วันที่ 2 พฤษภาคม มีรายงานข่าวว่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation-SHRF) ได้ออกแถลงการณ์กรณีเขื่อนเมืองโต๋น ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณรัฐฉานตอนใต้ ห่างจากชายแดนไทยที่ จ.เชียงใหม่ เพียง 40 กิโลเมตร โดยแถลงการณ์ครั้งนี้ออกภายหลังจากที่บริษัทที่ปรึกษาเขื่อนเมืองโต๋นได้นัดประชุมให้ข้อมูลโครงการเขื่อนซึ่งจัดร่วมกับรัฐบาลพม่า แต่ได้ยกเลิกกระทันหันเมื่อรับรู้ข่าวว่ามีชาวบ้านและส.ส.ในพื้นที่จะเดินทางมาร่วมคัดค้านจำนวนมาก
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่าบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติออสเตรเลียได้ยกเลิกนัดประชุมในวันที่ 30 เมษายนที่
เวลา 13.00 น. – 15.30 น.ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 300 คน จาก 15 เมืองในรัฐฉาน อาทิ เมืองก่าลี่ กุ๋นเหง(กุ๋นฮิง) เกงลม เกงคำ โหป่าง ทรายขาว เป็นต้นได้มารวมตัวกันที่หอประชุมน้ำป๋าง เมืองกุ๋นเหง เพื่อรวมตัวคัดค้านการประชุมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนเมืองโต๋น ที่จัดโดยบริษัท Australian Snowy Mountains Engineering Corporation (SMEC)
ในแถลงการณ์ระบุว่า นอกจากนี้ชาวบ้านแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องขาดสิทธิทางการเมือง และการลงนามหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่าชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ขณะที่ประชากรที่เคยอาศัยเดิมในพื้นที่เกงคำ มีอยู่ราว 15,000 คน แต่พบว่าชาวบ้านได้อพยพเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อหลบหนีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงปี 2539 – 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการบังคับย้ายถิ่นฐานชาวบ้านมากกว่า 300,000 คน ทางภาคกลางของรัฐฉานซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งจะจมอยู่ใต้น้ำหากมีการสร้างเขื่อน
“เมื่อเดือนที่แล้วบริษัท SMEC ได้จัดประชุมที่เมืองโต๋น ก็ถูกชาวบ้าน 150 คนจากเมืองโต๋นและจากหมู่บ้านใกล้เคียงประท้วงออกมาประท้วงสร้างเขื่อน หากเขื่อนเมืองโต๋นแล้วเสร็จจะเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน 90 % จะถูกส่งไปยังจีนและไทย” ในแถลงการณ์ระบุ
นางหว่านุ ส.ส.เมืองกุ๋งเหง จากพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (Shan Nationalities Democratic Party – SNDP) หรือพรรคเสือเผือกซึ่งได้เข้าร่วมกับชาวบ้านในครั้งนี้ ได้เรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน โดยระบุว่าเมืองกุ๋นเหงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเขื่อนเมืองโต๋น เนื่องจากตั้งอยู่บนแม่น้ำปางซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน เช่นเดียวกับสถานที่ประวัติศาสตร์อย่างในพื้นที่เกงคำ ซึ่งประกอบไปด้วยหมู่บ้านกว่า 100 หมู่บ้าน ตามลำน้ำป๋างจะจมอยู่ใต้น้ำ รวมไปถึงเกาะแก่งนับพันเกาะ ซึ่งเป็นชื่อของเมืองกุ๋นเหงก็จะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
ทั้งนี้เขื่อนเมืองโต๋นเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China Three Gorges Corporation, China Southern Power Grid, Sinohydro, International Group of Entrepreneurs Co. (Myanmar) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็น 1 ใน 6 โครงการเขื่อนที่รัฐบาลไทยและพม่าได้ลงนามพัฒนาโครงการร่วมกัน ภายใต้ชื่อโครงการเขื่อนท่าซาง แต่ต่อมาโครงการเริ่มเงียบไปเนื่องจากความไม่สงบทางการทหารในพื้นที่รัฐฉาน จนมาเริ่มทำการศึกษาโครงการอีกครั้งในปี 2557 โดยยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งขายให้แก่ไทยหรือจีน