เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (Shan Human Rights Foundation) ได้เผยแพร่รายงานถึงการสู้รบของกองทัพรัฐบาลพม่ากับกองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เมืองเป็ง ในรัฐฉาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไร้เสถียรภาพในภาคตะวันออกของรัฐฉาน แม้จะมีกระบวนการเพื่อสันติภาพ
ในรายงานระบุว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นล่าสุดระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่ากับกองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/Shan State Army – RCSS/SSA) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2560 ใกล้กับเมืองปูโหลง เขตอำเภอเมืองเป็ง ภาคตะวันออกของรัฐฉาน เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะกันครั้งล่าสุดระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่ายในพื้นที่นี้ในช่วงครึ่งแรกของปี แม้ว่ากองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน จะลงนามในความตกลงหยุดยิงระดับชาติ (National Ceasefire Agreement) และที่ผ่านมาได้เข้าร่วมกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ทหารของกองทัพรัฐบาลพม่าก็ยังคงยั่วยุให้เกิดการปะทะกันกับกองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน และในระหว่างการลาดตระเวนผ่านเมืองเป็ง ทหารพม่าได้จับกุมและทรมานพลเรือนตามอำเภอใจ โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดต่อกับกองทัพรัฐฉาน
ในรายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการปล้นสะดมชาวบ้านที่เมืองเป็ง โดยกองทัพรัฐบาลพม่าจากกองพันทหารราบเบา (LIB) 277 และ 527 และกลุ่มทหารบ้านที่สนับสนุนรัฐบาล โดยเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2560 โดยในเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่บ้านกาดแล่ง ประมาณ 10 กิโลเมตรจากแม่น้ำสาละวินเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 ชาวบ้านหกคนถูกนำตัวไปสอบปากคำ ถูกซ้อม และถูกบังคับให้ “ขุดหลุมฝังศพ” เพื่อฝังตัวเองจนถึงระดับหน้าอกเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง ชาวบ้านอีกสองคนรวมทั้งตัวผู้ใหญ่บ้านถูกเชือกผูกไว้และถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสามวัน
ด้านทิศตะวันตกของเมืองเป็ง ส่วนที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน และตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเขื่อนในแม่น้ำสาละวินตามแผนการก่อกสร้างของรัฐบาลพม่าและนักลงทุนจากไทยและจีน จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพลังงานของไทยได้ประกาศว่าจะเดินหน้าโครงการเขื่อนเมืองโต๋น แทนที่จะสร้างเขื่อนฮัตจี (ในแม่น้ำสาละวินส่วนที่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง) เนื่องจากยังคงมีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับ “ชนกลุ่มน้อย” ในเขตของชาวกะเหรี่ยง (ประชาชาติธุรกิจ 18 มิถุนายน 2560) จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่า ในรัฐฉานไม่มีการสู้รบอีกต่อไปแล้ว แต่จากข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า การสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยทหารของรัฐบาลยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ติดกับโครงการเขื่อนเมืองโต๋นและบริเวณที่จะมีน้ำท่วม ที่ผ่านมายังมีการทบทวนแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยงโดยรัฐบาลไทยเนื่องจากยังมีการทำสงครามกันอยู่ จึงเห็นว่ารัฐบาลไทยควรตัดสินใจเช่นเดียวกับกรณีเขื่อนในรัฐฉาน
ในรายงานระบุถึงรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งมีชายสองคนถูกควบคุมตัวโดยพลการ โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้ถูกซ้อมโดยกองทัพรัฐบาลพม่า โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ได้เกิดการสู้รบระหว่างทหารของกองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานกับกองทัพรัฐบาลพม่า ใกล้กับบ้านนาเดื่อ และบ้านปางไฮ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างตำบลเมืองมางกับเมืองปูอ่อน ในเขตอำเภอเมืองเป็ง ภายหลังการสู้รบในวันเดียวกัน ทหารรัฐบาลพม่า 30 นายจากกองพันที่ 277 ที่เมืองโต๋น ได้ลาดตระเวนไปพบกับชาวบ้านสองคนจากบ้านบ้านแปก ตำบลเมืองปูอ่อน ซึ่งทั้งสองคนกำลังขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านจากการซื้อม้าที่เมืองมาง ทหารพม่าได้เรียกให้พวกเขาหยุด ได้จับกุมและควบคุมตัวพวกเขาไว้ที่ฐานทัพที่บ้านกองกาด ตำบลเมืองมาง ซึ่งผู้เป็นเหยื่อทั้งสองคนได้แก่ 1. จายซุ อายุ 39 ปี บุตรชายของลุงกอน และ ป้ากึด 2. จายวันนะ อายุ 30 ปี บุตรชายของลุงหม่านมะ และป้าหม่านอ่อง เขาถูกทหารพม่าซ้อมด้วยพานท้ายปืนจนกระทั่งศีรษะแตกเลือดไหล และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ่อแม่และญาติของจายวันนะ ได้เดินทางไปยังฐานทัพรัฐบาลพม่าที่เมืองมาง แม่ของจายวันนะถึงกับเป็นลม เมื่อเห็นอาการบาดเจ็บของเขา กองทัพรัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวจายวันนะในวันเดียวกัน หลังจากนั้นอีกสองวันก็มีการปล่อยตัวจายซุ โดยเหยื่อทั้งสองคนได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก และไม่กล้าพบปะหรือพูดคุยให้บุคคลใดฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ในรายงานยังได้ระบุถึงการปล้นสะดมเงินและทรัพย์สินของชาวบ้านโดยกองทัพรัฐบาลพม่า โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2560 ทหาร 40 นายจากกองพันทหารราบเบา 527 ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสาดและอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยยุทธการทหาร (Military Operation Command – MOC) ที่ 14 ที่เมืองสาด และทหารซึ่งเป็นกลุ่มทหารบ้านชาวลาหู่ที่มาจากเมืองมาง ได้เดินทางโดยรถยนต์สามคันไปที่บ้านคามป้าก ตำบลเมืองปูอ่อน เขตเมืองเป็ง โดยเดินทางมาจากเมืองมาง และในวันที่ 20 มีนาคม 2560 ทหารจากกลุ่มดังกล่าวได้ลาดตระเวนรอบหมู่บ้านคามป้าก และได้ปล้นสะดมทรัพย์สินของชาวบ้านหลายคนในบ้านเรือนของพวกเขา เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องสูญเสียทรัพย์สิน 1. ลุงอินทร์แสง อายุ 39 ปี และป้ายอน อายุ 39 ปี ต้องเสียโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง และมีดหนึ่งเล่มซึ่งมีมูลค่า 7,500 จ๊าด และ 300,000 จ๊าด
2. ลุงมหา อายุ 47 ปีและป้าอ่อง อายุ 52 ปี ต้องเสียข้าวไปห้ากระสอบคิดเป็นเงิน 60,000 จ๊าด แผงโซลาเซลล์หนึ่งแผงคิดเป็นเงิน 50,000 จ๊าด แบตเตอรี่หนึ่งลูกคิดเป็นเงิน 28,000 จ๊าด มีดหนึ่งเล่มคิดเป็นเงิน 15,000 จ๊าด และแม่ไก่หนึ่งตัวคิดเป็นเงิน 7,000 จ๊าด
ในรายงานระบุว่าชาวบ้านปะหล่อง 6 คนถูกซ้อม ถูกฝังใน “หลุม” ไว้ครึ่งตัว ผู้ใหญ่บ้านและชาวคนหนึ่งถูกมัดตัวและควบคุมตัวไว้ เนื่องจากต้องสงสัยว่าให้ความสนับสนุนทหารรัฐฉาน โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 ทหารประมาณ 20 นายจากกองพันทหารราบเบา 247 ได้ซ้อมทรมานชาวบ้าน 6 คน และควบคุมตัวไว้อีก 2 คน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านจากบ้านปะหล่อง บริเวณกาดแล่ง ตำบลแสนมอง เขตเมืองเป็ง และในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว ทหารจากกองทัพรัฐบาลพม่าเดินทางไปถึงบ้านกาดแล่ง และได้เรียกตัวชาวบ้านแต่ละครอบครัวให้ออกมารวมตัวกันที่วัดกาดแล่ง (หมู่บ้านแห่งนี้มีชาวบ้านอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน)
ในขณะที่ทหารเรียกให้ชาวบ้านมารวมตัวที่วัด ทหารได้สอบปากคำพวกเขาทีละคนเกี่ยวกับทหารไทใหญ่ชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจภาษาพม่า และไม่สามารถตอบคำถามได้ดีนัก เป็นเหตุให้ชาวบ้านหกคนถูกซ้อม และแต่ละคนถูกบังคับให้ขุดหลุมยาว 1.5 เมตรและลึก 1 ฟุต ขนาดเท่าหลุมศพ โดยขุดบริเวณไร่ข้าวโพดด้านหลังวัด จากนั้นชาวบ้านถูกบังคับให้นอนในหลุมและเอาดินกลบตัวเองเอาไว้จนถึงหน้าอกเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นทหารสั่งให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจากในหลุม และได้รับแจ้งว่า “พวกคุณอยู่ในบัญชีสั่งตาย”
ในรายงานระบุว่าชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งถูกฝังดิน (“ป่อปะราย” อายุ 30 ปี) ถูกทุบตีโดยทหารพม่าประมาณ 5-6 คน ระหว่างที่ถูกสอบปากคำ โดยถูกทุบตีที่หน้าผาก ตาซ้าย และจมูก ทำให้ตาบวมช้ำและทำให้จมูกมีเลือดออก ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ป่อปะราย ไม่กล้าพักอาศัยในหมู่บ้านอีกต่อไป และได้ออกไปอยู่กับแม่ที่บ้านน้ำจ้างกาดเหล่อ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอำเภอเมืองนายกับอำเภอน้ำจ๋าง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหนึ่งวัน เขาไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำได้เลยตลอดหนึ่งสัปดาห์ ร่างกายของเขาสั่นเทาอยู่ตลอด แม่ของเขาจึงได้จัดพิธีเรียกขวัญให้กับเขา (ตามความเชื่อในท้องถิ่น) จนทำให้เขาหายดี ในขณะที่กองทัพรัฐบาลพม่าไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด
ในระหว่างที่ป่อปะราย ถูกสอบปากคำในวัด ทหารพม่าได้เอารูปชาวบ้านอีกคนหนึ่งในหมู่บ้านมาให้ดู เขาคือจายเจนสาม ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทหารถามป่อปะราย ว่าคน ๆ นี้เป็นทหารไทใหญ่ ใช่หรือไม่ เนื่องจากเขาไม่สามารถเข้าใจภาษาพม่าได้ทั้งหมด เขาจึงตอบว่าใช่ ทำให้ทหารไปจับตัวจายเจนสาม มาโดยสงสัยว่ามีการติดต่อกับทหารไทใหญ่
พวกเขาได้จับกุมจายเจนสาม พร้อมกับลุงสามส่วยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีการมัดมือของพวกเขาไว้ด้านหลัง และถูกนำตัวไปไว้ด้านหลังวัดเป็นเวลาสามวัน พวกเขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อชาวบ้านคนหนึ่งได้โทรศัพท์ไปหาญาติของลุงสามส่วยที่อำเภอน้ำจ๋าง ซึ่งญาติคนนี้รู้ภาษาพม่า ทำให้เขาสามารถอธิบายกับทหารว่าชายสองคนนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองกำลังสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในรายงานของมูลนิธิฯได้ให้รายละเอียดของชาย 2 คนซึ่งถูกควบคุมตัวมีดังนี้ 1. ลุงสามส่วย ผู้ใหญ่บ้าน อายุ 40 ปี เป็นบุตรชายของพ่อมิ่ง และ แม่มิ่ง ที่บ้านวันกาดแล่ง เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เรียกให้ทหารรัฐฉานเข้ามาในหมู่บ้านและสร้างฐานทัพด้านนอกของหมู่บ้าน 2. จายเจนสาม อายุ 30 ปี บุตรชายของลุงเจนสาน และ ป้าเจนสาน ที่บ้านกาดแล่ง เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับทหารรัฐฉาน