Search

บางแง่บางมุมจากตัวจริงเสียงจริง นักข่าวสนามหน้าถ้ำหลวง


เสียงโห่ร้องตะโกนด้วยความดีใจเมื่อทราบข่าวดีว่าทีมหมูป่า 13 ชีวิตยังปลอดภัยของสื่อมวลชนที่เกาะติดข่าวอยู่บริเวณทางขึ้นถ้ำหลวงเมื่อคืนวันที่ 2 กรกฏาคม 2556 สะท้อนให้เห็นถึงอาการ “ลุ้น”เช่นเดียวกับคนในสังคมไทย

สภาพโคลนเลนครึ่งค่อนแข้งดูจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการทำข่าว บางคนมาตั้งแต่วันแรกๆและปักหลักอยู่ยาว บางส่วนทยอยกันมาสมทบเกาะติดข่าว และยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อข่าวการหายตัวไปในถ้ำหลวงของทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี่” 13 ชีวิตได้รับความสนใจสู่กระแสสูงซึ่งไม่ใช่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น แต่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

บริเวณทางขึ้นถ้ำเขาหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นฐานอำนวยการจึงคราคร่ำไปด้วยสื่อมวลชน จิตอาสาต่างๆ และเจ้าหน้าที่หลายร้อยชีวิตตลอดทั้งกลางวันไปจนถึงกลางดึก

การหายตัวไปของทีมหมูป่าตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 พร้อมกับการปรากฎตัวของกองทัพสื่อมวลชนซึ่งลงทะเบียนไว้กับศูนย์อำนวยการไม่น้อยกว่า 600 คนทั้งไทยและเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์คับขัน

การที่ข่าวหายตัวไปของทีมฟุตบอลหมูป่าได้รับความสนใจสูงยิ่งกว่าติดตามฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาของสังคมไทย และต้องยอมรับว่าการติดตามลุ้นระทึกของคนจำนวนมากได้กลายเป็นตัวกระตุ้นการแข่งขันของสื่อมวลชนสำนักต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทั้งในแง่เนื้อหาข้อเท็จจริง และประเด็นต่างๆความรวดเร็ว จนหลายครั้งได้กลายเป็นความสับสนจนทำให้ความไร้ระเบียบในบางครั้งขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

เพราะฉะนั้นจึงเกิดคำถามดังๆขึ้นว่าสื่อมวลชนไทยมีกรอบกติกาในการทำข่าวสถานการณ์คับขันกันอย่างไร และเราได้บทเรียนในการลงสนามข่าวหน้าถ้ำหลวงครั้งนี้กันอย่างไร

“จริงๆแล้วการทำข่าวภัยพิบัติ หรือข่าวในสถานการณ์คับขันต่างๆ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในด้านความเร็วมากนัก แต่ควรให้น้ำหนักไปที่การเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สารธารณชนได้ทราบมากที่สุด ที่สำคัญคือข่าวที่ออกไปสู่ประชาชนต้องเชื่อถือได้” แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จากข่าว 3 มิติช่อง 3 ให้มุมมองในฐานะนักข่าวที่ทำข่าวภัยพิบัติต่างๆมากที่สุดคนหนึ่ง และเธอลงพื้นที่เกาะติดข่าวนี้ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน หลังการหายตัวไปของทีมหมูป่าในวันที่สอง และเธอได้ปักหลักเกาะติดข่าวอยู่ในสนามต่อเนื่องมาตลอด

นอกจากทำข่าวให้ช่อง 3 และข่าว 3 มิติแล้ว ฐปณีย์ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายงานความคืบหน้าให้ทุกระยะ โดยเฟซบุ๊กของเธอมีผู้เข้าชมมากเหยียบล้านครั้งในบางโพสต์ ขณะเดียวกันตัวเธอเองก็ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์อลหม่านด้วยเช่นกัน หลังจากนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ เชียงรายได้พูดถึงสื่อบางรายที่ฝืนข้อห้ามและสร้างความลำบากในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการที่นายณรงค์ศักดิ์ไม่ได้ระบุชื่อ ทำให้เป้าตกไปอยู่ที่ฐปณีย์ ทั้งๆ ที่ความจริงมิใช่เธอ แต่เธอก็ถูกเพจบางสำนักข่าววิจารณ์ไปแล้ว

ความชุลมุนในสนามข่าวหน้าถ้ำหลวงจึงเป็นเรื่องนี้น่าสนใจและควรเรียนรู้ไม่น้อย

“ปัจจุบันเรามีสื่อทีวีมากมาย ไหนจะสื่อออนไลน์อีก แต่ยังยึดติดกับการแข่งขันในรูปแบบเก่าๆ บางคนมุ่งเน้นเจาะข่าวโดยติดตามเจ้าหน้าที่ไปทุกแห่งกลายเป็นการรบกวน ข้อมูลต่างๆ ถูกนำออกเผยแพร่อย่างรวดเร็วจนบางครั้งขาดการตรวจสอบความชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ ข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ควรไปจากบุคคลที่น่าเชื่อถือได้นั่นคือคนที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ใช่ใครก็ได้ที่ผ่านเข้ามาแล้วไปสัมภาษณ์ การที่ข่าวมาจากหลายแหล่งทำให้เกิดความสับสนและปริมาณข่าวล้นทะลักจนผู้บริโภคไม่รู้จะเชื่อตรงไหนดี”

ฐปณีย์บอกว่า การทำข่าวสถานการณ์คับขันหรือภัยพิบัติ ตัวนักข่าวเองจะต้องรู้ว่าควรเข้าไปได้แค่ไหน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญคือต้องได้รับอนุญาตก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่

“ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติมาหลายครั้งแล้ว ทั้งสึนามิ ฝนถล่ม น้ำท่วม มีการพูดถึงการถอดบทเรียนต่างๆ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่มีผลในทางปฎิบัติเลย เรื่องการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนก็เช่นกัน ยังไม่มีกติกาใดๆ มากำหนด เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของตัวสื่อมวลชนเอง จริงๆ แล้วควรมีคู่มือให้นักข่าวใหม่ๆ ที่ทำข่าวสถานการณ์เช่นนี้ด้วย”

สันติวิธี พรหมบุตร

เช่นเดียวกับสันติวิธี พรหมบุตร นักข่าวช่อง 9 ซึ่งผ่านสมรภูมิข่าวใหญ่มาไม่น้อย เขามีมุมมองไม่แตกต่างไปจากฐปณีย์ นั่นคือการรายงานข่าวในสถานการณ์คับขันไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในเรื่องความเร็วเสมอไป

“ก่อนที่จะเผยแพร่ข่าวออกไป ผมพยายามมองให้เห็นด้วยตา หรือพูดคุยตรวจสอบข้อมูลต่างให้ชัดเจน จริงๆ แล้วการให้ข้อมูลในสถานการณ์เช่นนี้ควรเป็นไปในทิศทางเดียว บางประเด็นเป็นแค่การแพร่สะพัดหรือข่าวลือ บางคนก็เอาแค่เบาะแสไปเผยแพร่โดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ทำให้เกิดความสับสน” สันติวิธีอธิบายตามประสบการณ์ที่เผชิญในสนามข่าวต่างๆ ซึ่งครั้งนี้แม้เขาไม่ได้มาถึงตั้งแต่วันแรกๆ แต่เมื่อมาก็มีเพื่อนๆ นักข่าว เช่น ฐปณีย์ช่วยเล่าข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ดีของนักข่าวภาคสนาม

“เราพึ่งพากัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มันไม่จำเป็นต้องแข่งขันความเร็วกัน เรามาติดตามความช่วยเหลือ เรื่องข้อมูลและความถูกต้องจึงสำคัญที่สุด” สันติวิธีพูดสะท้อนถึงมิตรภาพในหมู่นักข่าวที่เกิดขึ้นเสมอ เพราะฉากหลังของงานหลายคนต่างร่วมวงสวนเสกัน แต่ในสนามข่าวทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง เพียงแต่ปัจจุบันซึ่งมีสื่อมวลชนมากมาย แต่ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ค่อยๆ เลือนไป

