เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในตำบลบ้านตาล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ทางสำนักงานศาลากลางจังหวัดชัยภูมิเตรียมจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน กรณีการประกอบกิจการเหมืองแร่ ของบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) โดยทางจังหวัดได้ส่งหนังสือลงวันที่ 30 ตุลาคมเพื่อส่งถึงคณะกรรมการเฝ้าระวังติดตามความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกอบกิจการของบริษัทเหมืองแร่ฯ ซึ่งทางผู้นำหมู่บ้านในพื้นที่เพิ่งได้รับหนังสือและแจ้งให้ชาวบ้านทราบเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งหนังสือดังกล่าวแรกเริ่มเดิมทีนั้นส่งไปยังสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด โดยที่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะมีการประกอบกิจการไม่ได้มีส่วนรับทราบ ดังนั้นเมื่อชาวบ้านทราบภายหลัง จึงได้รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์และรับฟังการประชุมดังกล่าว ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)บ้านเพชร โดยคาดว่าจะมีตัวแทนชาวบ้านซึ่งคัดค้านเหมืองแร่ประมาณ 100 คนพร้อมใจกันสวมเสื้อขาวไปร่วมเวที
ชาวบ้านรายเดิมกล่าวว่า แต่เดิมนั้นชาวบ้านส่วนมากในพื้นที่ตำบลบ้านเพชร ตำบลบ้านตาล และตำบลหัวทะเล ล้วนแล้วแต่คิดและเข้าใจว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่น่าจะอยู่กับชุมชนได้ แต่มาทราบภายหลังว่าบริษัทจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีกระบวนการทำแบบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ไม่โปร่งใส จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มลุกขึ้นมาต่อต้าน และศึกษาข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ระยะหลังชาวบ้านจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งกรณีทำเหมืองและกรณีสร้างโรงไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมากลุ่มมีอิทธิพลในคราบนักการเมืองท้องถิ่นมีการข่มขู่ชาวบ้านหลายพื้นที่ โดยกระบวนการมอบเงินเพื่อเตรียมประชุม เตรียมแผนและแบ่งปันผลประโยชน์เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยขอประทานบัตร ทำสัมปทานเหมืองแร่รอบใหม่แล้ว สำหรับคนรุ่นก่อนนั้นอาจจะอาศัยเหมืองเพื่อทำงาน แต่คนรุ่นใหม่เริ่มรับรู้ผลกระทบชัดเจนแล้ว จึงรวมตัวกันต่อต้าน โดยจะเริ่มจากการขอร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นและอาจจะเสนอเงื่อนไขบางอย่างให้ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่รับทราบ
“พออิทธิพลเข้ามาทางผู้นำ หลายคนก็เงียบ ไม่พูดว่าตัวเองต้องการหรือไม่ต้องการ ไม่อยากแสดงตัวตน ปัญหาใหญ่คือ อิทธิพลท้องถิ่นทำให้ชาวบ้านกลัว และเสียงคัดค้านไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะ แต่จากการลงชื่อของแต่ละตำบล อย่างเช่นกรณีตำบลบ้านตาล นั้นมีประชาชนกว่า 80 % ไม่เห็นด้วย กับเหมืองและโรงไฟฟ้า โดยกรณีโรงไฟฟ้านั้นจะสร้างระหว่างตำบลหนองประดู่และตำบลหัวทะเล แน่นอนว่าส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ดังนั้นกรณีนี้ต้องแยกแผนทำ EHIA ออกมาต่างหาก ซึ่งหากรัฐและบริษัทไม่รอบคอบต่อการทำรายงานดังกล่าว และปิดกั้นการมีส่วนร่วม เชื่อว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในพื้นที่แน่นอน” ชาวบ้านรายเดิมกล่าว
//////////////////////////////