Search

รีสอร์ท-โรงแรมหลายแห่งสร้างทับสุสานชาวเล หวั่นไม่มีที่ฝังศพ พีพี-หลีเป๊ะชาวบ้านพบวิกฤตหนักเหตุท่องเที่ยวโถม จัดงานวันรวมญาติคึกคัก ชาวมอแกน-มอแกลน-อูรักลาโวยนับพันร่วม วอนแก้ปัญหาด่วน

received_999306350112650
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ลานวัฒนธรรมชาวเลบ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 6 โดยมีชาวเลทั้งมอแกน มอแกลนและอูรักลาโว้ย จาก 5 จังหวัดอันดามันเข้าร่วมประมาณ 1 พันคน ทั้งนี้นายนายนิรันดร์ หาญทะเล ผู้ใหญ่บ้านสังกาอู้ ได้กล่าวรายงานว่า การจัดขึ้นเพื่อเสริมความเข้มแข็งของชุมชนชาวเล ทั้งการสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงพบปะกันระหว่างพี่น้องชาวเลจากชุมชนต่างๆ การฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรม การนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาต่อสังคมและการผลักดันให้ปัญหาพวกเราได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังในระดับนโยบาย รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีต่างๆ เพื่อให้เกิดการรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมในอันดามัน

received_999306753445943

“การนัดรวมญาติวันนี้ ทำให้พวกกระผม มีความสุขมาก หลายคนพบญาติที่ไม่ได้พบกันมานานแล้ว หลายครอบครัวมาพร้อมหน้ากันที่นี่ หลังแยกย้ายไปอยู่ในที่ไกลกัน บรรพบุรุษพวกผมอาศัยหากินในทะเลอันดามันมายาวนานกว่า 300 ปีแล้ว”นายนิรันดร์ กล่าว

ผู้ใหญ่บ้านสังกาอู้กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวเลอาศัยอยู่ใน 43 ชุมชน จำนวนประมาณ 1.3 หมื่นคน กระจายใน 5 จังหวัดอันดามัน คือ ภูเก็ต 5 ชุมชน พังงา 22 ชุมชน ระนอง 3 ชุมชน กระบี่ 10 ชุมชน และสตูล 3 ชุมชน

โดยประเด็นสำคัญ คือ มีชุมชนชาวเลที่ยังไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย 36 แห่ง คือ 31 แห่งอยู่ในที่ดินรัฐ ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีการขับไล่ แต่ยังไม่มีหลักประกันว่าจะมั่นคงชั่วลูกหลาน และ 5 ชุมชนอยู่ในที่ดินที่มีเอกชนอ้างสิทธิ์เหนือชุมชนชาวเล ขณะที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวเลกว่า 100 คดี และมีแนวโน้มจะมากขึ้น

received_999306823445936

นายนิรันดร์กล่าวว่า พวกเรามีสุสาน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับทำพิธีกรรม รวม 23 แห่ง ไม่มีเอกสารขึ้นทะเบียน 21 แห่ง มีเอกสารแล้ว 2 แห่ง มีที่ถูกรุกล้ำด้วยวิธีการต่างๆ 13 แห่ง บางแห่งมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับสุสาน บางแห่งมีการห้ามเข้าไปฝังศพ บางแห่งมีคนมาบุกรุก เช่น สุสานแหลมทุ่งยุง สุสานบอแน ที่เกาะลันตา สุสานที่เกาะพีพี สุสานทุ่งหว้า สุสานเกาะเปลว พังงา สุสานที่หลีเปะ สตูล สุสานที่เกาะสิเหร่ เป็นต้นนอกจากสุสานแล้ว ชาวเลยังคงมีปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย เช่น การหากินในทะเลแต่เดิม พวกตนหากินได้ แต่ตอนนี้ หลังจากที่มีการประกาศเขตอุทยาน ประกาศเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้หากินยากลำบากขึ้น ต้องออกทะเลไกล ต้องดำน้ำลึกขึ้น มีหลายคนต้องพิการเป็นอัมพฤต เพราะน้ำหนีบ ขณะเดียวกันมีชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน ประมาณ 500 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัด ระนองประมาณ 450 คน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ทั้งการไปหาหมอ การหางานทำ การเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก

received_999306866779265
“กระผม ในนามตัวแทนพี่น้องชาวเล ขอเรียกร้อง ให้หน่วยงาน องค์กร บุคคลที่เกี่ยวข้อง ยุติการละเมิดสิทธิของชุมชนชาวเล ยุติการคุกคามข่มขู่ชาวเล สนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาพวกผมอย่างจริงจังต่อเนื่อง ให้เกิดผลจริงๆ และพวกเราชาวเล ก็จะพยายามหาแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วมกับทุกๆองค์กร ซึ่งหวังว่าสังคมไทยจะเกิดการพัฒนาที่ยังคงเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม”นายนิรันดร์ กล่าว

นายสมศักดิ์ เวชพาณิช ปลัดจังหวัดกระบี่กล่าวเปิดงานว่า แต่ที่ผ่านมาด้วยการพัฒนาสมัยใหม่ และการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้ส่งผลกระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ทางรัฐบาลจึงมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ให้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ การสนับสนุนการศึกษา การดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูวัฒนธรรม และการสนับสนุนให้มีการจัดงานวันนัดพบชาวเล และรัฐบาลนี้ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธานคณะกรรมการฯ

“สำหรับจังหวัดกระบี่มีชุมชนชาวเลที่ยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยคือชุมชนแหลมตง เกาะพีพี และมีสุสานอีก 5 แห่งที่ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชุมชนชาวเล ได้มอบหมายให้จังหวัดกระบี่ได้ตรวจสอบข้อมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ”นายสมศักดิ์ กล่าว

เวลา 10.30 น.ได้มีวงเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงของชาวเลและอันดามัน” โดยนางแสงโสม หาญทะเล ผู้แทนชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กล่าวว่า บรรพบุรุษของพวกตนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะนานกว่า 100 ปี โดยนอกจากทำประมงก็ยังมีการปลูกข้าว ปลูกมันตามเกาะอาดัง-ราวี ซึ่งทุกคนอยู่กันอย่างมีความสุข เพราะต่างรวยปลา รวยกุ้ง รวยข้าว ต่อมามีการประกาศเขตอุทยานฯ และเรื่มมีการประกาศความเป็นเจ้าของ สถานการณ์ของชาวเลเริ่มเข้าสู่วิกฤต และรุนแรงมากขึ้นภายหลังเหตุการณ์สึนามิเนื่องจากมีนายทุนจากภายนอกเข้ามากวาดซื้อที่ดินของชาวเลโดยใช้วิธีการรุนแรงและชาวบ้านไม่เต็มใจ ชาวเลบางคนถูกอุ้ม

“ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะวิกฤตรุนแรงมาก เราจึงรวมกลุ่มกันโดยมีมูลนิธิชุมชนไทเป็นพี่เลี้ยง ทำให้เริ่มแก้ปัญหาและคลี่คลายไปบ้าง” นางแสงโสม กล่าว

นายวิทวัส เทพสง ผู้แทนชาวเลจากจังหวัดพังงา กล่าวว่าปัจจุบันสุสานหลายแห่งไม่ยอมให้ชาวเลเข้าไปฝังศพ ขณะที่รีสอร์ท-โรงแรมและถนนหลายแห่งสร้างทับสุสาน และข้างใต้เต็มไปด้วยกระดูกชาวเลซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถเอาคืนได้แล้ว วิธีการรุกของหน่วยงานรัฐคือการประกาศเขตอนุรักษ์ทับสุสาน แต่ถ้าเป็นทุนเอกชนจะเข้ามาด้วยวิธีการซื้อที่ดิน

