กองทัพพม่าได้ส่งกำลังทหารไปยังเมืองทางเหนือของรัฐอาระกัน หลังเกิดเหตุการณ์ชาวพุทธพื้นเมืองจำนวน 6 ถูกฆาตรกรรม และมีรายงานว่า ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งยังสูญหาย ขณะที่คาดว่า เหตุที่กองทัพพม่าตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในรัฐทางตะวันตกของประเทศ เนื่องจากได้รับการร้องขอจากพรรคการเมืองชาติพันธุ์ อาระกันหรือยะไข่ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชาวพุทธในพื้นที่ เหตุเพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่เพียงพอ และเกรงเหตุการณ์ความรุนแรงอาจส่อเค้ารุนแรงบานปลาย ขณะที่ท่าทีของรัฐบาล NLD ล่าสุดได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุฆ่าสังหารชาวบ้านผู้บริสุทธิ์เป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการทำลายความั่นคงในประเทศ
มีรายงานว่า เครื่องบินของกองทัพพม่าได้ลำเลียงทหารพม่าราว 500 นายเข้าไปในรัฐอาระกันตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดี (10 ส.ค.) ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐอาระกันส่อเค้ารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทหารพม่าเหล่านี้ถูกส่งตัวไปประจำเมืองต่างๆที่มีชายแดนติดกับบังกลาเทศ รวมทั้งที่เมืองทางเหนืออย่างที่เมืองบูทิดองและเมืองมงดอว์ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปในรัฐอาระกันครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียง 2 วัน หลังจากพรรคการเมืองของอาระกันอย่างพรรค Arakan National Party (ANP) ได้ขอเข้าพบกับพลเอกมิ้นอ่องหล่าย เพื่อหารือถึงสถานการณ์ในรัฐอาระกัน มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาประชุมกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงอย่างลับๆ หลังจากนั้นทางพลเอกมิ้นอ่องหลายได้สั่งการให้่มีการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในรัฐอาระกันทันที
หลังการหารือ ทางสมาชิกของพรรค ANP ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าพบกับผู้นำกองทัพพม่าครั้งนี้ก็เพื่อร้องขอให้มีการเพิ่มทหารเข้าไปคุ้มครองความปลอดภัยให้กับชาวพุทธในพื้นที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ในขณะที่กำลังพลทหารพม่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทางสมาชิกพรรค ANP ยังเปิดเผยอีกว่า ได้ร้องขอไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าให้ดำเนินการจัดตั้งเขตปลอดชาวเบงกาลี เนื่องจากในหลายหมู่บ้านของชาวพุทธถูกล้อมไปด้วยชุมชนชาวโรฮิงญา ขณะที่ชื่อ “เบงกาลี” นั้นเป็นชื่อที่ในหลายรัฐและทางการพม่าใช้เรียกชาวโรฮิงญาที่อพยพมาจากบังกลาเทศ
ส่วนทางพลเอกมิ้นอ่องหล่ายรับปากจะให้การดูแลชาวพุทธพื้นเมืองในพื้นที่ และเร่งดำเนินการตรวจสอบเส้นทางที่มีการใช้อพยพเข้าออกรัฐอาระกันอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ให้คำมั่นว่าจะตรวจสอบในเขตพื้นที่ภูเขามายู(Mayu) ที่มีการอ้างว่ามีการฝึกทหารให้กับกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวพม่าอย่างอิรวดีได้รับการแจ้งจากแหล่งข่าวว่า มีการฝึกทหารให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวน 300 คน ที่ภูเขามายู เช่นการฝึกการใช้ปืนไรเฟิลซึ่งการฝึกทหารนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามสำนักข่าวอิรวดีไม่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้
อีกด้านหนึ่ง ทางรัฐบาล NLD ได้ออกแถลงการณ์ประณามผู้ที่ก่อเหตุสังหารชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ในรัฐอาระกันว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย โดยระบุว่า ยังคงเกิดความตึงเครียดระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธยะไข่อย่างต่อเนื่องในรัฐอาระกัน เห็นได้จากยังคงมีผู้คนจากทั้งสองชุมชนถูกสังหารและถูกอุ้มหายตัวไป ซึ่งทางรัฐบาลพม่ายังเปิดเผยข้อมมูลอีกว่า ภายในปีนี้ มีผู้ถูกฆ่าสังหารแล้วทั้งสิ้น 59 คน และยังหายตัวไปอีก 33 คน โดยทางการพม่ายังระบุอีกว่า จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย โดยจะดำเนินคดีและเอาผิดกับทุกคนที่ก่อความรุนแรงในพื้นที่
ด้านกลุ่มพระสงฆ์ยะไข่อย่างกลุ่ม Arakanese Young Monk Association ได้ขออนุญาตทางการพม่าออกมาประท้วงทั่วรัฐอาระกันในสุดสัปดาห์นี้ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าทางการพม่าจะอนุญาตหรือไม่ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังร้องขอให้ทางรัฐบาลพม่าดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์สัญชาติตามข้อกฎหมายพลเรือนปี 1982 ให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังร้องขอจัดตั้งกองทัพประชาชนเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับชาวพุทธยะไข่ในพื้นที่เป็นต้น โดยยังระบุว่า ทางกลุ่มไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล NLD ในประเด็นเรื่องชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยโจมตีรัฐบาล NLD ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธยะไข่ในปี 2555 และปี 2556 ส่งผลให้ประชาชนราว 140,000 คน ต้องไร้บ้านและที่อยู่อาศัย เพราะบ้านถูกเผาลำลายเสียหายและถูกขับไล่ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ความขัดแย้งในพื้นที่ยังส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากล้มตายจากความรุนแรงของต่างฝ่ายที่กระทำต่อกัน ชาวโรฮิงญาที่เชื่อว่ามีประชากรอยู่ราว 1.1 ล้านคนในรัฐอาระกันนั้นถูกริดรอดสิทธิและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นกลุ่มคนที่ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นชนพื้นเมืองในพม่า เนื่องจากถูกให้อบยพเข้ามาในพม่าโดยอังกฤษในยุคอาณานิคม
ที่มา Myanmar Times/Irrawaddy/DVB