Search

ทหารตามประกบคณะสื่อลงพื้นที่เชียงคานติดตามข้อเท็จจริงกรณีผันน้ำโขง ชาวบ้านไทยพวนหวั่นผลกระทบ ปลาน้ำโขงสูญพันธุ์ ขณะที่กรมชลฯ แจงอยู่ในขั้นตอนศึกษา-ยังไม่ได้แจ้งประเทศแม่น้ำโขง

received_1096717863704831
ระหว่างวันที่วันที่ 21-23 เมษายน 2559 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมนำคณะสื่อมวลชนจากไทยและเวียดนาม ลงพื้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพื่อติดตามข้อมูลและข้อเท็จจริงจากโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง ทั้งนี้บรรยากาศการลงพื้นที่วันแรกที่บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชุมชนของชาวบ้านชาติพันธุ์ไทยพวนที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของจงหวัดเลย ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก(เขื่อนน้ำเลย) ของกรมชลประทาน ได้มีทหารคอยติดตามและถ่ายรูปชาวบ้านและคณะสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่

received_1096717860371498

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มเกษตรกรและประมงพื้นบ้านเชียงคาน กล่าวว่า โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องเปิดปากแม่น้ำเลยกว้าง 250 เมตร ยาว 2.5 กิโลเมตร และต้องขุดคลองชักน้ำยาว 28 กิโลเมตร ก่อนจะเจาะอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่ 10 เมตร จำนวน 24 ท่อ ลอดผ่านภูเขา เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงจากปากแม่น้ำเลยไปให้ลุ่มน้ำและเขื่อนในภาคอีสาน แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านมากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดินและได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง จึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาและเปิดเวทีให้ชาวบ้านในพื้นที่แสดงความคิดเห็น รวมทั้งเปิดให้มีการเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือฝายชะลอน้ำในลำน้ำสาขาให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบน้อยกว่าการการเปิดปากแม่น้ำและระบบผันน้ำโขงที่เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่

received_1096717877038163
นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก (เขื่อนน้ำเลย) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ที่ชาวจังหวัดเลยแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของนิเวศแม่น้ำเลย เพราะบริเวณปากแม่น้ำและในลำน้ำเลยเป็นจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลา และเป็นแหล่งหาปลาสำคัญของชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งในฤดูวางไข่ปลาแม่น้ำโขงหลายชนิดจะต้องเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำเลย ซึ่งหากมีประตูระบายน้ำปิดกั้น จะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงจนอาจส่งผลต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง

นางสรรัตน์ แก้วสา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กล่าวว่า ชาวบ้านคัดค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบ้านกลาง เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บนพื้ที่ลักษณะแอ่งกระทะมีเนินเขาล้อมรอบ เกรงว่าการปิดกั้นแม่น้ำเลยจะทำให้น้ำท่วมชุมชน และยังจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านไทยพวนที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียงในจังหวัดเลยกว่า 350 หลังคาเรือน และพื้นที่ทำกินกว่า 1,000 ไร่ รวมถึงพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านที่อาศัยหาปลา หาหอยในแม่น้ำเลย ที่เป็นรายได้ 200-300 บาทต่อวัน ซึ่งหากชุมชนบ้านกลางต้องย้ายชุมชนจริง ชาวบ้านคงทำใจไม่ได้ ที่จะต้องแยกย้ายจากชุมชนที่สัมพันธ์กันเป็นญาติพี่น้อง และต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพื้นที่อื่น
“ตอนนี้มีการให้ข่าวกับชุมชนต่างๆ ว่าจะได้รับค่าชดเชยการเวนคืนที่ดินไร่ละหนึ่งล้านบาท และจะได้ใช้น้ำอย่างเต็มที่ ทำให้หลายชุมชนไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา จนผู้ใหญ่บ้านบางคนมาพูดกับเราให้ยินยอม แต่เราก็พยายามบอกว่า ค่าชดเชยไร่ละล้านเป็นไปไม่ได้ เพราะที่ส่วนใหญ่เป็นที่ สปก. ไม่น่าจะได้รับค่าชดเชย และชาวบ้านอาจจะต้องเสียค่าสูบน้ำชั่วโมงละ 280 บาท” ผู้ใหญ่บ้านกลาง กล่าว

