ชาวบ้านต่างรู้สึกเครียดและถูกกดดันทันทีที่ได้ยินข่าวว่าเอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงเวียงจันทน์ แจ้งมายังผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้ปลดป้ายรณรงค์หยุดเขื่อนไซยะบุรีออกจากเรือที่ลอยอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเขตอ. ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ตรงข้ามกับที่พักและสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก่อนพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555
ตั้งแต่เช้า ชาวบ้านในนามของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดอีสาน กว่า 350 คน ซึ่งมีทั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(สจ.) กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้นัดรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี แต่ยังไม่ทันถึงเวลานัดหมาย 10.30 น. พวกเขาก็เริ่มผิดสักเกตุ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนับสิบนายพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐต่างเข้ามาอยู่ในงานซึ่งจัดขึ้นบริเวณวัดชุมพลพานพ้าว อ.ศรีเชียงใหม่
ขณะที่เรือเร็วของทางการลาวจำนวน 3 ลำ ก็แล่นตรวจการอยู่กลางลำน้ำ และยังมีเฮลิคอปเตอร์ บินวนเหนือลำน้ำโขง ในที่สุดก็มาถึงบางอ้อ เมื่อแกนนำชาวบ้านบางส่วนได้รับแจ้งข่าวจากทางจังหวัดว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นที่กังวลใจของรัฐบาลลาวเป็นอย่างมากจึงได้ประสานงานกันเป็นทอดๆส่งมายังผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ในที่สุดชาวบ้านจึงต้องร่นเวลาการจัดกิจกรรมให้เร็วขึ้น พิธีบายศรีพญานาค 3 เศียรที่ประดิดประดอยมาจากใบตองเริ่มเริ่มต้นขึ้น โดยพญานาคจำลองถูกยกขึ้นบนโต๊ะบูชา ทุกคนนั่งลงกับพื้นและเริ่มสักการะแม่น้ำโขง และบูชาพญานาค จากนั้นจึงร่วมกันอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ถึงผู้นำอาเซม
นายเสถียร มีบุญ สจ.หนองคาย เป็นผู้นำอ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่าเครือข่ายเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนล่างที่กำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในสปป.ลาว โดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งที่มีการคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ตลอดจนประชาชนในภูมิภาค
“เขื่อนไซยะบุรี เป็น 1 ใน 12 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะกั้นแม่น้ำโขงทางตอนล่าง ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง พันธุ์ปลา การประมง การเกษตร การคมนาคม และปากท้อง วิถีชีวิตของประชาชนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
“สำหรับประเทศทั้งในเอเชีย และยุโรป ที่เป็นผู้บริจาคแก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หลายปีที่ผ่านมา เราพบว่ากลไกของ MRC ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 แต่ก็แทบไม่มีความหมาย เพราะการตัดสินใจไม่ได้อยู่บนฐานของ ข้อเท็จจริง ความรู้ และการมีส่วนร่วม แต่กลับเป็นเรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้า
“ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบ ไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านที่เพียงพอที่จะใช้ประเมินความเสียหาย โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนท้ายน้ำ-เหนือน้ำ ในประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่ประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงกัมพูชา และเวียดนาม
“จวบจนขณะนี้ ชาวบ้านริมน้ำโขงซึ่งจะต้องเป็นผู้เดือดร้อน ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาถามเราว่า ชุมชมริมแม่น้ำโขงพึ่งพาแม่น้ำโขงมากเพียงใด ใครกันที่จะรับรองได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน แม่น้ำโขงมีค่ามากเกินกว่าจะเป็นเพียงแหล่งผลิตพลังงาน หรือเพื่อสร้างความร่ำรวยแก่บุคคลกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ประชาชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ต้องการการวางแผนพลังงานที่รอบด้าน ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมตลอดสายน้ำ “ นายเสถียร กล่าว
หลังจากนั้นขบวนเรือหาปลากว่า 50 ลำ ติดป้ายรณรงค์ ก็ออกแล่นวนตลอดความยาวของลำน้ำ โดยมีเรือตรวจการจากฝั่งลาวตามประกบบริเวณเส้นพรมแดนบนลำน้ำโขงอย่างใกล้ชิด แต่กลับไม่มีเรือตรวจการของไทยแม้แต่ลำเดียว ข่าวจากฝั่งเวียงจันทน์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจลาวห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าใกล้แม่น้ำโขงในบริเวณดังกล่าวเพื่อดูการประท้วงจากฝั่งลาว
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการชุมนุมของชาวบ้าน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ก็นำเสนอข่าวนายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเมืองแร่ สปป.ลาว ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี มูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์และเริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 พร้อมทั้งยังอ้างว่ากัมพูชาที่เคยทักท้วงโครงการนี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว
หลังจากคำสัมภาษณ์ของนายวีระพนถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ตลอดช่วงของการประชุมอาเซมมีการนำเสนอข่าวกรณีเขื่อนไซยะบุรีในสื่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ เอพี เอเอฟพี นิวยอร์คไทมส์ และรอยเตอร์ เช่นเดียวกับสื่อมวลชนในภูมิภาคเองก็มีการรายงานเรื่องนี้กันอย่างคึกคัก ทั้งสื่อมวลชนไทย พนมเปญโพสต์ของกัมพูชา และสำนักข่าวเทียนเหนียน ของเวียดนาม แต่กลับไม่ปรากฎข่าวนี้ให้เห็นในสื่อของลาวแต่อย่างใด
สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักต่างเกาะติดข่าวประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง จนมีคำพูดติดตลกว่า ประเด็นไซยะบุรีร้อนฉ่ากว่าประเด็นในที่ประชุมอาเซมเสียอีก
ขณะที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานคำสัมภาษณ์ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ที่ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไทยจะไม่คัดค้านเขื่อนไซยะบุรี และพอใจกับความพยายามของรัฐบาลลาวในการบรรเทาผลกระทบ “รัฐบาลลาวทำการศึกษาแล้วหลายชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อการประมง” นายสุรพงษ์ ระบุ
ที่น่าสนใจคือท่าทีของทางการสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์อันมีเนื้อหาวิพากษ์การตัดสินใจของลาวที่เดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยระบุว่าการเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหลายสิบล้านคน และก่อให้เกิดการแข่งกันสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นในภูมิภาค สหรัฐฯเรียกร้องให้ลาวระงับโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเอาไว้ก่อน จนกว่าการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสร็จสิ้น
การเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีกำลังรุดหน้าไปเป็นอย่างมาก เพราะทางการลาวไม่มีทีท่าว่าจะถอยเหมือนที่เคยตกลงไว้ในที่ประชุมMRC ที่ให้ศึกษาผลกระทบก่อน แถมเบื้องลึกยังสนับสนุนให้บริษัทช.การช่าง ดำเนินการอย่างเต็มที่ ขณะที่ทั้งกัมพูชาและเวียดนามที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้เต็มๆก็ยังไม่มีปฏิกิริยาครั้งใหม่อย่างเป็นทางการออกมา
จับตาดูกันให้ดี เขื่อนไซยะบุรีอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวยุคใหม่แห่งการพัฒนาในประชาคมอาเซียน
—————————————————-
โดย โลมาอิรวดี
ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ 9 พย. 55