เมื่อวันที่ 13พฤศจิกายน 2558 นายเสรี ทวีพนารักษ์ ชาวบ้านสามัคคีใหม่ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่ากรมชลประทานมีการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่คำเพื่อเก็บน้ำ ซึ่งเริ่มสำรวจข้อมูลมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและยังอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมนั้น ล่าสุดชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้านใน 3 ตำบล ได้แก่ตำบลแม่ฟ้าหลวง ตำบลเทอดไทย ตำบลแม่สลองใน ที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ได้ประชุมหารือและจัดตั้งคณะทำงานในนามเครือข่ายชาวบ้านต้นน้ำแม่คำแล้ว โดยคณะทำงานดังกล่าวจะทำหน้าที่วางแผนรวบรวมข้อมูลจากทุกหมู่บ้านเพิ่มเติม เพื่อเตรียมจัดเผยแพร่ต่อไป พร้อมทั้งมีการวางแผนเรื่องการณรงค์คัดค้านเขื่อนแม่คำในอนาคต
“ตอนนี้ข้อมูลประชากร อาชีพ และเศรษฐกิจชุมชน เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเร่งรัดในการทำข้อมูล เบื้องต้น ประธานเครือข่ายที่เราคัดเลือกนั้นเป็นผู้นำหมู่บ้านห้วยส้าน ตำบลแม่สลองใน ซึ่งเราจะเรียกประชุมชาวบ้านเป็นระยะๆ แต่ตอนนี้ให้แต่ละชุมชนทยอยขึ้นป้ายคัดค้านไว้ก่อน จะนัดประชุมเครือข่ายครั้งแรกในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ฟ้าหลวง ทั้งนี้อาจจะต้องมีการพบปะกับตัวแทนชาติพันธุ์กลุ่มอื่นที่กำลังต่อสู้เรื่องเขื่อนด้วย เพราะพวกเราไม่มีประสบการณ์” นายเสรี กล่าว
ด้านนายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ชาวบ้านแสนใจ ตำบลแม่สลองใน กล่าวว่า ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนนั้นส่วนมากเป็นชุมชนของชาติพันธุ์ยอง ลาหู่ อาข่า คนจีน ไทใหญ่ โดยบางหมู่บ้านนั้นมีการตั้งชุมชนมานานนับ 100 ปี อดีตเคยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยมาก่อน ยอมรับว่าเมื่อก่อนชาวบ้านมีทั้งกลุ่มคนที่เคยแผ้วถางป่าเพื่อสร้างพื้นที่ทำกิน แต่ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกการปกครองจากอำเภอแม่จันมาเป็นแม่ฟ้าหลวง ชีวิตของชาวบ้านเข้าสู่ความสงบ ลงตัวมากขึ้น โดยมีกระบวนการจัดการที่ดินที่เป็นระบบ เช่น กันเขตทำกินออกจากป่าสงวนแห่งชาติ มีการก่อตั้งโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรมากมาย ทั้งโครงการในกลุ่มเกษตรกรซึ่งทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และกลุ่มอาชีพเสริม อยากให้เป็นป่าที่ยั่งยืนและสร้างความหวงแหนในชุมชน ดังนั้นการสร้างเขื่อนแม่คำย่อมหมายถึงการล่มสลายของชุมชน และหากมีการผลักดันชาวบ้านออกไป ก็จะต้องเกิดปัญหาบุกป่าระลอกใหม่ ทั้งๆ ที่มีการแบ่งเขตป่าใช้สอย ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์มานานกว่า 30 ปีแล้ว
“ถ้าเขื่อนสร้างขึ้นมา เราก็กลัวว่าจะมีผลกระทบขั้นรุนแรงทันทีทันใด คือ คนไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน และมีผลกระทบทางอ้อม เช่น ที่นา ที่สวนจะจม เท่าที่ประเมินดูนั้นอาจจะมี 3-4 หมู่บ้านก็จมทั้งหมู่บ้าน พื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติก็จะหายไป ระดับน้ำขึ้นน้ำลงจะไม่ปกติ เกิดวิกฤติแย่งน้ำกันในบริเวณแม่น้ำแม่คำ ซึ่งตอนนี้มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร นับว่าเป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงชุมชนมานาน โดย 80 % ของน้ำที่ไหลตลอดปีในแม่น้ำแม่คำ มาจากป่าต้นน้ำอำเภอแม่ฟ้าหลวง วันหนึ่งขาดน้ำ ขาดที่ดินทำกิน เราจะไปซุกหัวที่ไหน พวกเราก็จะหลายเป็นผู้บุกรุกป่าเพิ่มแน่นอน ไม่มีใครการันตีได้ว่าเราจะรอดถ้าเขื่อนเกิด อีกอย่างตอนนี้ชาติพันธุ์ต่างๆ ใช้พืชจากป่ามากมาย โดยเฉพาะอาข่าเอง เท่าที่ทำข้อมูลไว้พบว่ามีสมุนไพรที่อาข่าใช้บริโภคเป็นทั้งอาหาร ทั้งยา ในป่ารอบๆ แม่น้ำแม่คำมีมากกว่า 200 ชนิด เราจึงต้องรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ต่อให้ได้ ก่อนเขื่อนเกิด” นายไกรสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้จากเอกสารข้อมูลการสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อนเก็บน้ำคำนั้นเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งของพื้นที่ โดยเขื่อนจะสร้างในเนื้อที่ประมาณ 1.7 แสนไร่ รับเหมาโดย บริษัท ธาราคอนเซาแตนท์ จำกัด, บริษัท สยามเทค กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เอส เอ็น ที คอนเซาแตนท์ จำกัด ขนาดเขื่อนสูง 64 เมตร ยาว 440 เมตร ความกว้างของเขื่อน 8 เมตร ใช้งบประมาณ 915.19 ล้านบาท