สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชาวแม่กลองรวมพลังค้านฟลัดเวย์ตะวันตก ประกาศรวมตัวนับหมื่นร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น 22 พย.

 pic3

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ชาวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมจับตาแม่น้ำใหม่”(ฟลัดเวย์สายตะวันตกตั้งแต่อำเภอขานุวรลักษณ์ จังหวัดกำแพงเพชร-เขื่อนแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี) โดยมีชาวแม่กลองและเครือข่ายภาคประชาชนในหลายจังหวัดเข้าร่วมราว 2 พันคน ทั้งนี้ในช่วงเช้าได้มีการเคลื่อนขบวนเรือปกป้องแม่น้ำแม่กลองจากทำน้ำหน้าที่ว่าการอำเภออัมพวามายังท่าน้ำวัดเพชรสมุทรวรวิหาร อำเภอเมือง นอกจากนี้ยังมีขบวนเดินรณรงค์ “อย่าทำร้ายสายน้ำแม่กลอง”ในตลาดแม่กลอง

 

ในช่วงบ่ายได้มีเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ผ่าแผนแม่บท การจัดการน้ำและเงินกู้ 3.5 แสนล้านกับอนาคตทรัพยากรน้ำของประเทศไทย” โดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบกรมชลประทานกล่าวว่า นอกจากการผันน้ำมาลงแม่กลองแล้ว ยังมีการขุดรอกแม่น้ำแม่กลองอีก 34 กิโลเมตรตั้งแต่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรีมาถึงอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมหาศาล เช่น การขุดรอกจะเอาดินไปไว้ที่ไหน และต้องเกิดตะกอนในช่วง 3-4 ปี

 

“การขุดคลองยาวกว่า 300 กิโลเมตร ผมไม่เชื่อว่าจะสร้างเสร็จได้ภายใน 5 ปี ที่สำคัญเขายังไม่มีตอบให้ว่าจะส่งผลกระทบต่อคนกี่แสน เขาไม่มีการวิเคราะห์ขั้นแรกก่อนว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ถือว่าเป็นขบวนการขับเคลื่อนของรัฐบาลและกบอ.ที่ผิดพลาดตั้งแต่ขั้นแรกคือไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผมทำเรื่องเขื่อนมาเยอะ จริงๆแล้วควรตอบโจทย์ 2 ข้อให้ได้ก่อนคือเรื่องความเป็นไปได้และเรื่องผลกระทบ” นายปราโมทย์ กล่าว

 

อดีตอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การที่กบอ.ตั้งเป้าว่าจะมีน้ำเพิ่ม 1,200 ลบ.ม./วินาที แต่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะการขึ้น-ลงของน้ำในอ่าวไทย ซึ่งเชื่อว่ากบอ.ไม่มีความรู้เรื่องนี้ และคิดกันแบบง่ายๆ ทำกันแบบง่ายๆ ทั้งๆที่แม่น้ำแม่กลองไม่ว่าใครจะมาเพิ่มเติมอะไรนอกเหนือธรรมชาติก็ควรศึกษาให้ตกผลึกเสียก่อน การที่กบอ.เสนอเช่นนี้ถือว่าเป็นอันตรายที่สุด

 

ดร.บัญชา ขวัญยืน คณบดีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สมาคมวิศวกรรมสถานได้เดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้มากว่า 1 ปี แต่กบอ.ไม่สนใจและเดินหน้าโดยเฉพาะในโมดูล A1 และ A5 ที่เน้นสิ่งก่อสร้าง และไม่เน้นการบริหาร แต่ในทางวิศวกรรมจะเน้นการบริหารมาก่อน ทั้งนี้ไม่มีผลการศึกษาใดแสดงว่าโครงการคลองผันน้ำนี้มีความจำเป็น ที่สำคัญคือเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศที่จะเกิดขึ้นอย่างมาก โดยปริมาณน้ำจืดมหาศาลที่ไหลลงอ่าวไทย จะทำให้สัตว์น้ำ เช่น หอยแมงภู่ หอยหลอด ตายหมดเหมือนตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

 

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า บทเรียนจากพายุที่เกิดในฟิลิปินส์ขณะนี้คือ “ไม่มีคำว่าเอาอยู่” แต่รัฐบาลบอกว่าหากทำสำเร็จทั้ง 9 โมดูลแล้วเอาอยู่ แต่ตนเชื่อว่าไม่มีทาง เพราะไม่มีใครรู้ว่าภัยพิบัติจะมาแบบไหน เมื่อไหร่ การสร้างคลองผันน้ำครั้งนี้เหมือนกับเอาความทุกข์ของเจ้าพระยามาลงที่แม่กลอง และดำเนินการครั้งนี้ก็ไม่ได้ศึกษาตามขั้นตอนปกติ

 

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่ากบอ.ใช้ระเบียบอะไรในการจ่ายเงินให้ชาวบ้านที่เกณฑ์กันมารับฟังความคิดเห็นคนละ 400 บาท ซึ่งตนจะร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพราะหากใช้ระเบียบเช่นเดียวกันก็ควรจ่ายให้กับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในเรื่องอื่นๆทุกครั้ง ขณะเดียวกันการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทก็เกินเวลากำหนด แต่รัฐบาลกลับใช้วิธีลงนามกับ 4 ธนาคารไปก่อนโดยยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

 

“ผมจะฟ้องร้อง 4 ธนาคาร ผมและเครือข่ายไม่ยอมแน่ เราจะฟ้องหน่วยงานต่างๆทุกที่ ทุกศาลทั่วประเทศ ไม่ใช่ว่าผมต้องการขวางทางรัฐบาล เพียงแต่รัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

ทั้งนี้ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีและกบอ. โดยในวันที่ 22 พฤศจิกายน กบอ.จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังสมุทรสงครามซึ่งชาวบ้านประกาศชักชวนกันมาให้มากนับหมื่นคนเหมือนกับเมื่อครั้งคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

On Key

Related Posts

คดีถึงที่สุด-ชาวเลราไวย์ชนะคดีพื้นที่หน้าหาด ศาลฎีกาพิพากษายืนชี้อยู่มานาน ชาวบ้านดีใจเผยมั่นใจขยายแผงขายปลา แต่ยังหวั่นเอกชนรุกเส้นทางเดินดั้งเดิมสู่ “บาลัย”

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ปRead More →

กสทช.ขู่เพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการทำผิดส่งสัญญาณโทรศัพท์ข้ามแดนไปยังแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย-เผยกำลังตรวจสอบเข้มทำไมหันเสาออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณRead More →