“เครื่องจักรเขาทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่เห็นเคยหยุดพักเลยนะ เราเองหลับไม่สบาย แต่ไม่รู้จะทำยังไง นี่แค่ปัญหาเรือปูนเท่านั้นนะ ยังไม่รวมโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเข้ามา และมีท่าเรือเพิ่มอีก คนทะเลเกาะปอต้องแย่ลงกว่านี้” เกษม กังแฮ บอกถึงปัญหาเรือใหญ่ถ่ายเทปูนซีเมนต์กว่า 10 ลำที่จอดกลางท้องทะเลอันดามัน เมื่อครั้งคณะสื่อมวลชนลงสำรวจสภาพปัญหาในเกาะปอ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ภาพเรือหาปลาลำเล็กลอยอยู่ในทะเลข้างบ้านของเกษม โดยฉากหลังเป็นเรือปูนลำมหึมา เป็นสิ่งที่คุ้นตาคนบนเกาะปอมานาน ไม่มีใครหาคำตอบได้ว่าเรือลำใหญ่นั้นใครคือเจ้าของและใครควบคุมการดำเนินงาน แต่สิ่งที่ชาวบ้านเจอเมื่อออกทะเล คือ เรือลำใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศรอบเกาะไปหลายอย่าง เช่น ทำให้เคยที่มักปรากฏตัวผิวน้ำเริ่มหายไป หอยชักตีนอันเลื่องชื่อของกระบี่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับปลาหลายชนิดที่เริ่มหายากขึ้น โดยชาวบ้านคาดว่าเป็นเพราะเสียงดังของเครื่องจักรที่รบกวนความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำก็เป็นได้
“เขาติดเครื่องเรือไว้ทั้งวันทั้งคืน เราสังเกตว่า เมื่อเรือลำนี้ย้ายไปอยู่เกาะลิบง นาน 6 เดือน สัตว์น้ำหลายชนิดจะกลับมาอาศัยในบริเวณเดิม ยกเว้นเคย ที่ไม่สามารถหาได้แล้ว พอเรือเข้ามาทำงานใกล้ๆเกาะปอ สัตว์ทะเลก็หายไปอีก เป็นอย่างนี้นานกว่า 3 ปีแล้ว” เกษม ย้ำในปัญหา
ลำพังเรือปูที่มีอยู่ขณะนี้ชาวประมงเกาะปอก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในทะเลและเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการทำประมงมากพอแล้ว ดังนั้นหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือเพิ่มเพิ่มขึ้นมาอีก คนที่หากินในอันดามันต้องเดือดร้อนและคัดค้านเป็นธรรมดา
มื้อกลางวันที่บ้าน“อับดลหลา ละโส่ย” พวกเราได้ชิมปูผัดสับปะหรด แกงคั่วปูและยำหอยโข่ง รสชาติยอดเยี่ยม เจ้าบ้านเล่าถึงสถานการณ์การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า เกาะปอเป็นชุมชนที่มากไปด้วยประมงพื้นบ้านซึ่งดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ท่ามกลางเกาะเหล็กๆ สงบ เงียบ กำลังจะกลายเป็นเส้นทางลำเลียงถ่านหิน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนจะสร้างท่าเทียบเรือในอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวจึงเริ่มรวมตัวทำป้ายคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะหวั่นเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งชาวเกาะปอมีบทเรียนจากกรณีเรือปูนในทะเลอันดามันมานานแล้ว
“แค่มีเรือใหญ่ๆ มาจอดขวางในทะเล ก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลนั้น น่าจะพอแล้วกับการรบกวนชุมชน เราไม่ได้ต่อต้านความเจริญแต่เรามองว่า ทางเลือกอื่นที่ไม่ทำร้ายคนท้องถิ่นมันมีหลายทาง อยากให้รัฐบาลเห็นใจเรา เกาะปอเองมีความสวยงามมากมาย บางปีก็มีนักท่องเที่ยวเช่าเรือมาค้างแรมในเกาะก็หลายครั้ง เราน่าจะเห็นความสำคัญส่วนนี้มากกว่าคิดโครงการที่ก่อกันตรายแบบถ่านหิน ชาวเลอย่างเราเกิดมาไม่นานก็ตายแล้ว ขออิสระ ขอชีวิตอันดามันไว้ให้คนรุ่นหลังบ้าง อุตสาหกรรมในไทยก็มีมากพอแล้ว อันดามันมหัศจรรย์จริงๆ ให้มีทะเลไทยสวย และมีชีวิตชีวาบ้าง” อับดลหลา เล่า
แม้เกาะปอจะเป็นแค่ทางผ่านมนการลำเลียงถ่านหินก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ยืนยันจะคัดค้านโครงการถ่านหินแทบทั้งเกาะ แต่พื้นที่ซึ่งน่ากังวลในขณะนี้เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของ กฟผ. คือ ความพยายามในการใช้เรือแพลำใหญ่เข้าสำรวจพื้นที่สร้างท่าเทียบเรือ หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เนื่องจากกลุ่มต่อต้านระบุว่า กฟผ.ไม่มีระบบการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ ก่อนการจัดเวทีรับฟังความเห็น และจากแรงต่อต้านนี้เองก่อเกิดเป็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนที่อำเภอเหนือคลอง เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ศักดิ์กมล แสงดารา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ระบุว่า สิ่งที่น่าห่วงในจังหวัดกระบี่ คือ สำหรับกรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือนี้ พื้นที่เกาะลันตาถือว่ามีความตื่นตัวสูง แต่อำเภอเหนือคลอง ย่านเกาะศรีบอยา เกาะเหลากา และหลายพื้นที่เช่น ตำบลคลองรั้ว ยังถือว่าเป็นพื้นที่ใหม่ โดยชาวบ้านยังไม่มีข้อมูลมากพอจะคัดค้าน กลุ่มต่อต้านในอำเภอเหนือคลองจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อไป
สำหรับข้อมูลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทางองค์กรกรีนพีช องค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกมีความห่วงใยต่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในประเทศไทยคือ ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษสูงที่สุด และเป็นตัวปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก มากที่สุดในโลก ขณะที่ทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์และงดงามอย่างมาก โดยในพื้นที่อำเภอเหนือคลองซึ่งเป็นจุดก่อสร้างท่าเทียบเรือนั้น ชาวบ้านยืนยันว่า มีสัตว์และพืชทะเลมากมากที่ควรอนุรักษ์ไว้ เช่น พะยูนทะเล เต่ากระ โลมา และหญ้าทะเล ล้วนแล้วแต่เป็นความสวยงามที่หาชมได้ยากในยุคปัจจุบัน
บาริ ตาวัน ชาวบ้านแหลมหิน อำเภอเหนือคลอง ย้อนเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ชาวบ้านกลุ่มต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือเผชิญหน้ากับกลุ่มสนับสนุนโรงไฟฟ้าว่า วันนั้นชาวบ้านระดมเงินทุนเพื่อเอาเรือประมงพื้นบ้านออกไปป้องกันหน้าทะเลโดยคาดหวังแค่ว่าให้ เรือลำใหญ่ที่มาสำรวจพื้นที่ถอยห่างไปจากทะเลท้องถิ่นเท่านั้น แต่กลุ่มสนับสนุนกลับข่มขู่สารพัด ชาวบ้านบางคนเกิดความพวาดกลัวแต่ไม่อาจปล่อยให้ท้องถิ่นถูกทำลายได้ จึงต้องผลัดกันเฝ้าเวรยามต่อเนื่อง
“เราไม่เอาถ่านหินไม่ใช่เพราะเราไม่เห็นด้วยกับระบบพลังงานนะ เราแค่ต้องการพลังงานสะอาด คนทะเลแถวนี้ยังกินปลา ยังกินกุ้ง กินหอยอยู่ ตอนนี้แค่เรือน้ำมันเตาที่ส่งต่อน้ำมันเข้าโรงไฟฟ้าที่ตำบลคลองขนานก็สร้างผลกระทบต่อการจับปลาให้ลดลงกว่า 50 % แล้ว หากถ่านหินเข้ามาอีก เราจะเอาอะไรกิน เราอยากให้ กฟผ.คิดให้รอบคอบ” บาริ กล่าวทิ้งท้าย
ชาวบ้านเหนือคลองรวมไปถึงชาวบ้านบนเกาะลันตาและบริเวณใกล้เคียง หวังว่าโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินจะยกเลิกไปพร้อมๆกับรัฐบาลชุดเก่า หลายคนถึงขนาดเดินทางมาร่วมชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลชุดเดิมถึงในกรุงเทพฯ เพราะหวังว่าจะขจัดความฉ้อฉลในแผนงานงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่แนบท้ายด้วยโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่
ไม่มีใครคิดว่าหลังจากไล่ผีปอบไปแล้ว วันนี้ชาวบ้านกำลังจะเจอผีร้ายตัวใหม่