![ขอบคุณภาพจากเครือข่ายชาวบ้านต้นน้ำแม่คำ](https://transbordernews.in.th/home/wp-content/uploads/received_1002711579772127.jpeg)
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ชาวบ้านแสนใจ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงกรณีที่กรมชลประทานสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำแม่คำ ในอำเภอแม้ฟ้าหลวง ซึ่งชาวบ้านต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสในการทำข้อมูล จนนำมาสู่การตั้งเครือข่ายชาวบ้านต้นน้ำแม่คำเพื่อติดตามสถานการณ์ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เครือข่ายชาวบ้านฯ ได้จัดประชุมกันครั้งแรก ณ บ้านสามัคคีใหม่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง โดยที่ประชุมชาวได้ลงความเห็นถึงการเดินหน้าในภาคประชาชน เพื่อคัดค้านเขื่อนแม่คำ และจัดรณรงค์ขึ้นป้ายค้านเขื่อนทุกพื้นที่ๆเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังเตรียมทำหนังสือยื่นเรื่องไปยังจังหวัดเชียงราย และทำจดหมายเปิดผนึกไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็นกรณีการสร้างเขื่อนแม่น้ำคำ ที่กรมชลประทานจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2558
“จริงๆแล้ว ป้ายคัดค้านนั้นเราเริ่มรณรงค์มาตั้งแต่ช่วงทราบข่าวการสร้างเขื่อนแรกๆ แต่กำลังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแสดงพลังภาคประชาชน แต่ปรากฏว่า ช่วงที่เครือข่ายชาวบ้านประชุมกันนั้น พบว่าบางหมู่บ้านได้รับการแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารจากอำเภอแม่ฟ้าหลวงให้รื้อถอนป้ายออก ซึ่งหากจะกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ทางอำเภอไม่ควรทำแบบนั้น เพราะพวกเรากำลังทำหน้าที่ปกป้องบ้านเกิด เรามีสิทธิที่จะทำ และผมเองในฐานะชาวบ้านที่ทำเกษตรในพื้นที่มานาน ยืนยันว่า ชาวอำเภอแม่ฟ้าหลวงไม่ได้เผชิญภัยแล้งขั้นวิกฤต ในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนนั้นก็ไม่ได้ประสบปัญหาใดๆ รุนแรงถึงขั้นสร้างเขื่อนแก้ปัญหาน้ำ ที่ผมเห็นคือ ในที่ประชุมชาวบ้านยังคงเชื่อมั่นในแนวทางเดิม คือ เดินหน้าค้านเขื่อนต่อไป จนกว่าทางกรมชลฯ จะยกเลิกโครงการ ถ้ารัฐจะจัดเวทีเดือนธันวาคมจริงๆ ต้องเชิญชาวบ้านไปชี้แจงข้อมูล และรับฟังข้อคิดเห็นพวกเราอย่างตรงไปตรงมา ต้องจัดเวทีอย่างเป็นธรรม อย่าห้ามชาวบ้านเข้าร่วมเหมือนเวทีอื่น อย่ากำหนดจำนวนคน เพราะเราไม่อยากขัดแย้ง” นายไกรสิทธิ กล่าว
นายไกรสิทธิกล่าวว่า การสร้างเขื่อนแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่มักให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไป ขณะนี้มีความรู้สึกว่ามีทางเลือกอื่นๆอีกมากมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายกั้นน้ำในลักษณะเดียวกับฝายผาม้าที่มีอยู่เดิมใกล้จุดที่จะก่อสร้างอยู่แล้ว โครงการแก้มลิง การขุดลอก ฯลฯ แต่รัฐไม่ทำ กลับจะสร้างเขื่อน ซึ่งไม่ใช่คำตอบ และจะมีผลเสียรุนแรง อย่างกรณีเขื่อนกั้นแม่น้ำแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ชำรุด เป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่มีปัญหาจนถึงปัจจุบัน เพราะแม่สรวยก็มีการวางแผนเฝ้าระวังมาโดยตลอด ทั้งนี้อีกประเด็นที่น่าจับตามองอีกประการคือ จุดที่จะก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่เคยส่งผลกระทบในอดีตมาแล้ว บริเวณเดียวกันยังมีรอยเลื่อนเชียงแสน และรอยเลื่อนดอยตุงที่ยังไม่แสดงพลังออกมาด้วย เกรงว่าจะมีภัยพิบัติในอนาคต
/////////////////////////