เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย –แนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้” โดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริก เอแบร์ท เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการในการจัดตั้งองค์กรความรู้ด้านประวัติศาสตร์และระดมความคิดเห็นด้านการพัฒนาประวัติศาสตร์แรงงานในประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคม
นายทวิป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า หลังจากที่พิพิธภัณฑ์ฯได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 มีการพัฒนาองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งสื่อความรู้สมัยใหม่และการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อนำเสนอชีวิตและสถานการณ์ต่างๆเกี่ยวกับแรงงานในฐานะกระดูกสันหลังและผู้ขับเคลื่อนระบบโครงสร้างสังคมในด้านต่างๆ แต่จากการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการสรุปข้อดีข้อด้อยของพิพิธภัณฑ์ฯ หลายประเด็น เช่น มีจุดน่าสนใจ คือ เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวในอาเซียน ช่วยส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ภาคแรงงาน แต่มีจุดอ่อนคือ สถานที่คับแคบเนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมือง อีกทั้งปัจจุบันพบว่าแม้ทางสถานที่จะเปิดบริการหลายรูปแบบทั้ง จัดประชุมสัมมนา เป็นสถานที่ศึกษา และหารายได้จากการบริจาคทุนมากเพียงใด เงินทุนหมุนเวียนในแต่ละปียังคงมีสภาพคล่องที่ไม่ดีนัก สิ่งน่ากังวลก็คือ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะใช้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แปรสภาพไปเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกด้านอื่น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งระดมความคิดเห็นหาทางออกก่อนเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น
ด้านศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยาอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหลายคนที่เกิดยุคใหม่ หรือเกิดในยุคทุนมีอำนาจมาก อาจมองประวัติศาสตร์แรงงานล้าหลัง แต่สำหรับวงการนักวิชาการแล้ว ระบุว่า ในแง่ประวัติศาสตร์แรงงาน คือ เรื่องราวของโครงสร้างเล็กๆ ที่ก่อเกิดภาคธุรกิจ ภาคทุนนิยม หลายครั้งที่กลุ่มทุนมีการนำเสนอเรื่องราวการจัดการ การเติบโตของทุนในตระกูลใดตระกูลหนึ่งเพื่อยกย่องเชิดชูและนำเสนอประวัติศาสตร์ของการพัฒนาทุนในตระกูลตัวเอง โดยรวมนำเสนอความคิด หลักการ การเก็งกำไร และการสร้างรายได้ แต่ในแง่แรงงานค่าจ้างที่มีส่วนร่วมพัฒนาทุนกลับไม่เคยถูกบันทึก
“ผมเองเชื่อว่าทุกทุน ทุกธุรกิจมีแรงงานอยู่ ไม่ใช่แค่เกษตรกรเท่านั้น แต่แปลกมั้ย สังคมไทยปัจจุบัน คนส่วนมากไม่รู้เลยว่า ชนชั้นแรงงานมีการก่อร่างสร้างตัวอย่างไรบ้าง การกินอยู่และการรับค้าจ้างสอดคล้องกันมั้ย ทำไมชนชั้นแรงงานถึงถูกลืม ก็เพราะไม่มีองค์กรใดสร้างฐานความเข้าใจให้ประเทศ เคารพพวกเขา ไม่มีศูนย์กลางนำเสนอข้อมูล ดังนั้นการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ คือเรื่องควรทำต่อ เพราะแรงงานคือคนที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีส่วนหด ขยาย ไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแรงงานทุกคนที่ยังขายแรงงานในปัจจุบัน หรือ อดีตแรงงานที่ล่วงลับไปแล้วจะจากไป ผมเชื่อว่า พวกเขายังเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ คนที่ยังทำงานก็เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต คนที่จากไปก็เป็นเชิงสัญลักษณ์” ศาสตาภิชาน แล กล่าว
ศาสตราภิชานแลกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยไม่มีใครศึกษาในเรื่องดังกล่าวโดยตรง ข้อเสนอของตนเพื่อพัฒนาประวัติศาสตร์แรงงานให้มีคุณค่า คือสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ และพยายามเสนอต่อสาธารณะให้แรงงานเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อให้ภาควิชาการหันมาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับทุน กับธุรกิจใหญ่ ซึ่งพิพิธภัณฑ์จัดเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ โดยคาดหวังว่าหากประเทศไทยรู้และเข้าใจรากเหง้าแรงงานมากขึ้น เช่น นักศึกษาปริญญาและนักธุรกิจเข้าใจว่า พ่อแม่รับจ้าง เป็นเกษตรกรมีส่วนช่วยจ่ายเหงื่อใช้แรงงานหาเงินเลี้ยงดูเขา หาเงินมาให้เขากลายเป็นนักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัย มีเงินทำธุรกิจ เมื่อเขารับรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น ช่องว่างการใช้ชีวิตก็ไม่เกิดการใช้บุคคลากรคนก็จะไม่กลายเป็นแค่ทรัพยากร นายจ้างจะมองลูกจ้างอย่างมีความห่วงใยในฐานะมนุษย์ไม่ใช่ทรัพยากร ใช้แล้วหมดราคา หมดคุณค่าทิ้ง ไล่ออก จุดสำคัญคือ การอธิบายความรู้ด้วยการสร้างจิตสำนึกของมนุษย์ให้เข้าใจรากเหง้าของตนเอง คือ หากรู้รากเหง้าก็จะให้ความเคารพเสมอ
ขณะที่นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนใช้แรงงานประมาณ39 ล้านคน แต่แรงงานกลายเป็นคนไม่มีภูมิหลัง ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ส่งผลให้ถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่า ไม่เป็นธรรม ตราบใดที่เรามีสังคมที่ไม่ยุติธรรม ดังนั้นการส่งเสริมประวัติศาสต์แรงงานไทยทั้งแง่ท่องเที่ยว การศึกษา ความบันเทิง และอื่นๆ จำเป็น เพื่อให้อนาคตคนรุ่นหลังจะไม่นำประวัติศาสตร์การเอาเปรียบแรงงานมาใช้ เช่น ระบอบฮิตเลอร์ ที่ประเทศเยอรมันก็มีพิพิธภัณฑ์ลักษณะดังกล่าว ทุกคนรู้ว่า ฮิตเลอร์ใช้แรงงานยิวและเอาไปฆ่า คนที่รู้และเข้าใจประวัติศาสตร์นี้ก็หลีกเลี่ยงนโยบายการเอาเปรียบคนยิว ในฐานะแรงงานกลุ่มหนึ่ง
นายสมชาย ณ นครพนม นายกสมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงพิพิธภัณฑ์ตามหลักสากลระบุว่า ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ มีการจัดองค์ประกอบที่เอื้อต่อการศึกษา มีความปลอดภัยต่อชีวิต และเน้นการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตที่มีจุดดึงดูความน่าสนใจ แต่แม้หลักสากลจจะระบุเช่นนั้น แต่พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยก็ยังเผชิญปัญหาเดียวกัน คือ รายได้ต่ำ แต่จากวิกฤตินี้อยากเสนอให้ทางพิพิธภัณฑ์เร่งจัดการเรื่องระบบประชาสัมพันธ์และนำเสนอความสำคัญของสถานที่ด้วยการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นต่อไปโดยเรื่องสถานที่ตั้งคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เล็ก หรือ ใหญ่ ศูนย์กลางหรือไม่ หากพิพิธภัณฑ์มีความน่าสนใจและมีระบบประชาสัมพันธ์ที่ดีก็ย่อมดึงดูดความสนใจให้คนเข้าชมได้ เช่น อาจหาจุดเด่นของการส่งเสริมความรู้มากกว่า การชม การอ่าน แต่มีกิจกรรมอื่นแทรกด้วย และที่สำคัญหากเป็นไปได้พยายามพัฒนาให้คนทุกวัย ทุกระดับเข้าเยี่ยมชมได้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.