องค์กรสากลเพื่อรณรงค์และยุติการใช้กับระเบิดอย่าง The Landmine and Cluster Munition Monitor ได้ออกมาเปิดเผยรายงานว่า ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา มีพลเรือนในพม่าต้องเสียชีวิตจากกับระเบิดมากกว่า 400 คน และยังได้รับบาดเจ็บอีก 3,300 คน อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า ตัวเลขของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เปิดเผยออกมาอาจน้อยกว่าตัวเลขของความเป็นจริง
นาย Yeshua Moser-Puangsuwa ผู้ประสานงานวิจัย รวมถึงเป็นบรรณาธิการของกลุ่มกล่าวว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกับระเบิดส่วนใหญ่ในพม่า เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งทั้งฝ่ายกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็เป็นผู้ใช้กับระเบิด โดยเริ่มนับตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากกับระเบิดตั้งแต่เมื่อปี 2540 แต่ยอมรับว่า ไม่สามารถประเมินตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่ชัดเจนเนื่องจากขาดความร่วมมือและการเข้าถึงข้อมูล
อย่างไรก็ตาม นาย Yeshua Moser-Puangsuwa กล่าวว่า กองทัพพม่ายังคงผลิตระเบิด เพราะมีโรงงานผลิตอาวุธ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองของเขตพะโค หรือที่รู้จักกันในชื่อโรงงาน “คะพะซะ” เช่นเดียวกันกับกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA ที่ยังคงผลิตระเบิดต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จาการสำรวจพบว่า อัฟกานิสถานและโคลอมเบียเป็นประเทศที่มีประชาชนตกเป็นเหยื่อของกับระเบิดมากที่สุดในโลก โดยพม่าติดอยู่ในอันดับที่ 3 ถึงแม้หลายประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ร่วมกันเรียกร้องให้ยุติการใช้กับระเบิด แต่พม่ายังคงไม่ลงนามสนธิสัญญากำจัดกับระเบิด
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มติดอาวุธ 8 กลุ่ม จากทั้งหมด 20 กลุ่มจะลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ให้ความสำคัญที่จะหยิบยกเอาประเด็นนี้มาหารือกันแต่อย่างใด โดยทางองค์กรสากลเพื่อรณรงค์และยุติการใช้กับระเบิดหวังว่า พรรค NLD ที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่จะมีความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาแก้ปัญหายุติการใช้กับระเบิด
ที่มา Irrawaddy
แปลโดย Transborder News