
สำนักข่าว Mizzima รายงานวานนี้ 22 สิงหาคม 2566 ว่า แม้ทางการพม่าจะถูกหลายประเทศคว่ำบาตร แต่พม่ายังคงส่งออกไม้สักและทำธุรกิจค้าไม้กับ 41 บริษัทจาก 52 ประเทศ โดยระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พม่ามีรายได้จากการค้าไม้กว่า 37 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ กระทรวงป่าไม้และเกษตรของพม่าได้ระบุว่า พม่านั้นได้ส่งออกไม้สักจำนวน 2,610 ตัน และสามารถทำเงินได้ถึง 14 ดอลลาร์สหรัฐแค่เฉพาะในครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยประเทศหลักๆที่ซื้อไม้สักจากพม่าได้แก่สิงคโปร์ ไทย อินเดีย มาเลเซียและจีน โดยพม่าได้ติดต่อและทำธุรกิจค้าไม้กับ 41 บริษัทจาก 52 ประเทศ
ขณะที่ Forest Trends ในสหรัฐฯรายงานว่า สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และแคนาดา นำเข้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ของพม่ามีมูลค่าถึง 90.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าก็ตาม โดยจีนเป็นผู้นำเข้าไม้จากพม่าเป็นรายใหญ่ที่สุดมีเข้ามูลค่าเกือบ 280 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยอินเดียมูลค่า 96 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยมูลค่ากว่า 37 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่นมูลค่า 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์มูลค่า 10.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และออสเตรเลียประมาณ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ
Forest Trends ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งระบุว่าแม้ประเทศตะวันตกจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาร์ แต่ Myanma Timber Enterprise (MTE) ยังคงส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าในประเทศต่อไป โดยในช่วงสองปีหลังมานี้ นับตั้งแต่รัฐประหาร ประเทศพม่า
มีรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการส่งออกไม้เหล่านี้ และยังพบว่าร้อยละ 17 ถูกส่งออกไปยังประเทศที่บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาร์ และยังพบว่า ราคาไม้ได้เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์หลังจากการคว่ำบาตร
ขณะที่รายงานที่ออกโดยสำนักงานสืบสวนสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบุว่า พม่าส่งออกไม้สักจำนวน 2,500 ตันในช่วง 2 ปีนับตั้งแต่รัฐประหารด้วยเช่นเดียวกัน
———-