เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 สำนักข่าวเวียงจันทร์ไทม์ รายงานว่า สถานเอกอักคราชทูตมาเลเซีย ประจำเวียงจันทร์ได้ออกแถลงการณ์ถึงความคืบหน้าของการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เมืองโขง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ซึ่งนาย Mohd Aini Atan เอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำกรุงเวียงจันทร์ สปป.ลาว และเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ลงพื้นที่เขื่อนดอนสะโฮงเพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ตามคำเชิญของบริษัทดอนสะโฮงพาวเวอร์และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทได้นำเสนอข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าระดับสูงของมาเลเซียได้ลงพื้นที่
ในแถลงการณ์ระบุว่า นาย Mohd Aini กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่บริษัทของมาเลเซียทำงานได้คืบหน้าและคาดว่าจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศลาว โดยเฉพาะในภาคส่วนพลังงาน และจะช่วยให้ลาวหลุดพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนาในปี 2020 นี้ ซึ่งตรงข้ามกับข้อกังวลของนักสิ่งแวดล้อมที่โครงการจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการจับปลาในแม่น้ำโขง โดยนาย Kongher Herjalern ได้ให้ข้อมูลกับนาย Mohd Aini ว่า ที่จริง ปริมาณการจับปลาของชาวบ้านได้มากกว่าเดิมอย่างน่าประหลาดใจก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนเสียอีก เนื่องจากมีมาตรการหลายอย่างในการปรับปรุงช่องทางปลาผ่านในแม่น้ำโขง และทุกข้อกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้มีการแก้ไขและติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เอกอัครราชทูตมาเลเซียยังได้เดินทางไปพื้นที่อพยพของชาวบ้าน 14 ครัวเรือน ซึ่งบริษัทได้สร้างบ้านให้และมีการสร้างโรงเรียนประถมศึกษาใกล้ๆกันมีนักเรียนจำนวน 114 คนที่ได้เข้าเรียน
นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า การก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงคืบหน้ากว่า 31 % ตามแผนและคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนธันวาคม ปี 2019
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบที่ได้ลงพื้นที่สีพันดอนเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 รายงานว่าจากการพูดคุยกับชาวประมงหลายคนที่มีอาชีพจับปลา รวมทั้งพ่อค้าปลาในเมืองโขง ต่างให้ข้อมูลว่าปริมาณการจับปลาของชาวประมงในสี่พันดอนลดปริมาณลง และมีการห้ามวางหลี่ซึ่งเป็นเครื่องหาปลาตามวิถีชาวบ้านของเมืองโขง ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้ลำบากมากขึ้น รวมถึงการอพยพย้ายถิ่นของ “ปลาข่า” หรือโลมาอิรวดี ขึ้นไปยังตอนเหนือของทะเลสาบที่เป็นรอยต่อระหว่างลาวและกัมพูชา หรือเรียกว่า “ดอนลม” ซึ่งขณะนี้เหลือปลาข่าเพียง 3 ตัว จากเดิมที่เคยมีประมาณ 4-6 ตัว โดยเดิมปลาข่าอาศัยอยู่บริเวณใกล้กับจุดสร้างเขื่อนดอนสะโฮงและชายแดนกัมพูชา สาเหตุการอพยพครั้งนี้คาดว่า ช่วงการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงได้ทำส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย เนื่องจากมีการระเบิดหินอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้ปลาข่าไม่อพยพกลับไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงพื้นที่ของเอกอัคราชทูตมาเลเซียครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อโครงการและเกี่ยวโยงกับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานของอาเซียน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 นี้ โดยลาวได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับมาเลเซียจำนวน 100 เมกะวัตต์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าของประเทศไทย และคาดว่าจะมีการเพิ่มการซื้อขายพลังงานกันมากขึ้นในอนาคต
อนึ่งโครงการเขื่อนดอนสะโฮง ผลิตไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ ลงทุนโดยบริษัทเมกะเฟริสต์ สัญชาติมาเลเซียและมีบริษัท ซิโนไฮโดร ของจีนเป็นบริษัทได้รับสัมปทานการก่อสร้างเขื่อนในขณะนี้ ไฟฟ้า 90 % จะถูกส่งขายให้กับประเทศกัมพูชา โดยสายส่งไฟฟ้าได้เริ่มการก่อสร้างในปีนี้
/////////////////////