ในบรรยากาศหน้าถ้ำหลวงที่ทุกคนยังใจจดใจจ่อว่าเด็กๆและโค้ชฟุตบอลทีม “หมู่ป่า” อะคาเดมี่ จะออกมาเมื่อไหร่ ก๋วยเตี๋ยวและสุกี้ชามแล้วชามเล่าได้รับบริการอย่างเอร็ดอร่อย ในยามที่ช่วงเวลาทอดยาวตั้งแต่เช้าจรดดึกของการรอฟังข่าว
นอกจากโรงครัวพระราชทานที่เป็นกำลังหลักในเรื่องอาหารการกินสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ ญาติพี่น้องของทีมหมูป่า สื่อมวลชนและคนอื่นๆแล้ว หนุ่มสาวจิตอาสากลุ่มเล็กๆในอำเภอแม่สายได้รวมตัวและลงขันกันให้บริการก๋วยเตี๋ยวและสุกี้ฟรี
“พวกเราคุยกันตั้งแต่ได้ยินข่าวว่าเด็กๆกลุ่มนี้หายไป เราจะช่วยอะไรได้บ้าง พอดีผมกับแฟนขายก๋วยเตี๋ยวอยู่แล้ว พวกเราเคยไปออกร้านบริการฟรีในงานต่างๆเสมอก็เลยคิดว่าน่าจะมาทำก๋วยเตี๋ยวให้กิน” โยและเอินเล่าถึงที่มา ซึ่งเขาและเพื่อนๆได้รวมกลุ่มกันทำงานเพื่อสังคมมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
โยและเอินมีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวซึ่งหมุนเวียนไปตามหน่วยงานราชการต่างๆซึ่งมีลูกค้าประจำอยู่เยอะพอสมควร
“พวกเราจะทำก๋วยเตี๋ยวให้กินจนกว่าจะเจอพวกน้องๆทีหมูป่า” โยบอกถึงความมุ่งมั่น ซึ่งในวันแรกๆพวกเขาลงขันกันได้เงิน 5 พันกว่าบาทเพื่อเอามาซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อหมูและเครื่องประกอบต่างๆ โดยให้บริการก๋วยเตี๋ยวไป 500 กว่าชาม แต่เมื่อมีคนนำไปโพสต์กันต่อๆทำให้มีผู้ร่วมสมทบทุนเพิ่มขึ้น
“พวกเราไม่ได้เปิดรับบริจากน่ะครับ แต่ใครมีกำลังทรัพย์นำมาลงขันก็ตามสะดวก”
หลังจากข่าวการหายตัวเข้าไปในถ้ำหลวงโด่งดังไปทั่วโลกและมีเจ้าหน้าที่ จิตอาสาต่างๆและสื่อมวลชนจำนวนมากมาปักหลักอยู่บริเวณทางขึ้นถ้ำ ทำให้ยอดบริการก๋วยเตี๋ยวเพิ่มเป็นเงาตามตัวเป็นวันละ 1 พันชามและสูงสุดกลายเป็น 2 พันชาม ทำให้ทั้งหมดต้องมือเป็นระวิงอยู่ตลอดเวลา
“จะได้พักก็ต้อนเติมน้ำในหม้อ เพราะต้องรอเวลาให้น้ำเดือด เราทำกันตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยววันละ 50-60 กิโลกรัม เราเห็นเจ้าหน้าที่และทุกคนได้กินของอร่อยๆ เราก็ดีใจครับ”ต้อม ไกด์หนุ่มที่หยุดงานมาร่วมทำก๋วยเตี๋ยวบอกถึงความรู้สึก
“ตอนแรกเราก็ตื่นเต้นน่ะครับ ที่เห็นใครต่อใครมากันเยอะแยะ สื่อมวลชนก็มากมาย แต่พออยู่ๆ ไปก็รู้จักมักคุ้นกันแทบหมด”
มือก๋วยเตี๋ยวจิตอาสากลุ่มนี้ ต่างเชื่อและหวังเช่นเดียวกับคนไทย “พวกเราคิดและหวังเสมอว่าน้องๆยังปลอดภัย เพียงแต่ยังออกมาไม่ได้”
ท่ามกลางน้ำใจมากมายในสถานการณ์หน้าถ้ำหลวง นอกจากกลุ่มแพทย์-พยาบาล ที่คอยเตรียมพร้อมเสมอ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่ประจำยังจุดต่างๆนั้น นายสามตุ้ย สามเดียว หนุ่มจากอำเภอแม่ฟ้าหลวง ได้นำมาเตอร์ไซค์คู่ใจมาปักหลักให้บริการฟรีอยู่บริเวณแนวเขตเข้า-ออก
สภาพถนนมุ่งสู่ถ้ำหลวงเป็นเพียงถนนลูกรังแคบๆ ประกอบกับฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องมีการจัดการจราจรใหม่เนื่องจากผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลกันมาตามกระแสข่าว โดยเจ้าหน้าที่ได้ห้ามเอารถยนตร์จอดในบริเวณใกล้ทางเข้าถ้ำซึ่งเป็นพื้นที่ทำงาน ที่สำคัญคือต้องเคลียร์เส้นทางไว้สำหรับการอำนวยความสะดวกหากน้องๆทีมหมูป่าออกจากถ้ำ
“ผมมาดูเหตุการณ์ตั้งแต่วันแรกๆแล้ว แต่ไม่รู้จะช่วยอะไร ไปยืนเก้ๆกังๆเหมือนตัวเองเป็นส่วนเกิน พอดีเห็นทหารนายหนึ่งเขาเรียกใช้มอเตอร์ไซค์ ของชาวบ้านที่มาจอดอยู่ เลยคิดขึ้นได้ว่าเราน่าจะมาให้บริการรับ-ส่งฟรี” นายสามตุ้ย บอกถึงที่มาของจิตอาสารับ-ส่งผู้ โดยสารซึ่งเส้นทางจากจุดงานไปยังถนนใหญ่หรือที่จอดรถมีระยะทางไกลพอสมควร แม้ทางศูนย์อำนวยการจะมีรถสองแถวไว้คอยบริการรับ-ส่ง แต่ก็ไม่คล่องตัวเท่ากับมอเตอร์ไซค์
“ตอนแรกเอารถมาจอดเฉยๆก็ไม่ค่อยมีใครกล้าใช้บริการ แต่พอเอาป้ายมาติดหน้ารถว่าจิตรอาสาให้บริการฟรี แทบวิ่งไม่ได้หยุด เท่าที่เห็นตอนนี้มีชาวบ้านมาร่วมกันให้บริการรับ-ส่งฟรีโดยมอเตอร์ไซค์อยู่ 7-8 คัน ต่างกันต่างมาโดยไม่รู้จักกัน”
หนุ่มสามตุ้ยบอกว่าแม้ไม่รู้จักเด็กๆทีมหมูป่า แต่ก็รู้สึกใจหายเมื่อรู้ว่าหายไปในถ้ำเพราะไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ เนื่องจากตัวเองก็เป็นคนย่านนี้ เคยเข้าไปเที่ยวถ้ำหลวงมาหลายครั้งโดยเฉพาะสมัยก่อนที่ถ้ำแห่งนี้จัดงานวันสงกรานต์สนุกมาก
“ผมเชื่อมันว่าพวกเขายังอยู่ เพราะมีเสบียงติดไป เขาน่าจะพออยู่ได้ ก็ได้แต่หวังว่าพวกเขาจะได้ออกมาโดยเร็ว”
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตและความท้าทายต่างๆทั้งอุบัติเหตุและอุบัติภัย ในสังคมไทยก็มักจะมีอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนก้นบึ้งของหัวใจของคนในชาติอยู่เสมอ นั่นคือ “น้ำใจ” ที่ไหลออกมาให้เห็นผ่านจิตอาสาต่างๆ
เสียดายแต่ว่ายังมีน้ำใจอีกมากล้นที่ถูกปล่อยให้หล่นร่วง หากมีการจัดการให้ถูกต้องเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมก็คงดี