“ในอดีตชาวเลเข้าไม่ถึงข้อมูลและช่องทางกฏหมาย ปู่ย่าตาทวดของเราแค่เห็นตำรวจก็วิ่งหนีแล้ว พอเห็นคนภายในเข้ามาในหมู่บ้านก็ได้แต่แอบดูตามฝาจาก เพราะฉะนั้นอย่าพูดเรื่องการจะไปออกเอกสารสิทธิ์เลย ถามว่าตอนนี้เราจะทำอย่างไร เพราะแทบไม่มีที่ฝังศพ ชาวเล 1.3 หมื่นคน จะทำอย่างไร จะเปลี่ยนเป็นเผาหรือ แต่นั่นมันไม่ใช่วิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยทำมา เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก พวกเราให้เกียรติ์คนตาย แต่นายทุนบางทีเขาอยู่ไกล ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่และให้คนที่นี่เป็นผู้จัดการ เขาจึงไม่ให้เกียรติ์คนตาย ทำให้เกิดการคุกคามพื้นที่สุสานเกิดขึ้นมากมายซึ่งสะท้อนความไม่เท่ากันในสังคม เรามีสิทธิเกิดแต่ไม่มีสิทธิทำพิธีตาย”นายวิทวัส กล่าว

น.ส.พรสุดา ประโมงกิจ ผู้แทนชาวเลจากบ้านแหลมตง เกาะพีพี จังหวัดกระบี่กล่าวว่า ปัจจุบันชาวเลบ้านแหลมตงประสบปัญหาที่ที่ดินที่อยู่อาศัยและเรื่องน้ำที่จะใช้กิน เพราะบ่อน้ำเก่าแก่ที่เคยใช้มาก็ใช้ไม่ได้เพราะมีสารตะกั่วปนเปื้อนเมื่อใช้หุงข้าวทำให้ข้าวบูด ขณะที่สุสานที่เคยมีอยู่หลายแห่งก็ถูกรุกล้ำ เหลือเพียงแห่งสุดท้ายซึ่งก็แทบรักษาไว้ไม้ได้ มีการเอาขยะไปทิ้งและแอบอ้างกรรมสิทธิ์

ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าขณะนี้หลายอุทยานฯกำลังอะลุ่มอล่วยให้ชาวเลเข้าไปหากินได้ แต่ในออสเตรเลียนั้นเขาให้สิทธิ์กับชาวอะบอริจินเต็มที่ บางพื้นที่เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปต้องมีไกด์ท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่ให้ไกด์ภายนอกซึ่งไม่รู้จักวิถีวัฒนธรรมของชุมชนและบอกเล่าอย่างไม่เข้าใจ ควรมีการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีศักดิ์ศรีและต้องเคารพเจ้าของพื้นที่ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาของชาวเลที่ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไปโดยเริ่มจากการให้ข้อมูลต่อสังคมซึ่งขณะนี้เริ่มเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกันชุมชนก็เริ่มมีการทำแผนที่กันเองรวมถึงผังเครือญาติ

“ตอนนี้โจทย์ไม่ง่าย เพราะการท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ปราณีปราศัย จริงๆแล้วชุมชนควรที่จะเลือกนักท่องเที่ยวได้ เช่น ที่หาดป่าตอง อาจได้นักท่องเที่ยวแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเลือกแนววิถีวัฒนธรรมชุมชนก็ควรได้นักท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้มีปัญหาที่เป็นโจทย์ใหญ่คือโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือ ชาวเลต้องสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ให้เขาได้รับทราบ เราเป็นคนในพื้นที่ควรเป็นตัวตั้งและมีสิทธิ์เลือก รูปแบบการพัฒนาใหม่ๆจะเข้ามาเรื่อยๆดังนั้นชุมชนต้องเตรียมรับมือไว้”ดร.นฤมล กล่าว
//////////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →