Search

จากผากั้นสู่เทลอาวีฟ กับทางที่เลือกของหญิงคะฉิ่น  

แสงหร่อ มารัน วัย 29 ปี ทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเทลอาวีฟ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอิสราเอล แต่เธอต้องตกงานหลังจากกลุ่มฮามาสโจมตีเมืองทางใต้แห่งนี้ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 คน

“ฉันเคยทำงานอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน แต่หลังเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาก็ไม่มีงานทำ และเริ่มกังวลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของฉันเองแล้ว” แสงหร่อ มารัน เผยกับสำนักข่าวพม่า DVB

เธอเกิดที่เมืองผากั้น เติบโตที่เมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ประเทศอิสราเอลเมื่อ พ.ศ. 2561 เพื่อศึกษาต่อด้านความเป็นผู้นำและการเป็นผู้ประกอบการที่สถาบันฝึกอบรมนานาชาติด้านการเกษตร ในเขตอราวา หรือ Arava International Center for Agriculture Training (AICAT)

“เทลอาวีฟ ซึ่งฉันอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แม้อยู่ค่อนข้างไกลจากฉนวนกาซา แต่ฝ่ายฮามาสยิงจรวดและขีปนาวุธมา (อิสราเอล) ทุกวัน” หญิงสาวคะฉิ่น ยังกล่าวว่า รู้สึกปลอดภัยที่บ้านในเทลอาวีฟ เนื่องจากบ้านทุกหลังมีที่หลบระเบิดหรือห้องให้ซ่อนตัวเมื่อมีสัญญาณเตือนภัยแจ้งเตือนว่ามีเพลิงไหม้ แต่ในประเทศพม่า ไม่มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยหรือที่หลบภัยเช่นนี้

2 วันหลังจากกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล ในวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ค่ายผู้พลัดถิ่นภายใน เมิงไหล่ เคด ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองไลซา บริเวณชายแดนพม่า-จีน ถูกโจมตีโดยกองทัพพม่า พลเรือน 29 คนถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้

“(ที่พม่า) ในเมืองไลซา ประชาชนกำลังนอนหลับเมื่อระเบิดถูกทิ้ง และมันได้คร่าชีวิตของพวกเขา” แสงหร่อ มารัน กล่าว

แม้ไม่มีตัวเลขจำนวนพลเมืองชาวพม่าที่อาศัยหรือเรียนอยู่ที่ประเทศอิสราเอล แต่แสงหร่อ คาดว่า น่าจะมีพลเมืองจากประเทศของเธออยู่ราวอย่างน้อย 400 คน แม้ไม่มีรายงานว่า พลเมืองชาวพม่าถูกสังหารหมู่ในอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา หรือไม่มีรายงานว่าชาวพม่าเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศและการทิ้งระเบิดในฉนวนกาซาโดยอิสราเอล ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเกือบ 4,000 คน นับตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่มีรายงานว่า มีชาวต่างชาติกว่า 200 คน จาก 20 ประเทศได้รับการยืนยันแล้วว่าเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในนี้แล้ว ซึ่งในจำนวนนี้หลายคนถือสัญชาติอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีพลเรือนอีก 200 คนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันอยู่ในกาซา ซึ่งมีชาวอเมริกัน 2 คนที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ชาวไทยจำนวน 31 คน ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้ และอีก 19 คนยังคงถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในกาซา ทางการไทยได้อพยพคนงานและนักศึกษาจำนวน 244 คนออกจากอิสราเอลเมื่อวันที่ 16 ต.ค. แสงหร่อเชื่อว่า คนงานไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการอพยพโดยรัฐบาลไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กับฉนวนกาซา เธอเชื่อว่าชาวพม่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ เช่น เทลอาวีฟ เช่นเดียวกับเธอ ซึ่งค่อนข้างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. สถานทูตพม่าในอิสราเอลได้ประกาศว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือผ่านหมายเลขติดต่อ และเรียกร้องให้ชาวพม่าทั้งหมดพักอยู่ในสถานที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรายงานสถานการณ์เพิ่มเติมจากสถานทูตพม่า

“จริงๆ แล้วเราคาดหวังว่าจะได้รับข้อมูลจากพวกเขาเป็นที่แรก เราคงจะยินดีมากหากพวกเขาทำเช่นนั้น” เธอกล่าว ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเงาฝ่ายต่อต้าน หรือ NUG ก็ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ของชาวพม่าในอิสราเอล

แสงหร่อกล่าวว่า เธอและเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ คงต้องดูแลตัวเองต่อไป และแม้ว่ากรุงเนปีดอจะเสนอเที่ยวบินส่งตัวกลับบ้านไปพบกับครอบครัวของเธออีกครั้ง แต่แสงหร่อกล่าวว่า เธอยังอยากจะอยู่ในอิสราเอลต่อไป  เนื่องจากเชื่อว่าในเทลอาวีฟปลอดภัยสำหรับเธอมากกว่าในบ้านเกิดของเธอ ทั้งในเมืองผากั้นหรือเมืองมิตจีนาซึ่งการต่อสู้ระหว่างกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) และกองทัพพม่าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2564 โดยเมื่อ 1 ปีที่แล้ว การโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าในงานคอนเสิร์ตครบรอบของ KIA  เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2022 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 60 ราย

แสงหร่อ กล่าวว่า เพื่อนร่วมชาติของเธอที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาว่า อยากจะอยู่อิสราเอลต่อไปเช่นเดียวกัน มากกว่าที่จะเสี่ยงกลับบ้านไปสู่อนาคตที่ไม่แน่นอน แม้ว่าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลสามารถขึ้นเครื่องบินและกลับบ้านไปหาครอบครัวได้อย่างง่ายดาย แต่พวกเขาเชื่อว่า ไม่มีทางเลือกนี้สำหรับพลเมืองจากพม่า เนื่องจากพวกเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเดินทางกลับไปถึงย่างกุ้ง

การบังคับจับกุม การทรมาน และโทษจำคุกตามอำเภอใจ กระทำโดยทหารพม่านับตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจในกรุงเนปีดอว์  โดยกองทัพได้ล้มล้างรัฐบาลที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และจำคุกที่ปรึกษาแห่งรัฐ นางอองซาน ซูจี และประธานาธิบดีวินมิ้น สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีพลเรือนในพม่าถูกสังหาร 4,152 คน และมากกว่า 25,000 คน ถูกจับกุมตั้งแต่เมื่อปี 2564 และจนถึงขณะนี้ มีประชาชนในพม่าจำนวน 19,603 คน ยังคงถูกคุมขังโดยกองทัพพม่า

“สถานการณ์สำหรับเราในฐานะพลเมืองพม่าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์อื่นๆ การกลับพม่าท่ามกลางวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เราต้องหนีไปยังประเทศอื่นๆ เนื่องจากความขัดแย้ง” แสงหร่อ มารัน กล่าว

ที่มา Democratic Voice of Burma (DVB)

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →