที่ตรงนี้ชาวบ้านอยู่ตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นร้อย ๆ ปี อย่างไรก็ตามขณะนี้มีชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 135 หลังคาเรือน และยืนยันว่าไม่ต้องการเงินค่าเวนคืนโดยมีข้อเสนอแนะหลักๆ ขอให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรับรู้ข้อมูลและตัดสินใจกันการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากและต้องมีการคุ้มครองพื้นที่ตำบลท่าสายลวดทั้งชีวิตความเป็นอยู่ จิตใจ และการปฎิบัติการณ์ของหน่วยงานต่างๆจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะสิ้นสุด ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดตนและชาวบ้านแม่สอดเคยยื่นต่อนายกฯ แล้วแต่ยังไม่ทราบผลว่าเป็นอย่างไร

/////////////////////////

On Key

Related Posts

ชี้บทเรียนส่งกลับเด็ก 126 คนกลับพม่าทำลายภาพลักษณ์ไทย “ศ.สมพงษ์” แนะทำระเบียงมนุษยธรรมคุ้มครองเด็ก “ครูน้ำ” เผยส่งเด็กเร่ร่อนไปอยู่พื้นที่ชั้นในหวั่นเอเย่นต์ค้ามนุษย์ อธิบดี ดย.เผยชะลอส่งเด็กกลับ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ความคืบหน้ากรณีเด็กนักเRead More →

KNU ปรับแถลงการณ์ช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังกองทัพบกไทยร้อนใจถูกพาดพิง-หวั่นผลกระทบ “ศ.สุรชาติ” ระบุนานาชาติแปลกใจไทยใช้บริการ BGF ที่ใกล้ชิด SAC มาก่อน แนะวางกรอบคิดยุทธศาสตร์ปัญหาสงครามเมียนมา

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงควาRead More →

KNU แสดงจุดยืน 6 ข้อหลังความช่วยเหลือมนุษยธรรมส่งถึงมือชาวบ้านกะเหรี่ยง ไม่เชื่อใจกาชาดพม่าระบุเป็นเครื่องมือ SAC “สีหศักดิ์”ตีฆ้องประกาศผลสำเร็จ-เชิญนานาชาติกว่า 50 ประเทศร่วมรับฟัง เตรียมเดินช่วยเหลือหน้าครั้งต่อไป

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งRead More →

รมว.พม.ประกาศไม่ส่ง 19 เด็กไร้สัญชาติกลับพม่า ข้องใจต้นตอข่าว พระอาจารย์วัดสว่างอารมณ์แจงไม่มีการนำไปเดินเรี่ยไร ผอ.ศูนย์การเรียนไร่ส้มจับตาเป็นภาค 2 ของการส่งเด็กกลับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราRead More →