ขณะที่ในวันที่สอง ช่วงเช้าคณะสื่อมวลชนได้พบกับตัวแทนของกรมชลประทาน ที่ศาลาการเปรียญ วัดโพนชัย โดยมีการนำเสนอข้อมูลโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และช่วงเย็นล่องเรือสำรวจผลกระทบนิเวศปากน้ำแม่เลย ดร.ฉวี วงศ์ประสิทธิพร ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่า แม้พื้นที่ภาคอีสานมีศักยภาพในการพัฒนาแต่ยังขาดทรัพยากรน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบชลประทานด้วยการผันน้ำโขง เนื่องจากหากมองทางเลือกอื่นๆ เช่น การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ จะเห็นว่าไม่เหมาะกับพื้นที่อีสานที่เป็นพื้นที่ราบสูง ซึ่งความคืบหน้าโครงการขณะนี้กำลังอยู่ในนั้นตอนการศึกษาโครงการ ที่จะต้องมีระยะเวลาอีกหลายขั้นตอนกว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง จึงทำให้ขณะนี้ยังไม่มีการนำโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) 4 ประเทศ

ดร.ฉวี กล่าวต่อว่า ได้มีการนำข้อมูลปริมาณน้ำที่มีระดับสูงสุดในปี 2554 ของแม่น้ำโขงและแม่น้ำเลย มาใช้ศึกษาโครงการและวางระบบจัดการน้ำ จึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งมีการคำนึกถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ที่จะไม่ปิดกั้นปากแม่น้ำเลย โดยออกแบบประตูน้ำศรีสองรักให้มีช่องทางเดินเรือของชาวบ้าน และอุโมงค์ผ่านของตะกอนทราย รวมทั้งจะปิดประตูน้ำเฉพาะกรณีที่มีน้ำหนุนจากแม่น้ำโขงเท่านั้น หรือหากน้ำหลากจากแม่น้ำเลย เราจะเปิดประตูน้ำทุกบานเพื่อระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วม

“ด้วยระดับความสูงของปากแม่น้ำเลยที่อยู่สูงกว่าแม่น้ำโขง ทำให้ต้องมีการเปิดปากแม่น้ำ และทำประตูระบายน้ำ เพื่อสามารถกักเก็บน้ำในหน้าแล้งและระบายน้ำหลาก หากน้ำเอ่อจากแม่น้ำโขงเราจะปิดประตูน้ำ หรือหากน้ำหลากก็จะเปิดให้น้ำได้ระบายออก โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะถูกส่งผ่านท่อและทางน้ำไปให้พื้นที่ฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเลย เฉพาะประตูประโยชน์จากประตูระบายน้ำศรีสองรัก จะทำให้พื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์ถึง 7 หมื่นไร่” ดร.ฉวี กล่าว

ด้านนายวชิรา นันทพรม ชาวประมงพื้นบ้านเชียงคาน กล่าวว่า ปัจจุบันชาวประมงกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ระดับน้ำขึ้นลงได้เช่นในอดีต และทำให้ปลาหลายชนิดสูญพันธ์ไปจากแม่น้ำโขงบริเวณอำเภอเชียงคาน เพราะ 5-6 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ทำให้พันธุ์ปลาถิ่นที่พบริเวณนี้หายไปแล้ว 6 ชนิด ปลาเทโพ ปลาซวย ปลาบึก เป็นต้น “ปลาบึกตัวสุดท้ายถูกจับได้ในปี 2532 จากนั้นก็ไม่มีใครจับได้อีกเลย ยิ่งมีเขื่อนในแม่น้ำโขงทำให้ชาวประมงไม่สามารถคาดการณ์ระดับน้ำได้ จากที่เคยหาปลาได้วันละ 10 กิโลกรัม ตอนนี้จับได้เพียง 5-6 กิโลกรัม หากในอนาคตมีการสร้างประตูกั้นปากแม่น้ำเลยและผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำโขงก็เกรงว่าจะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงที่เชียงคาน เพราะปลาต้องอาศยลำน้ำสาขาในการขยายพันธุ์” ชาวประมงเชียงคาน กล่าว

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →