เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 สำนักข่าว SHAN รายงานว่า ประชาชนในเมืองล่าเสี้ยว ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า เริ่มทยอยเดินทางกลับบ้านภูมิลำเนา หลังสงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังโกก้าง MNDAA สงบลงชั่วคราว อย่างไรก็ตามประชาชนที่เดินทางกลับบ้านกำลังประสบปัญหาอาหารราคาแพง และยังหวั่นวิตกว่ากองทัพพม่าจะนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในเมือง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองกำลังโกก้าง MNDAA เริ่มจัดระเบียบและวางโครงการการบริหารในพื้นที่แล้ว
ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ราคาอาหารในพื้นที่นั้นแพงขึ้นเป็น 3 เท่า เนื่องจากอาหารยังขาดแคลน เช่นไม่มีคนปลูกผักหรือนำผักผลไม้มาขาย และเศรษฐกิจในพื้นที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนยังต้องพึ่งพาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันนั้นสูงมาก เช่น ค่าอาหารแต่ละมื้อนั้นอยู่ที่ 40,000 – 50,000 จั้ต ถึงแม้ประชาชนจะตัดสินใจเดินทางกลับบ้านแต่ก็ยังกังวลว่าอาจจะยังเกิดสงครามได้อีก หากกองทัพพม่าต้องการที่จะยึดเมืองล่าเสี้ยวคืน โดยประชาชนประสบความยากลำบากหากต้องการอยู่เมืองล่าเสี้ยวในระยะยาว เนื่องจากเส้นทางเชื่อมสู่เมืองล่าเสี้ยวนั้นถูกตัดขาดทั้งหมดแล้ว
อีกด้านหนึ่งสื่อไทใหญ่รายงานโดยอ้างอิงจากองค์กร The Institute for Strategy and Policy – Myanmar (ISP – Myanmar) ระบุว่า โครงการพัฒนาของจีน 9 แห่ง จากทั้งหมด 19 แห่งที่ดำเนินโครงการอยู่ในพม่า ขณะนี้อยู่ในการควบคุมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกองทัพเพื่อประชาชน PDF แล้ว เช่น เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่องหนองฟ้า โรงงานผลิตน้ำตาล ชินฉ่วยหลี่หมายเลข 2 โครงการสะพานห้วยกึ้ดและสร้างทางหลวงใหม่ โครงการท่อส่งก๊าซและน้ำมันพม่า – จีน ที่ตั้งอยู่ทางเหนือรัฐฉาน รวมไปถึง โครงการ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ ” หรือ ILSTC และเส้นทางรถไฟหมู่เจ้ ทางเหนือของรัฐฉานไปเมืองมัณฑะเลย์พื้นที่ราบพม่าเป็นต้น
ทั้งนี้การเยือนพม่าของนายหวังอี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้พบหารือกับผู้นำพม่าและทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะร่วมกันคุ้มครองผลประโยชน์โครงการพัฒนาต่างๆของจีนในพม่า รวมทั้งจะปกป้องประชากรจีนและเร่งสร้างความมั่นคงตามชายแดนพม่า – จีน
อีกด้านหนึ่ง สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า โรงงานเหล็กที่ดำเนินการโดยทหารพม่า ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธต้องหยุดชะงัก หลังจากที่ถูกกองทัพเพื่อประชาชน (PDF) โจมตีในตำบลมินฉั่น เขตมัณฑะเลย์ โดยโรงงานเหล็กแห่งนี้มีทหารพม่าประจำอยู่ราว 200 นายจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันความเสียหายได้