ชี้ทำลายกระบวนการสันติภาพ ทำให้ยิ่งสู้รบหนัก-หวั่นการละเมิดสิทธิ มนุษยชนรุนแรงขึ้น
วันที่ 29 ตุลาคม 2556 กรุง ย่างกุ้ง เครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma Rivers Network) ซึ่งมีสมาชิกจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ ได้ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังจากร่วมประชุมหารือกัน โดยอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลพม่า และบริษัทไทยและจีนระงับ แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากจะทำลายกระบวนการสันติภาพในพม่าซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการการ เจรจาระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับรัฐบาลพม่า
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม ที่กรุงย่างกุ้งได้มีการจัดเวทีสิ่งแวดล้อมของนักเคลื่อนไหว และตัวแทนชุมชนจากไทย พม่า และจีน กว่า 40 คน มีสื่อมวลชนพม่าทั้งสื่อของรัฐและสำนักข่าวต่างๆ เข้าร่วมกว่า 40 คน นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์จัดเวทีเพื่อแสดงจุดยืน เพื่อคัดค้าน เขื่อนที่กรุงย่างกุ้ง
แถลงการณ์ระบุว่าองค์กรสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน จากรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา และรัฐมอญ ได้ทำงานติดตามแผนการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน โดยเฉพาะ 6 โครงการในพม่ามาเป็นเวลานับสิบปี พบว่าโครงการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งขายให้แก่ ประเทศไทยและจีน แต่จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย ทั้งๆ ที่ยังมีความขัดแย้งและสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลัง ชาติพันธุ์ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินทำให้เกิดการเพิ่มกองกำลังทหาร ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยกองทัพพม่า ตัวอย่างหนึ่งคือโครงการเขื่อนหนองผา ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ในพื้นที่กองกำลังโกก้าง ซึ่งเกิดการปะทะกันทำให้ประชาชนในรัฐฉานต้องอพยพหนีภัยความตายไปยังชายแดน จีนกว่า 30,000คน ทั้งๆ ที่กลุ่มโกก้างทำข้อตกลงหยุดยิงไว้แล้ว
“ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพพม่าเพิ่มกำลังในพื้นที่ของกองกำลังไทใหญ่ (SSA-North) ตามแนวลำน้ำสาละวินที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนหนองผ่ ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพกว่า 2,000 คน นอกจากนี้ในพื้นที่ของกองกำลังไทใหญ่รอบๆ พื้นที่ซึ่งจะมีการก่อสร้างเขื่อนมายตง หรือท่าซาง ก็มีการปะทะอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการลงนามสัญญาหยุดยิงกับ เจ้ายอดศึกไปแล้ว หากประธานาธิบดีเต็งเส่งต้องการสร้างสันติภาพจริง ต้องหยุดเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินทันที” ” นายซายเคอแสง ชาวไทไหญ่ กล่าว
น.ส.หวังหย่งเฉิน จากกลุ่มนักข่าวสิ่งแวดล้อม Green Earth Volunteer กรุงปักกิ่ง ซึ่งติดตามการพัฒนาแม่น้ำสาละวินในจีน หรือแม่น้ำนู่เจียง มากว่า 10 ปี กล่าวว่าตนเองและเพื่อนสื่อมวลชนพยายามทำงานเพื่อสื่อสาร เรื่องราวชาวบ้านจากแม่น้ำแห่งนี้ซึ่งมีความงดงามทางธรรมชาติ และมีคุณค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน ประเทศจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่เราอยากให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในวิถีชีวิตด้วยเช่นกัน