มื้อกาแฟของบ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ชาวบ้านกว่า 30 คนล้อมวงสนทนากับนักพัฒนาองค์กรเอกชน และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม จากจีน พม่า สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ที่ร่วมกิจกรรมประชุมความร่วมมือรณรงค์ต่อต้านโครงการเขื่อนสาละวิน ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งทางองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (IR) ได้จัดขึ้น เพื่อเดินหน้าในการรวบรวมข้อมูลและศึกษาสถานการณ์ลุ่มน้ำสาละวิน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคัดค้านเขื่อนที่จะมีการสร้างในลุ่มน้ำดังกล่าว จำนวน 6 แห่ง ในพื้นที่รัฐฉาน รัฐคะยา (คะเรนนี) และรัฐกะเหรี่ยง ผลิตไฟฟ้าได้รวม 15,000 เมกะวัตต์ ได้แก่ เขื่อนสาละวินตอนบน หรือกุ๋นโหลงเขื่อนมายตง หรือเขื่อนท่าซาง เขื่อนหนองผา เขื่อนมายตอง (บนแม่น้ำสาขา) และเขื่อนยวาติ๊ดเป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทจากพม่าไพโรจน์
พนา ไพรสกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลุ่มน้ำสาละวิน เล่าถึงพื้นฐานเกี่ยวกับ หมู่บ้านและความผูกพันว่า พื้นที่ทั้งหมดของสาละวิน ล้วนมีความสำคัญ ต่อการอยู่รอดของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำทั้งชาวพม่าและ ชาวไทย รวมถึงชาติพันธุ์ที่อยู่ระหว่างพรมแดนไทย พม่าด้วย แต่เรื่องราวของคนสาละวินกลับถูกมองผ่านโครงการขนาดใหญ่ แต่มีการวิจัยไทบ้าน และชุมชนกว่า 50 ชุมชนที่มีการศึกษาโดยชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และเครือข่ายพัฒนาเอกชนมากมายเข้ามาช่วยเหลือ ได้ศึกษาสถานการณ์ลุ่มน้ำสาละวินไว้มาก โดยพบว่า มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศอย่างมาก ช่วยให้คนลุ่มน้ำสาละวินมีอาชีพหลากหลายที่มีทรัพยากรสมบูรณ์
อาชีพทั่วไปคือ ประมงลุ่มน้ำสาละวินที่สร้างรายได้ถึง 5,000-30,000บาทต่อคนต่อปี ขณะที่อาชีพปลูกพืชลุ่มน้ำสาละวินก็ยังคงเฟื่องฟู มาหลายรุ่น ทั้งการ ปลูกแตงโม ยาสูบ และข้าว ไร่ สิ่งเหล่านี้ คือ ชีวิต คือ ลมหายใจของคนลุ่มน้ำสาละวินซึ่งเมื่อเทียบกับคนเมืองแล้วอาจดูเป็นรายได้ที่ไม่คุ้มค่า หรือเป็นวิถีชีวิตที่ดูห่างไกลความเจริญ แต่ชาติพันธุ์ทุกที่ ซึ่งอาศัยอยู่ริมน้ำสาละวินมานานย่อมรู้ดีว่าทั้งหมด คือ ประโยชน์ทางทรัพยากรที่มิอาจหาอะไรแทนได้
“ยังไง ผมและชาวบ้านยืนยันเหมือนเดิมว่า ไม่มีทางปล่อยให้ใครมาทำร้ายสาละวิน เราจะต่อสู้ เพื่อสิทธิของพวกเรา และต่อสู้เพื่อการปกป้องผืนป่าสักทองขนาดใหญ่แห่งนี้ให้ถึงที่สุด” ไพโรจน์ กล่าว แล้วในเวลาต่อมา ข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อนก็ได้เข้ามาให้ชุมชนโดยรอบ เริ่มกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมากลูเหย่ บี ระบุว่า แต่ละปี มีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) พยายามเข้ามาในหมู่บ้าน ปีละ 3-4 ครั้ง เข้าใจว่าเป็นการเข้ามาเพื่อสำรวจสถานการณ์การสร้างเขื่อนในสาละวิน ชาวบ้านไม่ไว้ใจกลุ่มเจ้าหน้าที่ จึงได้จัดเวรยามกันเฝ้าดูสถานการณ์ รวมทั้งทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อประกาศสู่สาธารณะให้รับรู้ว่า ชาวบ้านไม่ต้องการเขื่อนใด ๆ เช่น การจัดกิจกรรมรณรงค์วันหยุดเขื่อนโลกทุกปี โดยกะเหรี่ยงทุกคนที่อาศัยอยู่ริมน้ำสาละวิน ทั้งฝั่งไทย และพม่า ร่วมมือกันจัดขึ้นทุกปี
“เขาบอกจะสร้างเขื่อนผลิตไฟ เราคิดว่าไม่จำเป็น เราใช้โซลาร์เซลล์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหาไฟฟ้าอื่น เพราะพวกเราใช้กันไม่มาก เรารักป่าสัก เราเลือกจะหาปลาในพื้นที่ แน่นอนว่าไม่รวยมากแต่เราภูมิใจที่เกิดมา มีแม่น้ำสาละวิน และมีป่าที่สมบูรณ์ และอยากให้คนที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนทั้งประเทศจีน ประเทศไทย ประเทศพม่า เข้าใจถึงความผูกพันที่มี อยากให้สังคมรู้ว่าเราไม่มีใครอยากย้ายบ้าน” ลู เหย่ บี ระบุจากข้อมูลจากแม่น้ำนานาชาติ ระบุว่า แม่น้ำสาละวินมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 13 กลุ่ม อาทิ นู ลีซู ตู่หลง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ปะโอ คะเรนนี มอญ แต่ขณะนี้ภัยที่กำลังเข้ามาคุกคามชีวิตของผู้คนและระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน คือ โครงการเขื่อนที่กว่าทศวรรษที่ผ่านมามีการวางแผน ทั้งหมดถึง 13 โครงการ แบ่งเป็นในเขตประเทศจีน 7 โครงการ และอีก 6 โครงการบนลุ่มน้ำทางตอนล่าง ในพม่า และชายแดนไทย-พม่า แต่สาธารณะรับรู้เรื่องภัยดังกล่าวน้อยมาก
ด้าน นายอุขิ่น มอง เทย์ ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ด้านพลังงานทางเลือกประเทศพม่า กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว โครงการพัฒนาสร้างเขื่อนดังกล่าว เป็นโครงการที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนพม่าส่วนมากของประเทศเลย เพราะคนส่วนมากเป็นชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำสาละวิน เป็นชาติพันธุ์ที่พึ่งพาอาศัยพลังงานทางเลือก โดยการใช้ฟาง ฟืน เป็นส่วนมากและพวกเขาก็ยังต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงจากการปะทะของทหารพม่า และกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ด้วย ดังนั้นการจะเข้ามารับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแทบไม่มี
“วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำสาละวิน ฝั่งไทยไม่ได้ต่างจากชาติพันธุ์อื่น ในพม่า แต่โชคดีที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการลี้ภัย อย่างไรก็ตามการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนลุ่มน้ำสาละวิน ขณะนี้ยังคงยากอย่างมาก เพราะการสร้างเขื่อนจะเกิดขึ้นในฝั่งพม่าก็จริง แต่คนพม่าเข้าถึงข้อมูลและรับทราบเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้อยมาก หลายครั้งที่องค์กรพัฒนาเอกชนในพม่า พยายามเข้าไปให้ความรู้ แต่ยังไม่กว้างขวางพอ จึงคิดว่าการเร่งรัดในเรื่องรวบรวมข้อมูลทั้งสองฝ่ายเพื่อนำเสนอผลกระทบออกสู่สาธารณะ และ พัฒนาไปสู่การรณรงค์ ต่อต้านระหว่างประเทศ” มอง เทย์ กล่าวในอีกมุมมองหนึ่งที่ประเทศไทย ในฐานะผู้ลงทุนจะต้องให้ความสำคัญ
ด้าน ดร.รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเคยทำวิจัยในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ จำนวนมาก เช่น “โลงผีแมน” ที่เป็นโลงไม้สักที่ชาวไทยใหญ่ใช้เพื่อทำพิธีศพในอดีต อายุนับพันปีที่พบในลุ่มน้ำสาละวิน และเครื่องมือหิน กะเทาะ อายุประมาณ 500 ปี หลายชิ้น เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เคยมีอดีตที่เก่าแก่ ไม่แน่อาจจะเชื่อมโยงเข้ากับชุมชนสาละวินฝั่งพม่าได้ ซึ่งหากมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ดร.รัศมี ย้ำว่า กรณีที่โครงการสร้างเขื่อนลุ่มน้ำสาละวินที่อาจเกิดขึ้น ก็เป็นที่น่าห่วงอย่างมาก หากไม่มีการศึกษาและนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ในด้านโบราณคดี ทั้งที่ ในเงื่อนไขของการรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA กรณี ที่บริษัทผู้ลงทุนต้องการกู้เงินธนาคารโลก (World Bank) ก็ระบุชัดในมาตรฐานสากลว่าให้มีการ ศึกษาผลกระทบก่อนการสร้างเขื่อนในด้านโบราณคดีด้วย เพราะสามารถยืนยันคุณค่าของพื้นที่ได้ทุกด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ชนเผ่า วัฒนธรรม ประเพณี
แน่นอนว่า หากพบหลักฐานเพิ่มเติมในลักษณะคล้ายกันทั้งลุ่มน้ำสาละวิน ย่อมเป็นจุดเริ่มสำคัญที่จะนำไปสู่การศึกษาต่อยอดเรื่อง อารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตัวอย่างนี้ในอียิปต์เคยเกิดขึ้น โดยแรกเริ่มที่รัฐบาลจะสร้างเขื่อนในพื้นที่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านมีการต่อต้านเพราะพบหลักฐานของฟาโร เป็นพยานวัตถุที่สำคัญในการยุติโครงการและพัฒนาให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในเวลาต่อมานับเป็นอีกโอกาสที่ชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน ได้มีโอกาสถ่ายทอดถึงวิถีชีวิตและความผูกพันของผู้คนต่อแม่น้ำสายสำคัญอย่าง สาละวินสู่บุคลากรด้านวิชาการและสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขารู้ว่า ยังมีเครือข่ายความร่วมมืออีกหลายภาคส่วนพร้อมรับฟังปัญหา ซึ่งช่วยให้มีแรงจะต่อสู้ปกป้องสาละวินต่อไป แม้จะยังไม่ทราบอนาคตที่แน่ชัดว่าเขื่อนจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่วันนี้เสียงของชาวบ้านก็ดังขึ้นอย่างน้อยก็เป็นอีกบทบาทที่ได้แสดงความรักต่อสาละวิน.
————
เดลินิวส์ 27 ตุลาคม 2556
.