จวกขาดการมีส่วนร่วม-ไม่ให้เกียรติ์ชุมชน เตรียมยกเป็นประเด็นถกในเวทีสิทธิอาเซียน คนทวายโวยทุน-รัฐบาลไทยฉวยโอกาสช่วงอ่อนแอ
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม พร้อมด้วยนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และนายเสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้ลงพื้นที่เมืองทวาย ประเทศพม่า ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจทวายให้เป็นท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมครบวงจร โดยคณะของนายสุลักษณ์ได้ลงหมู่บ้านในเขตก่อสร้างเพื่อรับฟังสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ จากชุมชนนอกจากนี้ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับภาคประชาสังคมของทวาย
นายสุลักษณ์กล่าวว่าได้พบกับพระภิกษุใน 2-3 วัดและประชาชนทวายอีกหลายแห่งซึ่งคนที่นี่มีความเข้มแข็งมาก พื้นที่แห่งนี้ไม่เหมาะกับการสร้างเขตอุตสาหกรรมหรือท่าเรือน้ำลึก ที่สำคัญการที่จะเข้าไปทำอะไรก็ควรฟังชาวบ้านในท้องถิ่นด้วย ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลไทยและบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ไม่เคยให้เกียรติ์กับชาวบ้านในพื้นที่เลย คิดแต่จะสร้างความร่ำรวยและความยิ่งใหญ่ ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับเอาเงินของแผ่นดินมาใช้ในโครงการนี้อีก
“เมื่อวานนี้ผมไปนั่งกินข้าวที่หาดมองมะกัน ซึ่งเป็นชายหาดสวยงาม ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าคุณทักษิณ(ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้เอาเรือมาจอดที่นี้ 2-3 ครั้งแล้ว คนพวกนี้เป็นคนที่ไร้จิตสำนึกเรื่องสิทธิชุมชน ไร้จิตสำนึกเรื่องความทุกข์ยากของชาวบ้าน ตอนเราไปพูดเมื่อเช้านี้ก็มีทั้งตำรวจสันติบาล มีทั้งคนของITD มาฟัง ถือได้ว่าเป็นบรรยากาศของพม่าที่ดีขึ้นมาก ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ไม่ได้แน่” ส.ศิวรักษ์ กล่าว
นายสุลักษณ์กล่าวว่า การเดินทางมาทวายครั้งนี้คงไม่เสียเที่ยว เพราะหลังจากกลับไปกสม.ก็จะได้เชิญฝ่ายต่างๆ เช่น ITD ผู้แทนรัฐบาลไทย มาชี้แจง รวมทั้งเชิญพระจากทวายซึ่งพูดดีมากไปร่วมด้วย เพราะเรื่องนี้กสม. มีอำนาจสวนการละเมิดสิทธินอกประเทศที่เกิดจากคนไทยได้ขณะเดียวกันจะมีการประชุมคณะกรรมการสิทธิ์อาเซียนในเร็วๆนี้ซึ่งนายเสรีบอกว่าจะได้นำเรื่องนี้เข้าไปหารือด้วย ซึ่งก็หวังว่าเมื่อมีการตรวจสอบจริงจังและมีข่าวออกไป ITD จะทำตัวดีขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะสื่อมวลชนไทยกลุ่มหนึ่ง ได้ลงพื้นที่เมืองทวายเช่นเดียวกันเพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าร่วมกันจัดตั้งนิติบุคลพิเศษหรือเอสพีวี ทำให้คู่สัญญาเปลี่ยนจากบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์หรือ ไอทีดี มาเป็นรัฐบาลไทย
คณะสื่อมวลชนได้ตั้งวงหารือกับเครือข่ายภาคประชาคมทวายซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มสหภาพสตรีทวาย ผู้แทนกลุ่มสิทธิที่ดินและชาติพันธุ์ ผู้แทนพรรคเอ็นแอลดี ผู้แทนกลุ่มชาวไร่ชาวนา ผู้แทนกลุ่มพุทธศาสนา ทั้งนี้สตรีชาวกะเหรี่ยง ผู้แทนสหภาพสตรีทวายกล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจและมีการเปิดด่านข้ามกันไปมาระหว่างไทย-พม่า ได้เกิดปัญหายาเสพติดมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าเยาวชนติดยาเสพติดกันมากขึ้น ขณะเดียวกันที่ดินตามแนวสร้างถนนระหว่างเมืองกาญจนบุรีและทวาย ซึ่งเดิมทีเป็นของชาวบ้านซึ่งมีกองกำลังสหภาพกะเหรี่ยงคอยให้ความคุ้มครองอยู่ ปรากฏว่าเมื่อมีการเข้าถึงพื้นที่ได้ง่าย ได้มีนักธุรกิจเข้าไปกว่านซื้อที่ดินโดยคนเหล่านี้ได้ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลกลางและไม่สนใจว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินที่เคยทำกินมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ
“เพื่อนบางคนเข้าไปทำงานอยู่ในITDเล่าให้ฟังว่า เขาเตรียมที่จะระเบิดเขาในพื้นที่ที่เป็นแนวสร้างทางและเขตเศรษฐกิจทั้งหมด เขาเตรียมระเบิดไดนาไมท์ไว้จำนวนมาก เพื่อระเบิดเขาและเอาหินมาป้อนโรงโม่ พวกเรารู้สึกเป็นห่วงมากกับการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ เดิมทีชาวบ้านยังคิดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้อยู่บ้าง แต่สุดท้ายแทบไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ข้าวหรือน้ำ เขาก็เอามาเองหมด” สตรีชาวกะเหรี่ยงกล่าว
ผู้แทนสหภาพสตรีทวายกล่าวว่า รขนาดการก่อสร้างโครงการเพียงแค่เริ่มต้น แต่ก็ส่งผลพวงมาถึงชาวบ้านแล้ว อย่างกรณีของชุมชนชายฝั่งทะเล ซึ่งมีการก่อสร้างอยู่และเสียงดังทำให้กุ้งหอยปูปลาหายไปจำนวนมาก ขณะที่คนภายนอกที่เข้ามามักดูถูกผู้หญิงท้องถิ่น กลัวว่าหากมีการก่อสร้างเต็มรูปแบบจะมีอุตสาหกรรมทางเพศเกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
ผู้แทนพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการพบว่าในเมืองทวายมีอุบัติเหตุทางรถยนต์มากขึ้น ขณะที่พืชผักผลไม้ไทยเข้ามาตีตลาดทวายเพราะคุณภาพดีกว่าทำให้เกษตรกรท้องถิ่นต้องลำบาก ซึ่งตนมองว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือผู้ที่มีการศึกษาส่วนชาวบ้านแทบไม่ได้รับอานิสงส์อะไรเลยและก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน
ผู้แทนกลุ่มสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาปี “88”กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ในทวายต่างคิดถึงเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดเพราะยังไม่เคยมีการแจ้งข้อมูลใดๆให้ชาวทวายได้รับทราบเลย แต่เชื่อว่าเหล่านักลงทุนและนักธุรกิจต่างก็ทราบข้อมูลดีจึงมีการกว่านซื้อที่ดินกันมากมาย ทั้งๆที่หัวใจสำคัญคือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงข้อมูล
“เราขอวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่า เพราะกดให้ชาวบ้านอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการมานานหลายสิบปี ทำให้ต้องอยู่กันอย่างลำบาก และนักธุรกิจไทยก็ฉวยโอกาสลงนามกับรัฐบาลทหารพม่าก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลไทยฉวยโอกาสที่พวกเรายังอ่อนแอดำเนินโครงการนี้โดยไม่มีความโปร่งใสใดๆเลย ที่ผ่านมารัฐบาลทั้ง2 ประเทศยังไม่เคยแสดงความโปร่งใส แต่เรื่องนี้ก็มีผลดีอยู่บ้างคือทำให้พวกเราทุกภาคส่วนในทวายกล้าลุกขึ้นสู้ และอยากบอกรัฐบาลไทยว่า ประเทศพม่าและประชาชนทวายยังไม่พร้อม ทำไมรัฐบาลไทยถึงไม่เอาข้อมูลมาให้เราร่วมพิจารณาก่อนว่าจะพัฒนาแบบไหน น่าจะเอาข้อมูลมาให้เราดูว่าทวายจะเดินไปในทิศทางใด เราจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรเดินไปตามแบบคุณหรือไม่ คุณควรเคารพเราในฐานะเจ้าของบ้านด้วย”อดีตนักศึกษาปี “88”กล่าว
นอกจากนี้คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่หมู่บ้านกาลนท่า (kalonta) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำตาไลน์ยาร์ (Talineyar)เพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีผลกระทบเนื่องการสร้างถนน เชื่อมต่อพื้นที่อุตสาหกรรมพิเศษเมืองทวาย และจังหวัดกาญจนบุรี โดยหลวงพ่อเปียว ยา โวสะ เจ้าอาวาสวัดกาลนท่า กล่าวว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีวี่แววของบริษัท ITD เข้ามาดำเนินการสร้างเขื่อน หลังจากที่ชาวบ้านกาลนท่ากว่า 900 คน รวมตัวกันต่อต้านโครงการโดยการพ่นสีสเปรและแสดงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านเพื่อให้ยุติการสร้างเขื่อน
เจ้าอาวาสกาลนท่ากล่าวว่า ยังคงมีแต่โครงการสร้างถนนและเส้นทางสายส่งเชื่อต่อระหว่างประเทศไทย ที่เริ่มมีการสร้างขยับเข้ามาในใกล้หมู่บ้านมากขึ้น โดยมีตัวแทนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ประจำเมืองต่างๆ พยายามเข้ามาเจรจรา เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเซ็นชื่อยินยอมย้ายและเห็นด้วยกับโครงการ เมื่อราวเดือนธันวาคม ปี 2555 แต่ว่าไม่มีชาวบ้านคนใดยอมทำตาม
“ที่ผ่าน มาเขาใช้วิธีการหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมายแกล้งให้อาตมาเซ็น และพยายามยัดเยียดเอกสารสารพัดให้ชาวบ้านยอมลงชื่อเพื่อเดินหน้าโครงการ แต่ทุกคนไหวตัวทัน จึงสามารถรักษาหมู่บ้านได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเส้นทางสายส่งนั้นมีการตัดผ่านพื้นที่ทำกินและตัวชุมชนให้ ห่างออกจากกันมากขึ้น ก็เท่ากับว่าผ่ากลางเส้นทางทำมาหากิน มีอยู่ครั้งหนึ่งประมาณ เดือนเมษายน ปี 2555 ชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้าน เจ้าหน้าที่ฝั่ง ITD ก็พาตำรวจมาจับ อาตมาต้องเจรจาอยู่นาน เพื่อชี้แจงว่า เป็นการต่อต้านอย่างสันติ ไม่ได้ก่อเหตุรุนแรงใดๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เข้าใจดีและไม่มีชาวบ้านรายใดถูกจับตัว ดำเนินคดี ” พระเปียวยา กล่าว
หลวงพ่อเปียวยากล่าวด้วยว่า เมื่อประมาณปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน มาทางวัดได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้านมาเจรจากันอีกครั้ง เกี่ยวกับเหตุผลการต่อต้านเขื่อนกาลนท่าและการตัดถนนเชื่อต่อระหว่างไทย- พม่า เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องอุตสาหกรรม โดยเหตุผลหลักๆ คือ ไม่อยากทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีการเพราะปลูก ทำไร่ ทำกันมานาน ซึ่งจากการเจรจาดังกล่าวก็ช่วยให้ตำรวจและประชาชนเข้าใจกันมากขึ้น แต่ในส่วนข้อพิพาทระหว่างITD และชาวบ้านยังมีอยู่ ทางบริษัทพยามยามใช้เล่ห์กลอ้างข้อมูลเป็นเท็จจนมีชาวบ้านร่วมลงชื่อเห็น ด้วยกับโครงการประมาณ 50 คน แต่อีก 375 คน ยังคงต่อต้าน
“เล่ห์กลของตัวแทนITD คือ ไม่ใช่แค่การกดดันชาวบ้าน แต่ยังเคยใช้วิธีถึงขั้น ฟ้องร้องพระต่อเถรสมาคม ของพม่า โดยอ้างว่าอาตมามีประพฤติไม่เหมาะสม แต่ทางเถรสมาคมเข้าใจในบทบาท เลยไม่มีการเอาเรื่องใดๆ ในขณะที่อาตมาเองก็เป็นหนึ่งในกรรมการของเถรสมาคมด้วย สิ่งที่อยากให้ชาวบ้านเข้าใจ คือ อยากให้หวงแหนบ้าน และพื้นที่ทำกินของตน ซึ่งหากมีใครมาปล้น มาแย่งก็ต้องออกตัวปกป้อง” พระเปียวยา กล่าว
ด้านนายอูลาเซ็น ชาวบ้านกาลนท่า กล่าวว่า ITD พยายามเสนอสร้างโรงเรียนใหม่ ทันสมัย สะอาด สร้างบ้านใหม่ ขอให้ชาวบ้านยอมย้าย แต่สิ่งหนึ่งที่ ITD ต้องทราบ คือ พวกตนมีอารยธรรมและมีโรงเรียนที่อบอุ่นแล้ว จึงไม่กลัวและไม่หลงกลไม่ว่าจะเข้ามารูปแบบใด เพราะพวกตนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องหมู่บ้านและทรัพยากร ทุกคนในหมู่บ้านศรัทธาและเชื่อในแนวคิดและการเป็นผู้นำของพระเปียวยา รวมทั้งเชื่อในการรักษาความเป็นกาลนท่าด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ยอมย้าย และไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนและถนนดังกล่าว