เสกสม แจ้งจิต(ซ้าย)และฐปณีย์

ขณะที่สื่อมวลชนในสังกัดภาครัฐอย่างเสกสม แจ้งจิต จากกรมประชาสัมพันธ์มองว่า การที่มีนักข่าวรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นจำนวนมากและมุ่งแต่ติดตามประเด็นข่าวตามที่กองบรรณาธิการสั่ง จนบางครั้งลืมไปว่า สนามข่าวที่กำลังทำอยู่นี้เป็นพื้นที่อ่อนไหว ทำให้ไปขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยไม่รู้ตัว แต่หากเป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ก็จะรู้ว่าควรมีระยะห่างแค่ไหน บางครั้งไม่จำเป็นที่เราต้องกรูกันเข้าไป เพราะทำให้กลายเป็นการเพิ่มความติดขัดให้กับเจ้าหน้าที่
“เราผ่านเหตุการณ์เช่นนี้มาหลายครั้ง แต่ไม่ค่อยได้ถอดมาเป็นบทเรียน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ทุกคนจะได้มีแนวทางปฎิบัติร่วมกัน” เสกสมสะท้อนมุมกว้างได้อย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับ “จิมมี่” รัชพล งามกระบวน ซึ่งอยู่ในทีมสำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย และเข้าไปรายงานข่าวทีมหมูป่าหายไปในถ้ำหลวงตั้งแต่วันแรก โดยจิมมี่มีบทบาทสำคัญในการรายงานสดจนทำให้เพจ “PR.Chiangrai ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย” มียอดเข้าชมถล่มทลายจากเริ่มต้นเพียง 7 พันครั้ง เพิ่มสูงสุดเป็น 11 ล้านครั้งเมื่อคืนวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นโพสต์รายงานสดข่าวดีที่พบทั้ง 13 ชีวิตยังปลอดภัยอยู่ในถ้ำ

“ผมคิดว่าที่คนเข้ามาดูกันมากเพราะเราต่างมีลูก ข่าวการหายไปกระทบใจคนมาก ในฐานะที่เราเป็นสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ เราจึงต้องนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ ซึ่งจากการสังเกตผมคิดว่า สื่อมวลชนที่มาทำหน้าที่ครั้งนี้ต่างให้ความร่วมมือกันดี แต่ละคนต่างมีแนวคิดที่ดี ข่าวที่สับสนในบางช่วงอาจเป็นเพราะว่าคนข้างนอก พวกนักเลงคีย์บอร์ดที่ไม่ได้ลงพื้นที่มากกว่า”

นักเลงคีย์บอร์ดที่จิมมี่พูดถึงได้สร้างความสับสนในทิศทางการนำเสนอข่าวทีมหมูป่าหายไปในถ้ำพอสมควร เนื่องจากมีสื่อออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ส่งนักข่าวลงพื้นที่ แต่ใช้วิธีการลอกข้อมูลจากนักข่าวในสนามหรือจากสำนักข่าวต่างๆ ไปทั้งดุ้น แล้วนำไปปรับโฉมบ้าง ไม่ปรับบ้าง เพียงเพราะต้องการส่วนแบ่งของยอดผู้ชม ยอดแชร์หรือยอดไลค์ แถมบางเพจยังวิพากษณ์วิจารณ์ด้วยความบิดเบือน

ปิติพร เพรามธุรส

ขณะที่ “นก”ปิติพร เพรามธุรส จากพีพีทีวี ซึ่งลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน โดยขณะนั้นยังมีสื่อมวลชนไม่มาก สะท้อนว่าการแข่งขันของสื่อเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ใช่เป็นการแข่งขันแค่ในพื้นที่ แต่เป็นไปในระดับสถานีข่าวเพราะต่างคนต่างก็ต้องการให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

“การที่มีผู้ชมเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ทีวีหลายช่องยกเลิกกรายการอื่นและหันมาเกาะติดความเคลื่อนไหวข่าวนี้ทั้งวัน และมีคำสั่งให้นักข่าวในพื้นที่ต้องหาประเด็นต่างๆ ป้อนตลอดเวลา วันแรกๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีความเคลื่อนไหวเยอะ แต่พอวันที่ 5-6 สถานการณ์เริ่มนิ่ง แรงกดดันเลยไปตกอยู่ที่นักข่าวในสนามว่าจะหามุมไหนมาป้อน” ปิติพรฉายให้เห็นภาพสนามข่าวหน้าถ้ำหลวงซึ่งเต็มไปด้วยนักข่าวหลายร้อยชีวิต ซึ่งจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานจนแทบไม่มีเวลาพัก บางคนเดินไลฟ์อยู่ตลอดเวลา

“เมื่อเขาได้รับแรงกดดันให้หาข่าวอยู่ตลอด พอมีใครที่ไม่เกี่ยวข้องแต่พอจะมีชื่อเสียงเข้ามา เขาก็ไปสัมภาษณ์กัน โดยเฉพาะในวันที่มีแต่คนอยากพูด ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ทำให้ข่าวออกมาสับสน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องตรวจสอบอีกครั้ง ถ้าเขาไม่เกี่ยวด้วยจริงๆ ก็ไม่รู้ให้น้ำหนักไปทำมัย เราเข้าใจน้องๆ ดี บางทีต้องไลฟ์ไปเรื่อยๆ เพราะข้างในสั่งมา จริงๆแล้วการหาข่าวที่มุ่งหาข้อเท็จจริงแบบนี้ เสนอข่าวช้ากว่าคนอื่นนิดก็ได้ เพียงแต่ขอให้ถูกต้อง”

ปิติพรบอกถึงเป้าหมายในการทำข่าวหน้าถ้ำหลวงครั้งนี้ว่าเพราะอยากให้คนในสังคมได้เรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ควรคิดได้แล้วว่าในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ การกู้ชีพหรือกู้ภัยควรเป็นอย่างไร สังคมไทยมีคนเก่ง มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อยู่มากมาย แต่พอถึงเวลาคับขันสามารถ เราชักชวนเขามาร่วมแก้ไขปัญหาได้หรือไม่

ด้านสำนักข่าวต่างชาตินั้น ธัญญารัตน์ ดอกสน นักข่าวบีบีซี มองว่าการที่ข่าวทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวงได้รับความสนใจจากทั่วโลกเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ และครั้งนี้ถือว่ามีสื่อต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่รายงานข่าวกันอย่างรวดเร็วเหมือนกับผู้ชมอยู่ในพื้นที่ด้วย จากเดิมเมื่อได้ข่าวมาก็ต้องไปกองไว้ก่อนนำเสนอ แต่เดี๋ยวนี้เหมือนผู้ชมได้ฟังสดๆ จากพื้นที่ในทันที
“สำนักข่าวต่างประเทศเขาจะซีเรียสในเรื่องเด็กมาก หากจะเอาภาพเด็กออกต้องขออนุญาตพ่อแม่หรือผู้ปกครองก่อน อยู่ๆ จะเอาภาพเด็กไปออกอากาศเลยไม่ได้”
ประสบการณ์ครั้งสำคัญของนักข่าวภาคสนามถ้ำหลวงครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพขบวนสื่อมาลชนไทยอันใหญ่โตและหลากหลายจนน่าหวั่นใจว่าในวันหนึ่ง หากบ้านเมืองต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหรือตกอยู่ในสภาวะคับขันด้านในด้านหนึ่ง สื่อมวลชนจะมีคู่มือหรือแนวปฎิบัติร่วมกันอย่างไร ที่จะไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก
น่าเศร้าที่เมื่อมองเข้าไปในหัวขบวนสื่อ เราเห็นแต่ความอ่อนแอและการช่วงชิงผลประโยชน์กันจนยากที่จะออกแบบหรือวางกรอบจริยธรรมให้คนอื่นยอมรับได้

โดย ภาสกร จำลองราช
padsakorn@hotmail.com

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →