เมื่อเร็ว ๆ นี้กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวคะฉิ่น เคลื่อนไหวอยู่ทางเหนือของประเทศพม่า ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาทำงานในเหมืองทองเขตหุบเขาฮูก่อง (Hukawng Valley) ออกจากพื้นที่โดยเร็ว เหตุเตรียมใช้ปฏิบัติการรบแบบกองโจรโจมตีทหารพม่า เริ่ม 10 เมษายนนี้เป็นต้นไป โดยในพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีทั้งเหมืองทองและเหมืองอำพัน เป็นพื้นที่ควบคุมของทหารคะฉิ่น KIA แต่ถูกกองทัพพม่าเข้าโจมตีและยึดครองไปตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยทางทหารคะฉิ่น KIA เตรียมชิงพื้นที่นี้คืนจากทหารพม่า
ในแถลงการณ์ของทหารคะฉิ่น KIA กองพันที่ 14 ประกาศเตือนว่า ผู้ที่อยู่ในพื้นที่หุบเขาฮูก่องจะต้องออกจากในพื้นที่ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อชะตากรรมของตัวเอง โดยหากใครมีญาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องรีบแจ้งให้ทราบ เพราะทางทหารคะฉิ่นเตรียมโจมตีทหารพม่าในเร็วๆ นี้ โดยทหารคะฉิ่นได้ขีดเส้นตายให้อพยพคนออกจากในเหมืองทองและเหมืองอำพันหลายแห่งในพื้นที่ ด้านโฆษกของ KIA เปิดเผยกับสื่อว่า ทหารพม่ายังคงตรึงกำลังและตั้งฐานที่มั่นไว้ตามเหมืองต่างๆ ที่เคยเป็นของทหารคะฉิ่น KIA โดยทหารพม่าได้ยึดพื้นที่ดังกล่าวหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคาถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“สงครามจะเกิดขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ เพราะทางทหาร KIA จะเคลื่อนไหวทางทหารในพื้นที่ ดังนั้นเราจึงออกแถลงการณ์ให้แรงงานผิดกฎหมายที่อยู่ในพื้นที่เร่งออกจากพื้นที่ไปโดยเร็ว” มีรายงานว่า กองพันที่ 14 ของทหารคะฉิ่น KIA ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จำเป็นต้องสละฐานที่มั่นใหญ่ในเขตหุบเขาฮูก่องเมื่อช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากถูกกองทัพพม่าโจมตีอย่างหนัก จนทำให้ขณะนี้ทหารคะฉิ่น KIA ไม่มีฐานที่มั่นถาวรในพื้นที่ แต่ก็ยังคงลาดตระเวนและเคลื่อนไหวอยู๋ในพื้นที่ โดยจะใช้ยุทธวิธีสู้รบแบบกองโจรและวางกับระเบิดเพื่อต่อต้านทหารพม่า ก่อนหน้านี้กองทัพพม่าก็โจมตีทางทหารอย่างหนัก จนทำให้ทหารคะฉิ่น KIA ต้องสูญเสียฐานที่มั่นสำคัญในเมืองทาไนมาแล้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองทองคำหลายแห่ง มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงตึงเครียด เนื่องจากฐานที่มั่นของต่างฝ่ายอยู่ใกล้กัน
ขณะที่ทางกองทัพพม่าอ้างว่า เหตุที่ต้องโจมตีทหารคะฉิ่นในพื้นที่นี้ เนื่องจากทหารคะฉิ่นปล่อยให้มีการทำเหมืองผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางทหารคะฉิ่น KIA ตอบโต้กลับว่า หลังจากพื้นที่ดังกล่าวตกอยู่ในความควบคุมของกองทัพพม่า ทางกองทัพพม่ากลับยอมให้มีการทำเหมืองต่อไป ดังนั้นเหตุผลนี้จึงฟังไม่ขึ้น “จนถึงขณะนี้ กองทัพพม่าได้นำแรงงานราว 100 คน กลับมาทำงานในเหมือง และคาดว่ามีแผนจะนำมาอีก เขตพื้นที่นี้เป็นของเรา ดังนั้นเราจะต่อสู้เพื่อให้ได้พื้นที่นี้กลับมา” พลเอก นอบู จาก KIA กล่าว ทั้งนี้ แม้ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาเพื่อสันติภาพมาหลายครั้ง แต่ก็ต้องชะงักงันมาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทาง KIA ได้ออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอและเงื่อนไขไปยังกองทัพพม่า ในขณะเดียวกัน กองทัพพม่าได้สั่งให้ KIA ถอนกำลังออกจากในหลายพื้นที่ เช่นที่เมืองทาไน ที่กองพันที่ 14 เคลื่อนไหวอยู่ รวมถึงสั่งให้ถอนกำลังออกจากเมืองมานซี แต่ทางทหารคะฉิ่น KIA ไม่ยอมทำตามจนเกิดเหตุปะทะกันอยู่หลายครั้ง
สัญญาหยุดยิงระหว่างทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินมา 17 ปี ต้องขาดสะบั้นลงเมื่อ 7 ปีืก่อน สงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นมากกว่า 100,000 คน ที่ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้ตามเดิม และต้องอาศัยอยู่ตามค่ายพักพิงชั่วคราว ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างทหารพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA และทหารกะเหรี่ยง KNU ก็น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด สำนักข่าวไทใหญ่ SHAN รายงานว่า ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ที่เมืองเป็ง ทางตะวันออกของรัฐฉาน ยังคงตึงเครียด ทหารทั้งสองฝ่ายยังคงตรึงกำลังทหารต่อกัน หลังจากเกิดเหตุการณ์สู้รบกันก่อนหน้านี้ โดยชาวบ้านราว 15 หลังคาเรือนที่อยู่ในพื้นที่เมืองเป็งหวั่นเกิดสงครามอีก จึงได้อพยพหนีไปอยู่ที่เมืองนาย ทางใต้ของรัฐฉาน ทั้งนี้ RCSS/SSA ได้ลงนามหยุดยิงแห่งชาติกับกองทัพพม่าแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยังคงมีการปะทะกันประปราย
เช่นเดียวกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ที่ปะทะกับกองทัพพม่าเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองมีแผนจะหารือกันเพื่อแก้ปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้น โดยมีกำหนดการหารือระหว่างวันที่ 29 – 30 มีนาคมที่ผ่านมา แต่มีรายงานว่า แผนพบปะหารือกันกลับต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เหตุปะทะกันระหว่าง KNU และทหารพม่าเกิดจากปัญหาการก่อสร้างถนน สื่อกะเหรี่ยงรายงานว่า จนถึงขณะนี้ ชาวบ้านที่หนีภัยสู้รบราว 2,000 คน ยังไม่สามารถกลับบ้านได้ โดย KNU ก็เป็นอีกกลุ่มที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว
ที่มา Irrawaddy/SHAN/Karen News
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