วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) องค์กรชุมชนรัฐฉาน ได้จัดแถลงข่าวกรณีที่กองทัพพม่าบุกโจมตีทางการทหารในพื้นที่รัฐฉาน โดยมีผู้เข้าร่วมในงานแถลงข่าวประมาณ 40 คน ซึ่งมีทั้งผู้สื่อข่าว และประชาชนเชื้อสายไทใหญ่หรือประชาชนจากรัฐฉาน พม่า
นางจ๋ามตอง จากเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (SWAN) นำเสนอในเวทีว่า กองกำลังรัฐฉานเหนือ (SSA North/SSPP) ได้ลงนามหยุดยิงกับกองทัพพม่ามายาวนานถึง 22 ปี ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีขิ่นยุ้น แต่เมื่อกองทัพพม่ามีนโยบายควบรวมกองกำลังต่างๆ ให้มาเป็นกองกำลังรักษาชายแดน หรือ BGF เมื่อพ.ศ. 2554 แต่กองกำลังรัฐฉานเหนือปฏิเสธไม่ยอมรับนโยบายดังกล่าว จึงทำให้กองทัพพม่าเปิดศึกเข้าปฏิบัติการโจมตี ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนถึง 30,000 คนที่ต้องอพยพหนีการสู้รบ ต่อมากองทัพพม่าก็ได้เพิ่มกองกำลังและฐานทหารเพิ่มขึ้นในเขตท่าผาซอง จาก 4 ฐาน เป็น 34 ฐานในปี 2557
นางจ๋ามตองกล่าว่า การเปิดศึกครั้งล่าสุดซึ่งกองทัพพม่าได้เริ่มเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการใช้เครื่องบินรบ ใช้เฮลิคอปเตอร์ ปืน และระเบิด ยิงปืนใหญ่เข้ามาในหมู่บ้าน โจมตีชาวบ้านโดยตรง เพียง 1 วันหลังจากมีการเลือกตั้งในพม่าที่ทั่วโลกต่างสนใจ แต่ในรัฐฉาน ที่เมืองหนอง กลับใช้ทหารโจมตีชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบมาจากหมู่บ้านอื่นๆ มาอาศัยในวัด โรงเรียน ก็ต้องอพยพหนีตายกันอีก มีชาวบ้านเดือดร้อนทันที 6,000 คน
“ในวันเลือกตั้งพม่า มีชาวบ้านขอทหารพม่า กลับไปเกี่ยวข้าวในนาที่หมู่บ้านที่ถูกโจมตี แต่เมื่อออกเดินทางกลับถูกยิงบาดเจ็บ 2 คน แม่ลูก เป็นเวลาหลายชั่วโมงกว่าที่ทหารพม่าในเมืองจะอนุญาตให้ญาติๆ ออกไปรับผู้บาดเจ็บกลับเข้ามารับการรักษา เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่มีอุปกรณ์รักษา ต้องส่งต่อไปที่เมืองลอยแหลม ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม” นางจ๋ามตองกล่าว
นางจ๋ามตองกล่าวว่า การเก็บข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ SHRF พบว่ามีการใช้ความรุนแรงทางเพศกับสตรีอย่างเป็นระบบ ที่เมืองเกซี มีทหารพม่า 10 นายรุมโทรมสตรีชาวไทใหญ่อายุ 32 ปี โดยมัดสามีไว้ เมื่อมีการร้องเรียนกลับไม่พบว่ามีการลงโทษจากกองทัพพม่าแต่อย่างใด
“ข้อมูลของเราพบว่ามีประชาชนพลัดถิ่นเนื่องจากหนีภัยการสู้รบแล้วในเวลานี้ 10,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ตามวัด โรงเรียน ในเมืองต่างๆ ที่ยังคงมีความปลอดภัย 11 แห่ง เช่น เมืองสู้ ตองยี ล่าเสี้ยว แต่ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่หลบอยู่ในป่า ซึ่งไม่ทราบจำนวน ดิฉันวิเคราะห์ว่า ปัจจัยด้านการเมืองก็มีผลส่วนหนึ่ง เราพบว่าการสู้รบในรัฐฉานทำให้ต้องยกเลิกการเลือกตั้งในบางพื้นที่ จนเป็นเหตุให้พรรคไทใหญ่ SNLD ต้องเสียที่นั่งในสภาไปถึง 7 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังเป็นความตั้งใจของกองทัพพม่าที่จะเข้ามาในพื้นที่ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ” นางจ๋ามตอง กล่าว
นายจายเคอแสง ผู้ประสานงานองค์กรสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ Shan Spawa กล่าวว่าเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลทหารพม่าต้องการยึดพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติในรัฐฉาน ทั้งแหล่งแร่ธาตุ เหมืองทองคำ เหมืองถ่านหิน และพื้นที่สร้างเขื่อน 3 แห่งบนแม่น้ำสาละวิน ได้แก่ เขื่อนหนองผา เขื่อนกุ๋นโหลง และเขื่อนเมืองโต๋น (มายตง) กองทัพรัฐฉานเหนือได้พบกับกองทัพพม่าที่เนปิดอว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิง ทางพม่าเสนอมาอีก 1 ข้อ คือ บนถนนจากเมืองหนอง-เมืองสู้ ทางเหนือของถนนสายนี้ให้กองทัพรัฐฉานถอนออกไปให้หมด ในขณะที่จะเพิ่มและขยายฐานของกองทัพพม่า
“สิ่งที่องค์กรชุมชนรัฐฉานกังวลมากในขณะนี้ คือ เราต้องการให้นานาชาติร่วมประณามและกดดันรัฐบาลพม่าและเรียกร้องให้ยุติการโจมตีพลเรือนในรัฐฉานทันที อย่าห่วงการลงทุน หรืออย่าดีใจที่มีการเลือกตั้งพม่าเพียงเท่านั้น นอกจากนี้เรายังต้องการให้องค์กรภายนอกและนานาชาติร่วมกันเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยการสู้รบในรัฐฉาน เพราะจนบัดนี้เป็นการช่วยเหลือกันเองจากชาวรัฐฉานในพม่าหรือประเทศไทย แต่การช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ หรือแม้แต่จากย่างกุ้งก็ไม่มีเลย” นายจายเคอแสงกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าผลการเลือกตั้งที่พรรค NLD ของนางอองซานซูจีชนะถล่มทลายนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ นายจายเคอแสงกล่าวว่า ผู้กุมอำนาจแท้จริงคือผู้นำกองทัพพม่าที่คุมทุกกระทรวง หากมีโชคและพรรค NLD มองเห็นปัญหาความเป็นความตายเร่งด่วนนี้จริงๆ ตนก็เชื่อว่าน่าจะพอหาทางออกได้
เมื่อถามอีกว่า นักวิเคราะห์หลายคนต่างพูดว่าการโจมตีรัฐฉานครั้งนี้เนื่องจากกองทัพพม่าต้องการเข้าถึงพื้นที่แม่น้ำสาละวินได้ง่ายขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ใช่หรือไม่ นายจายเคอแสงตอบว่ามีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัท SMEC ของออสเตรเลียก็ยังพยายามทำการศึกษาเพื่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น บนแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 7,000 เมกกะวัตต์ที่อาจจะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้แทนจากสภาทนายความ กล่าวว่ากองทัพพม่าต้องยุติการโจมตีทันที และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน ทุกวันนี้ประเทศไทยได้โอบอุ้มผู้ลี้ภัยจากพม่าแล้วอย่างน้อย 131,000 คน ในค่ายพักพิงชั่วคราว 9 แห่งตลอดแนวชายแดนตะวันตก และเราก็หวังว่าวันหนึ่งในเร็วนี้บ้านของเขาจะสงบสุขได้คืนสู่บ้านเกิด
ทั้งนี้ภายหลังจากการแถลงข่าว ผู้เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่แต่งกายชุดพื้นเมืองไทใหญ่ได้ร่วมกันถือป้ายและถ่ายรูป และในวันพรุ่งนี้ 27 พฤศจิกายน จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาธร