วันที่ 25 เมษายน 2567 สื่อออนไลน์พม่า Khit Thit Media เผยแพร่ข่าวเนื้อหาว่าสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) ระบุว่า พ.อ.ชิตตู ผู้นำกองกำลัง BGF เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจและอันตราย พร้อมทั้งสั่งการให้มีการตรวจสอบทรัพย์สิน ธุรกิจ แสดงรายการข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับลำดับวงศ์ตระกูล โดยเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกองทัพไทยและ SAC ในการควบคุมและจัดการสถานการณ์กะเหรี่ยง
Khit Thit Media รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวในกรุงเนปีดอว์ว่า หัวหน้ากองกำลังรักษาชายแดนกะเหรี่ยง พ.อ.ชิตตู ซึ่งอยู่ภายใต้การบัญชาการของสภาทหารพม่า SAC ถูกกำหนดให้เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจและเป็นอันตราย และทรัพย์สินของเขา โดยกองบัญชาการทหารพม่าที่กรุงเนปิดอว์ กำลังรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจและลำดับวงศ์ตระกูล
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567 กองกำลัง BGF ที่นำโดยพ.อ.ชิตตู ได้ประกาศลาออกจากการเป็นกองกำลังภายใต้กองทัพพม่า และกลับเข้าร่วมกับกองกำลังกะเหรี่ยง โดยอ้างว่าตนจะไม่รับผลประโยชน์รวมทั้งเงินเดือนจาก SAC อีกต่อไป โดยเขากล่าวว่าการที่ BGF แยกตัวออกจากกองทัพพม่า ตนจะทำงานเพื่อสันติภาพในรัฐกะเหรี่ยงไม่ว่าตนจะเลือกฝ่ายไหนก็ตาม
Khit Thit Media รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าววงใน ว่ากำลังตรวจสอบบัญชีธนาคารและกระแสการเงินของชิตตูว่ามาจากไหนบ้าง ญาติๆ อาศัยอยู่อย่างไร มีหลักฐานอะไรบ้างทางฝั่งไทย ทั้งนี้ SAC ได้ร่วมมือกับกองทัพไทยมาโดยตลอดเพื่อให้การเปิดการค้าชายแดนให้เป็นไปตามปกติอีกครั้ง ควบคุมและรักษาสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า
สื่อพม่าระบุอีกว่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 กองกำลังรักษาชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (BGF) ภายใต้การนำของชิตตู แยกออกจากกองทัพกะเหรี่ยง DKBA และได้จัดตั้งกองพันทั้งหมด 13 กองพัน จากนั้นในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (BGF) โดยมี 11 กองพัน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกองทัพพม่า
ขณะที่ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการด้านความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กระบุว่า ทหารพม่ากำลังคิดค้นกลยุทธ์เข้าตีเมียวดีโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. ใช้วิธีข่มขู่ว่าจะทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจหรือเผาทิ้งทั้งเมือง กล่าวคือ เมื่อกลุ่มต่อต้าน/กลุ่มชาติพันธุ์ไล่ตีทหารพม่าและยึดเมืองได้แล้ว ทหารพม่าก็จะใช้กำลังรบทางอากาศและอาวุธหนักอื่นๆ ยิงถล่มเมืองให้พังทลายลงไปเลย (เข้าลักษณะถ้าฝ่ายฉันไม่ได้ ฝ่ายอื่นก็ต้องไม่ได้ เล่นแบบไม่มีที่ทางทำมาหากินแสวงหาผลประโยชน์เศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่ไปเลย) ในเวลานี้ กะเหรี่ยง KNA ของชิตตู่ ถูกทหารพม่าขู่ว่าจะทำลายเมืองชเวโก๊กโก่ เมืองนี้อยู่ใกล้เมียวดี เป็นแหล่งรายได้มหาศาลของกลุ่มชิตตู่และกลุ่มทุนจีนเทา และดูเหมือนว่าถ้าให้เลือกระหว่างความรักชาติในหมู่ชาวกะเหรี่ยงกับการธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์มหาศาล ณ ขณะนี้ กลุ่ม KNA น่าจะเลือกแบบหลัง จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับ KNU และฝ่ายต่อต้านว่าจะโน้มน้าว KNA ให้กลับมาเป็นพันธมิตรร่วมได้อย่างไร หรือจะต้องเปิดศึกกับทั้งทหารพม่าและ KNA หรือจะต้องเพลาๆการเคลื่อนไหวโจมตีทหารพม่าลงบ้างเพื่อรอประเมินสถานการณ์ต่อไป
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า อันที่จริง ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น กองทัพพม่าก็ขู่กองทัพคะฉิ่นอิสระ KIA ว่าหากคิดจะยึดเมืองโมมวก ทหารพม่าก็จะเผาทิ้งเมืองนี้เหมือนกัน โมมวก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดี ตรงทิศใต้ของมิตจิน่า เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น เคสที่โมมวกกับเคสที่เมียวดี-ชเวโก๊กโก่ สามารถสะท้อนกลยุทธ์ข่มขู่แบบเผาเมืองของทหารพม่าได้ชัดเจน
นักวิชาการด้านความมั่นคงกล่าวว่า เป็นธรรมดาที่ฝ่ายวางแผนทางทหารจะออกแบบยุทธวิธีการรบโดยย้อนกลับไปดูความสำเร็จของปฏิบัติการทางทหารในอดีตแล้วจึงนำมาปรับปรุงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ศึกชิงคืนเมียวดีล่าสุด ทหารพม่าใช้แผนปฏิบัติการชื่อออง ไซยะ (พระเจ้าอลองพญา) เน้นระดมพลและรถถังจากมะละแหม่งแล้วเข้ายึดเมืองกอกะเร็กและเคลื่อนทัพสู่เมียวดี พร้อมๆ กับใช้เครื่องบินรบ MIG 29 และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ MI 17 เข้าถล่มทัพ KNU และ PDF
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่าในปี ค.ศ.1997 กองทัพพม่าเคยใช้แผนปฏิบัติการธุยะ (Thuya Operation) ในการโจมตีแบบวงกว้างในพื้นที่ดูปลายาโดยแบ่งทัพออกเป็น 3 สาย ทัพแรก เคลื่อนพลเข้าเมียวดีและลงมาตีค่ายกะเหรี่ยงที่ผาลูแล้วเดินทัพเลียบชายแดนไทยเข้าตีฐาน KNU อื่นๆที่ใกล้บริเวณที่แผ่นดินพม่ายื่นลึกเว้าเข้ามาในเขตไทยแถบรอยต่อระหว่างอำเภอพบพระและอุ้มผาง ทัพที่สอง เคลื่อนกำลังเข้ามาคุมชายแดนทางใต้แถวใกล้ๆกับอำเภออุ้มผาง พร้อมโอบล้อมชาวบ้านและทหาร KNU ไม่ให้หลบหนีเข้ามาในเขตไทย ส่วนทัพที่สาม เข้าโจมตี KNU ตรงหุบเขาดาวนะ (หรือเทือกเขาถนนธงชัยตะวันตกตรงส่วนที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมียวดีลงมา) จนทำให้ทหาร KNU ในละแวกนั้นประกาศยอมแพ้และมีทหาร KNU ถูกฆ่าตายจำนวนมาก
“เมื่อวานนี้ ผมได้รับข่าวสารการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับ KNUและฝ่ายต่อต้านที่บริเวณบ้านห้วยแดน กิ่งอำเภออะซิน ตรงข้ามบ้านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และบริเวณบ้านผาลู ตรงข้ามบ้านแม่โกนเกน ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ลงใต้มาใกล้ๆกับอำเภอพบพระ) รวมถึงที่บ้านทิบาโบ ตรงข้ามบ้านหมื่นฤาชัย ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก นั่นแสดงว่าทหารพม่าไม่ได้ขนกำลังในแนวตะวันตก-ตะวันออก คือ จากมะละแหม่ง-กอกะเร็ก-เมียวดี เพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้วิธีตีกวาดเป็นแนวยาวจากเมียวดีในส่วนที่ใกล้กับอำเภอแม่สอดลงมาถึงพื้นที่แถวๆตรงข้ามอำเภอพบพระและอุ้มผางด้วย”รศ.ดุลยภาค ระบุ
รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า ขณะที่การรบระหว่างทหารพม่ากับฝ่ายต่อต้านตรงหุบเขาดาวนะก็ดำเนินต่อไปเช่นกัน ฉะนั้น แผนการรบของทหารพม่าจึงเป็นภาพประกบกันระหว่างแผนปฏิบัติการออง ไซยะ ครั้งล่าสุดกับแผนการรบที่เคยสำเร็จมาแล้วในปี ค.ศ.1997 และเอาเข้าจริงๆ ถ้าย้อนไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ก็มีข่าวทหารพม่าปะทะกับ KNU และฝ่ายต่อต้านแถวๆพบพระ-อุ้มผางเหมือนกันซึ่งสะท้อนความสืบเนื่องของสัมฤทธิผลทางทหารของกองทัพพม่าในปี ค.ศ. 1997 ที่น่าจะอยู่ในกระบวนการวางแผนทางยุทธการของแม่ทัพนายกองพม่าในรัฐกะเหรี่ยงจนถึงทุกวันนี้
“แต่ศึกนัดนี้ ทหารพม่าจะได้รับชัยชนะทางทหารหรือไม่ หรือ KNU กับ PDF อาจพลิกเกมมีชัยชนะเหนือทหารพม่าแบบเด็ดขาด หรือจะมีฉากทัศน์ใหม่ๆผุดพุ่งเข้ามาอีก เราคนไทยก็ต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตากันเลยทีเดียว ช่วงนี้ ทางการไทยควรเฝ้าระวังปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยโดยโฟกัสทั้งที่อำเภอแม่สอดและที่อำเภอพบพระกับอุ้มผาง ตลอดจนอำเภออื่นๆในจังหวัดตาก หรือแม้กระทั่งแม่ฮ่องสอนและกาญจนบุรีด้วย” รศ.ดุลยภาค กล่าว
————–
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช