Search

ปราชญ์ชาวบ้านชี้ วิกฤตป่าไม้ เกิดเพราะเกษตรกรไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินเต็มที่ หนุนทำเกษตรแบบผสมผสาน สร้างป่า สร้างอาชีพ ด้านนักวิชาการแนะรัฐทบทวนกฎหมายเอื้อกลุ่มทำลายป่า

received_487057608121805

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวใน เวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ชี้เป้า วิกฤตการป่าไม้ไทย ต้องแก้….. ด่วน”ที่จัดโดยภาควิชาวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ป่าไม้ของไทยแย่ลง เนื่องจากนโยบายรัฐบางอย่างนั้นมีความพยายามแยกคนออกจากป่า แยกเกษตรกรที่มีชีวิตผูกพันกับป่าให้กลายมาเป็นกรรมกร ต้นไม้จึงลดลงเพราะประชาชนหันไปให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่ได้สนใจปัญหาระยะยาว ทั้งที่ในอดีตยุคก่อนสัมปทานนั้นประชาชนทำไร่ ทำนาก็อาศัยที่ดินแบบแปลงผสม คือไม้ยืนต้น มีป่า ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกแบบพื้นราบอย่างเดียว แต่มาระยะหลัง หลายๆอย่างเปลี่ยนไป ทำให้คนไทยลืมประโยชน์ของต้นไม้ ดังนั้นการจะฟื้นฟูป่าไม้ได้ นอกจากภาครัฐต้องคุมคนของตนเองไม่ให้ยุ่งกับกระบวนการไม้เถื่อน และลักลอบตัดไม้แล้ว ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้โดยการทำเกษตรแบบผสม เป็นเกษตรกรที่สร้างมูลค่าให้ที่ดินและช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ไปพร้อมๆกัน

“ผมยกตัวอย่างเช่น คนเลี้ยงวัวเป็นสิบ เป็นร้อยตัว แทนที่เขาจะตัด ฟัน ต้นไม้ ทำไร่ยาง ทำนา ทำแปลงผักพื้นราบ เขาก็ปลูกต้นไม้ยืนต้นเอาไว้แล้วขุดแปลงผักไปตามแนวต้นไม้ ปลูกยางสลับกันไป แล้วสร้างคอกวัวกลางที่ดินของตนเอง โดยพยายามทำลายต้นไม้ให้น้อยลง จากนั้นเมื่อวัวมีมูลก็เอามูลวัว ไปใช้ทำปุ๋ย ถ้าปลูกจิตสำนึกแบบนี้ได้ เอาความคิด ภูมิปัญญาเกษตรกรกลับมาได้ ไม่นานไทยจะมีป่าไม้เช่นเดิม โดยป่าขึ้นที่ส่วนบุคคลก็จะดูแลง่ายกว่า เพราะถ้าป่าขึ้นที่กรมป่าไม้ กรมอุทยาน ไม่แน่นัก นานวันไปมันก็เหี้ยนเหมือนเดิม แต่ถ้าเกษตรกรบำรุงรักษา จัดการ นอกจากสร้างป่าป้องกันแล้ง ท่วมแล้ว ยังสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ โดยไม่ตกเป็นกรรมกรรับจ้างรายวันอีกด้วย” นายสุทธินันท์ กล่าว

ด้านภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า สถานการณ์ป่าไม้ในขณะนี้นั้น วิกฤตระดับรุนแรง โดยมีพื้นที่ที่เรียกป่าแบ่งเป็น3 ส่วน คือ 1 ส่วนที่ยังคงสภาพป่าแค่ 38.6 % 2 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 58.68 % และพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 48.10% ซึ่งหน่วยงานภาครัฐนั้นมีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่องให้ได้ถึง40% แต่ก็ยังไม่สามารถทำสำเร็จได้ แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการนำแผนแม่บททวงคืนป่าไม้เข้ามาใช้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาตรงเป้า ดังนั้นโดยส่วนตัวมองว่าในวันนี้หากจะแก้ปัญหาป่าไม้ที่กำลังเผชิญกับวิกฤต ทำได้โดย 1 จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการโดยเจ้าหน้าที่แต่ละพื้นที่ดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสรุปข้อมูลชุมชนและการใช้ประโยชน์ 2 วิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่โดยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทีมีวิถีชีวิตผูกพันกับป่ามานาน 3 เชื่อมประสานการทำงานป่าสงวนกับป่าอนุรักษ์ให้เข้าด้วยกัน เพื่อกระจายการทำงานให้กว้างขึ้น นอกจากนี้สำหรับป่าที่ผ่านการใช้ประโยชน์ทั้งจากเอกชนและภาครัฐ ควรมีการส่งเสริมการฟื้นฟูใหม่ต่อเนื่อง ไม่ใช้แล้วทิ้ง หรือเปิดพื้นที่ให้อุตสาหกรรมอันตราย และที่สำคัญควรทบทวน พระราชบัญญัติ (พรบ.) ว่าด้วยการป่าไม้ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่การทำลายป่าด้วย เพราะกฎหมายเป็นเกระสำคัญต่อการเปิด หรือ ปิดทางให้คนทำลายป่า รวมทั้งมีการจัดนโยบายด้านการทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ป้องกันโครงการขนาดใหญ่ทำลายป่าไม้ เช่น เขื่อน โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า เหมือง เป็นต้น

////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →