สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

สมาคมนักข่าวตั้งวงชำแหละวันเสรีภาพสื่อ ชี้พื้นที่สะท้อนปัญหาชาวบ้านหดแคบลง นักวิชาการแนะอย่าปล่อยให้ชาวบ้านโดดเดี่ยว เผยรูปแบบคุกคามเสรีภาพสื่อซับซ้อนมากขึ้น

13115712_1102757073100910_2133957898_n
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชน (World Press Freedom Day) โดยมีการเสวนาเรื่อง “เสรีภาพสื่อ…ประชาชนได้อะไร?” ซึ่งนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า สื่อเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันคู่กับเรื่องเสรีภาพ ถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพก็ไม่น่าเรียกสื่อ แต่เป็นแค่ลูกจ้างหรือเบ๊ของใคร ทุกหน่วยงานและทุกรัฐบาลต่างก็ต้องการสื่อ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือเสรีภาพในการนำเสนอ ยกตัวอย่างบ้านตนอยู่เชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีโครงการมากมายสู่ท้องถิ่น ถ้าไม่มีสื่อที่จะบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนของพวกเรา พี่น้องทั้งประเทศและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไร เช่นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีทั้งคนได้และเสีย โดยคนที่เสียคือคนท้องถิ่น ถ้าไม่มีสื่อบอกกล่าวว่ามีปัญหา หรือสื่อถูกบังคับให้ไปบิดเบือนว่าเขตเศรษฐกิจไม่มีปัญหา เสนอภายใต้อำนาจรัฐอย่างเดียวแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

13101363_1102757123100905_2065402852_n

“สื่อไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เช่น คำว่านักข่าวเอ็นจีโอ นักข่าวชาวบ้าน สื่อเป็นของทุกคน ดังนั้นสื่อต้องมีเสรีภาพ ถ้าไม่ใช่เสรีภาพก็ไม่ใช่สื่อ แต่เป็นคนรับใช้ ผมคิดว่ากรณีการใช้อำนาจในมาตรา 44 เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ชาวบ้านเท่านั้นที่กลัว แม้แต่สื่อก็ยังกลัว ตรงนี้เห็นชัดเจน หากเราอยู่กับแบบนี้อีก 5 ปี สื่อและชาวบ้านถูกบีบ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณไม่ให้เสรีภาพกับสื่อ ก็เหมือนปิดปากประชาชนซึ่งน่ากลัวกว่ายุคสมัยก่อน ถ้าเรายอมรับว่าเสรีภาพของสื่อเป็นเรื่องสำคัญ สื่อทำให้เกิดความคิด และเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สู่ความเป็นประชาธิปไตย จริงๆแล้วเราอย่ากลัวความขัดแย้ง เราควรให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกให้ได้ อาจถูกบ้าง ผิดบ้าง สุดท้ายก็ทำงานร่วมกันไปต่อได้” นายนิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่า เสรีภาพของสื่อท้องถิ่นสำคัญมากเพราะหลายครั้งไม่กล้านำเสนอ ทำให้ข่าวคราวของประชาชนหายกลางทาง ทั้งๆที่สื่อท้องถิ่นอยู่กับชุมชนมากกว่าสื่อส่วนกลาง แต่ไม่สามารถดำเนินการนำเสนอได้

นางสุวรรณี ศรีสูงเนิน ผู้แทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่าพวกตนกำลังเดือดร้อน และออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองแร่ แต่ไม่มีสื่อนำข่าวออกมาเสนอสู่สังคม โดยคสช.บอกว่าผิดกฎหมาย แม้แต่ทอดผ้าป่า ทหารบอกว่าทำผิดกฎหมาย เราอยากได้สื่อที่มีความรู้เข้าไป ไม่ใช่มีแต่สื่อของชาวบ้าน

“พวกเราทำอะไรก็มักถูกห้ามหมด แม้แต่เราใส่เสื้อรณรงค์ของพวกเราเข้าไปฟังในห้องประชุม ทหารก็ยังสั่งให้ถอดเสื้อ ถ้าใครไม่ถอดเสื้อก็ไม่ให้รับฟัง บางคนต้องกลับด้านเสื้อเพราะเราอยากฟัง ฝากถามว่าตอนนี้คืนความสุขให้ประชาชน แล้วพวกเรามีความสุขกันหรือยัง และอยากให้สื่อออกไปดูชาวบ้านด้วย ตอนนี้คนอีสานเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า”นางสุวรรณี กล่าว

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง เราได้เห็นถึงการแทรกแซงและควบคุมสื่อมากขึ้น เราตั้งข้อสังเกตว่าบรรณาธิการและเจ้าของสื่อต้องถูกเรียกเข้าไปพบรัฐบาลแน่นอนเพื่อให้นำเสนอผลงานของรัฐบาลในเชิงบวก แต่พอการนำเสนอข่าวของภาคประชาชนกลับถูกจำกัดและแทรกแซงไม่เป็นไปตามสภาพปัญหาที่แท้จริง ซึ่งสื่อมวลชนในพื้นที่ต่างตั้งใจนำเสนอปัญหา แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นภายในกองบรรณาธิการเพราะไม่อยากให้เกิดการปะทะหรือสร้างแรงเสียดทานกับรัฐบาล

นางสาววิไลวรรณกล่าวว่า การนำเสนอข่าวอาจให้พื้นที่ไม่เท่ากัน อะไรที่กระทบกับรัฐบาลก็อาจมีพื้นที่จำกัด เช่นเดียวกับความทุกข์ยากของประชาชน ซึ่งเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจแก้ปัญหาของประชาชนก็ควรเชิญฝ่ายต่างๆหาทางออกร่วมกัน แต่หากยังควบคุมและแทรกแซงสื่อ อาจเกิดแรงปะทะขึ้นเพราะประชาชนต่างรู้สึกหลากหลายแต่ต่างเดือนร้อนเหมือนกัน

“นโยบายของรัฐบาลควรมีการตรวจสอบ หากรัฐบาลทำงานดี ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลก็ได้ แต่ทำอย่างไรให้สื่อได้มีเสรีภาพ เพื่อให้คนยากคนจนได้รับพื้นที่นำเสนอที่เท่าเทียมกัน ไม่ควรแบ่งแยก เพราะความเป็นธรรมจะไม่เกิดขึ้น” นางสาววิไลวรรณกล่าว และว่าอยากเรียกร้องเรื่องสวัสดิการและรายได้ของสื่อมวลชนให้เพียงพอ เพราะบางส่วนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ โดยสื่อมวลชนควรมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อให้เกิดการรวมตัวและช่วยเหลือกันเมื่อเกิดความเดือดร้อน

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ปัญหาของคนชายขอบมักไม่ถูกพูดถึงในสื่อ หลังรัฐประหารคนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนชนบท ขณะที่คนชั้นกลางหรือกทม.อาจมีความสุขที่ไม่มีบรรยากาศความขัดแย้ง แต่ชาวบ้านชนบทกลับต้องตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ชาวบ้านถูกปิดล้อมโดยที่ปิดล้อมสำคัญคือการปิดล้อมข้อมูลข่าวสารไม่ให้มีการนำเสนอให้พื้นที่สาธารณะ และกลายเป็นประเด็นเล็กๆ ล่าสุดตนลงพื้นที่หนองคาย ชาวบ้านกลัวมากในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ป่าชุมชน 600ไร่ถูกยึดหมด ความอึดอัดเกิดขึ้นเพราะรัฐห้ามชาวบ้านแสดงออก แต่รัฐกลับปล่อยให้ทุนทำอะไรก็ได้ โครงการเดินหน้าไปเรื่อยๆ

ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า สิ่งที่สังคมและสื่อมวลชนต้องตั้งคำถามว่าการพัฒนาประเทศกำลังไปทิศทางไหน ตนคิดว่าเราเข้าสู่ยุคเสรีนิยมใหม่ ซึ่งการจัดสรรความมั่งคั่งของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าคนจน โดยแย่งชิงทรัพยากรจากคนจนเพื่อให้ทุนสะสมทุนได้มากขึ้น ซึ่งสังคมไทยและสื่อมวลชนไม่ได้ตั้งคำถาม เช่น เขตเศรษฐกิจชายแดนเป็นการพัฒนาจริงหรือไม่ หรือเป็นการแย่งชิงทรัพยากรชุมชนให้กับนายทุน เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูง เป็นการเอื้อกับสาธารณูปโภคหรือเอื้อให้ทุนสะสมทุนมากขึ้น

“การคุกคามสิทธิเสรีภาพมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อคุกคามและปิดปาก (SLAPP) เช่น กรณีเหมืองแร่เลย ฟ้องชาวบ้าน 19 คดี เรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือฟ้องน้องพลอย เด็กม.4 ที่ทำข่าวพลเมืองออกไทยพีบีเอส โดยมาฟ้องที่มีนบุรี อีกคดีฟ้องที่ภูเก็ต อีกคดีฟ้องที่แม่สอด กรณีนี้จะเกิดขึ้นมากเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นวิธีการคุกคามจะมีการนำกฎหมายมาใช้มากขึ้น และกฎหมายที่น่ากลัวที่สุดคือพรบ.คอมพิวเตอร์”ดร.ไชยณรงค์ กล่าว

ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า อยากเสนอว่าสื่อมวลชนไม่ใช่แค่รายงานข่าวเท่านั้น เพราะการทำแค่รายงานข่าวอาจเป็นอันตรายและกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เช่น กรณีชาวบ้านบ้านจัดระเบียบถูกจับ 34 ราย ทุกคนเป็นคนจนทั้งหมด การจับกุมของเจ้าหน้าที่มีความชอบธรรมเพราะพาสื่อมวลชนไปเป็นกองทัพและรายงานข่าวว่าเป็นการจับนายทุน ซึ่งตนต้องระดมทุนหาหลักประกันมาช่วยออกจากคุกก่อน เพราะฉะนั้นแค่รายงานข่าวไม่พอ ขณะนี้นักข่าวลงพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ

อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวด้วยว่า เราอย่าปล่อยให้ชาวบ้านโดดเดี่ยว สื่อต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ ขอเรียกร้องให้มีพื้นที่ของคนเล็กคนน้อยมากขึ้น ท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหา ตนอยากให้สื่อทำหน้าที่มากกว่าการรายงานข่าว เช่น เขื่อนจีนปล่อยน้ำมา จีนมีบุญคุณกับเราจริงหรือไม่ การตั้งคำถามของสื่อสำคัญมาก ผู้มีอำนาจครั้งเดียวพูดรับรู้กันทั้งหมด หากเราไม่ตั้งคำถามต่อก็ไม่เห็นสิ่งที่ซับซ้อน และในช่วง2 ปีที่ผ่านมาเราถูกทำให้กลัว แต่มีคนที่เผชิญความน่ากลัวมากกว่าเรา

ทั้งนี้ก่อนเริ่มเสวนานายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวฯได้กล่าวไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่นายปรเมศ เหล็กเพ็ชร์ และนายสุปัน รักเชื้อ อุปนายกฯได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อคือ 1.ขอให้รสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ 2.ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศที่พิจารณาเรื่องการปฎิรูปสื่อได้คำนึกถึงกรอบที่สปช.ได้จัดทำไว้ 3.ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อทุกแขนงตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน 4.ขอให้ประชาชนคิดก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ภาพข่าวหรือข่าวสารใดๆโดยยึดหลักความจริง ความถูกต้อง

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าตัวแทนสมาคมฯได้เดินทางไปพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบเสื้อที่ระลึก
——————–

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →