Search

“หนองกินเพลโมเดล” การต่อสู้ในที่ดินของคนเล็กคนน้อย

ชาวบ้านหนองกินเพลกำลังเกี่ยวข้าว
ชาวบ้านหนองกินเพลกำลังเกี่ยวข้าว

กลางแดดร้อนปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 ณ ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ชาวนา ชาวไร่ ต่างเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อให้ทันเทศกาลวันหยุดสิ้นปี เพื่อจะได้พักผ่อน ต้อนรับลูกหลานที่จากบ้านเกิด เมืองนอนไปทำงานในต่างแดน

ครอบครัวของพ่อเฒ่าบุ่น มณีเนตร เกษตรกรวัย 84 ปีก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีกิจวัตรประจำวันไม่ต่างกันกับครอบครัวอื่น แต่พ่อเฒ่าบุ่นต้องหยุดงานไปหลายวัน เนื่องจากอาการมือบวม โดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะมีเพื่อนบ้านแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอาการและได้คำตอบของโรคที่ชัดเจน แต่แกยังยืนยันว่า สามารถรักษาหายได้ด้วยสมุนไพรทั่วไป และเชื่อว่าอาการจะดีขึ้นในอีกไม่กี่วัน โดยเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ก็จะไปเกี่ยวข้าวกับลูกหลานในนาข้าวที่มีเนื้อที่กว่า 26 ไร่ ซึ่งเพิ่งจะชนะคดีจากนายทุนที่โกงที่ดินมาเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2558 หลังร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน กระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบ และศาลพิจารณาคดีให้ผู้เฒ่าชนะคดี

ปัจจุบันนี้แม้ที่ดิน 26 ไร่ของพ่อเฒ่า อาจจะดูเหมือนกว้างใหญ่ไพศาล แต่เมื่อเทียบกับนายทุนรายหนึ่งที่เป็นอดีตนักการเมืองที่ครอบครองเพียงเจ้าเดียวกว่า10,000ไร่แล้ว ที่ดินของคนเฒ่าและชาวบ้านรายอื่นเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่ชาวบ้านอาศัยทำกิน เลี้ยงชีพ และขายผลิตผลการเกษตรเพื่อการหมุนเวียนรายได้ปีต่อปีเท่านั้น

“เงินที่ได้มาจะหมื่นจะแสน เราจ่ายค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง มันก็หมดแล้ว แต่ที่ดินมันมีคุณค่าที่ว่า ฉันปลูกมะพร้าว ปลูกแค หรืออะไรก็แล้วแต่ ฉันเก็บได้แล้ว เก็บอีกมันไม่ตายง่ายๆ หรอกจะกี่ปี กี่เดือน ฉันไม่ได้สนใจหรอกว่าเงินที่ได้จากนา จากไร่ มันกี่บาท ฉันปล่อยให้ต้นไม้กับดอกไม้ ใบหญ้าที่ฉันกินได้ สัตว์กินได้ มันโตไปตามสภาพ หิวข้าว ฉันก็ปลูกข้าวไง มันก็กำไรแล้ว มีคุณค่าแล้ว ฉันดีใจจริงๆ ที่นาข้าวของฉันไม่ตกอยู่ในมือของเขา” ผู้เฒ่าพูดไปตามที่ใจรู้สึก

พ่อเฒ่าบุ่น
พ่อเฒ่าบุ่น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ก่อนที่ครอบครัวพ่อเฒ่าบุ่นจะได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างภูมิใจและนอนหลับสบาย กินอยู่อย่างเป็นสุข เขาและภรรยาเคยตกอยู่บนความทุกข์ที่ไม่ได้ก่อ โดยช่วงนั้นทางจังหวัดประกาศให้เกษตรกรที่มีใบจองแบบ นส.2 ดำเนินการยื่นขอสำนักงานที่ดินวารินชำราบ ออกโฉนดให้เอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย พ่อเฒ่าบุ่นและภรรยาตัดสินใจไปดำเนินการ ด้วยหวังว่าหากมีเอกสารสิทธิ์ชัดเจน ในอนาคตจะนำที่ดินมรดกมาแบ่งให้ลูกทั้ง 6 คน แต่ครั้งนั้นมีนายทุนในพื้นที่คัดค้านการออกโฉนด โดยระบุว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ของนายบุ่น และสำนักงานที่ดินก็ระบุว่า ไม่พบเอกสารใบจอง เป็นเหตุให้คนเฒ่าและครอบครัวต้องวิตกกังวล และเดินทางไปร้องเรียนกับจังหวัด สำนักนายกรัฐมนตรีผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ในนามเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา รวมทั้งมีการดำเนินคดีผ่านชั้นศาล ทำให้พ่อเฒ่าบุ่นได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมา ภายหลังนายโสม คำนวณ เกษตรกร สูงอายุในชุมชนเดียวกันได้รับเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 12 ไร่กลับคืน เนื่องจากสำนักงานที่ดินเพิกถอนกรรมสิทธิ์จากนายทุนที่โกงและออกโฉนดโดยไม่ชอบธรรม

“ตอนนั้น ฉันจำได้ว่าต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ บ่อยมาก ไปหานายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปนอนพระบรมรูปทรงม้า ไปทำเนียบรัฐบาล ไปกับชาวบ้านหนองกินเพลหลายคน ฉันดีใจที่พี่น้องไม่มีใครทิ้งฉัน ถ้าฉันสู้คนเดียวคงทำได้ยาก สำหรับคนนอกใครๆ เขาก็ว่าอีสานมันแล้ง มันไม่น่าอยู่ ตอนฉันสู้เรื่องที่ดินกับอดีต สส.ตระกูลดังนะ บางคนเขามาบอกให้เรายอมๆ ไปเถอะ จะได้สบาย ได้เงินมาเป็นก้อน ไปที่อื่นก็ได้ อีสานมันแล้ง อีกหน่อยปลูกอะไรไม่ขึ้น ฉันก็ยังงงอยู่ ปลูกไม่ขึ้นยังไง ตอนนี้ยางที่เคยเชื่อว่าปลูกได้ที่ใต้ก็มาปลูกบ้านเราได้ ยูคาก็เยอะ หญ้าเลี้ยงวัวก็ปลูกได้ ข้าวก็ทำได้ ผักคะน้า หลังบ้านฉันก็ทำ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายฉันก็เลี้ยง แล้วจะให้ฉันทิ้งที่นาไปไหน ทิ้งสมบัติพ่อแม่ไปไหน บางคนเขาก็บอกว่าถ้าเราสู้ไม่ไหว เราจะติดคุกให้ยอมๆ เข้าไปซะ ฉันก็ท้าเลยนะ ติดก็ติด ก็มันที่ดินเรา ทำไมต้องยอมคนไม่ดีมาโกงไปด้วย อีนายทุนคนนี้ตอนเป็นนักการเมืองมันก็ดี มาสร้างนั่น สร้างนี่ให้เราเชื่อใจ ทำถนน ทำสะพาน ขุดสระ เวลาผ่านไป มันยึดที่ดินชาวบ้านหมดเลย ฉันคิดว่ายังไงซะ ถ้าฉันจะตาย ฉันต้องตายเพราะฉันได้สู้แล้ว” พ่อเฒ่าบุ่น ระบายความในใจ

ในบ้านหลังเล็กๆ ที่คนเฒ่าอยู่มีเนื้อที่ 1ไร่กว่า มีไม้ยืนต้นหลากชนิด และมีแปลงผักสวนครัวเล็กน้อย ด้านหน้าเป็นโรงฟางที่อัดฟางข้าวไว้สำหรับวัว ควาย ซึ่งแกเลี้ยง และสร้างคอก สร้างรางอาหารด้วยตนเอง โต๊ะ เตียง ในบ้าน เป็นผลงานที่เกิดจากความสามารถด้านช่างไม้ของแกเอง

จากวัยเด็กจนแก่เฒ่า ความสุขของแกคือการเป็นเกษตรกร โดยอยู่ด้วยวิถีการเกษตรแบบผสมผสานที่แท้จริง และมีการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นประโยชน์เพื่อสร้างคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่การมีที่ดินเพื่อขาย หรือเพื่อให้ใครมาโกงกิน แล้วผลักไสชาวนา ชาวไร่ไปเป็นลูกจ้างรายวัน ถ้าเป็นเช่นนั้นความมั่นคงจะไม่เกิดกับชาวบ้าน แต่กลายเป็นว่าสร้างความมั่งคั่งแก่คนรวยฝ่ายเดียว

จากประวัติศาสตร์การโกงที่ดินตำบลหนองกินเพล ใช่ว่าทุกคนจะโชคดี ได้ที่ดินกลับคืนมา อย่างกรณี “นางลดาวัลย์ และนายถวิล การุณรัตน์” สองสามีภรรยาชาวบ้านหัวไม้แก่น ตำบลหนองกินเพล ที่ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายรวมราว 61 ไร่ ขณะนี้กระบวนการเรียกร้องเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ โดยที่ดินในส่วนของบิดา นายถวิลเนื้อที่ 28 ไร่นั้นอยู่ระหว่างรอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หลังจากดีเอสไอตรวจสอบพบว่า ถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบธรรม ขณะที่อีก 33 ไร่ในส่วนมรดกฝ่ายนางลดาวัลย์ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการออกโฉนดโดยไม่ชอบธรรมหรือไม่ และตรวจสอบที่มาของการออกใบจอง นส.2 ซึ่งที่ดินทั้ง2แปลงนั้นทั้งสองสามีภรรยา ยังคงทำกินอย่างปกติ คือ ปลูกยางพารา ปลูกยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ผสมผสานกันไป

“ช่วงที่เรามีปัญหาเรื่องการมีใบจองบวม ลอยมากที่สุด คือ ทั้งหมู่บ้านมีปัญหากันถ้วนหน้า คือ ช่วงปี 2545-2546 ตอนนั้นโอกาสทองของนายทุน เพราะมีสถานการณ์น้ำท่วมเข้ามาแทรกด้วย ตอนนั้นมันแย่มากเพราะนายทุนเขาโกรธเรามาบอกว่าพ่อแม่ชาวบ้านส่วนมากเซ็นขายใบจองให้ มีการรับเงินมัดจำกันเรียบร้อยแล้ว พอเขาส่งหนังสือมาไล่รื้อ มาบังคับให้เราออก เราก็ไม่ยอม อย่างครอบครัวพ่อของสามีฉันช่วงแรกที่มีปัญหาเขาก็ส่งคนงานมายกทีวี พัดลม มารื้อบ้านเช่นกัน พวกเรารวมตัวต่อสู้ เรื่องเลยชะงักไปสักพัก จากนั้นเขาก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุม แล้วแจ้งความเท็จว่าชาวบ้านใช้อาวุธรุนแรงต่อสู้ ถือมีด ถือปืน ทำร้ายพนักงานเขา แล้วก็แจ้งความข้อหาบุกรุกที่ดิน บางคนกลัวก็ยอมความ แล้วก็ถูกหลอกให้ซื้อที่ดินของตนเองกลับมา บางคนกลัวจะติดคุก กลัวถูกฆ่า ยอมถอยให้ที่ดินเขาไปฟรีแล้วเขาก็ไปเอาโฉนดมาอ้างครอบครองตรงนั้น ตรงนี้สารพัดปัญหา” นางลดาวัลย์ ย้อนความ

 

บ่อร้าง หลังจากขุดหินขาย
บ่อร้าง หลังจากขุดหินขาย

บนที่ดินแปลง 28 ไร่ ของนายถวิลผู้เป็นสามีนั้น เมื่อครั้งครอบครัวเผลอ นายทุนก็ใช้ช่องทางขายที่ดินให้นายหน้าประกอบการขุดหินใต้ดินขาย โดยนางลดาวัลย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนการร้องเรียนดีเอสไอ จนสำเร็จมาสู่กระบวนการรอเพิกถอนกรรมสิทธิ์ ที่นากว่า 1 ไร่ที่ตนและสามีเคยทำนามาตลอดถูกนายหน้าขายหิน ขุดหินลึกกว่า 2 เมตร เพื่อขุดหินออกไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น โดยที่ตนไม่รู้ว่าการขนส่งหินนั้นมีปลายทางอยู่ที่ใด แต่ทุกครั้งที่มีข่าวว่านายหน้าจะนำรถมาขุดหิน ชาวบ้านในเครือข่ายที่ร่วมต่อสู้จะรวมตัวกันคัดค้านทันที แต่นายทุนใช้ช่วงทีเผลอกระทำการดังกล่าว ดังนั้นเมื่อกระบวนการต่อสู้เกือบสมบูรณ์ ดีเอสไอตรวจสอบเรียบร้อย ที่ดินจึงกลายเป็นหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งตนและสามีเองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จึงปล่อยเป็นบ่อร้างไป และมีน้ำใช้บ้างแค่ฤดูฝนเท่านั้น

ปัญหาที่ชาวบ้านหนองกินเพลเผชิญอยู่จากอดีตจนปัจจุบัน แม้บางส่วนจะคลี่คลายไปบ้าง และบางส่วนยังหาคำตอบไม่ได้ ชาวบ้านบางรายต้องพ่ายแพ้คดีออกสู่เมืองเป็นกรรมกรรับจ้าง แต่มีชาวบ้านอีกหลายรายที่ยังยืนต่อสู้ท่ามกลางข้อพิพาทที่ดิน และยังคงทำหน้าที่เกษตรกรเหมือนเดิมทุกปีในที่ดินบรรพบุรุษ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งจะได้รับความเป็นธรรม แม้จะล่าช้าก็ตาม

นายวิทยา แก้วบัวขาว เกษตรกรบ้านทางสาย ตำบลหนองกินเพล ที่เคยติดคุกข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเอง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้อย่างอดทน แม้ครอบครัวจะมีที่ดินมากถึง 82ไร่ก็ตาม แต่ก็แบกรับภาระหนี้สินกว่า400,000 บาท หลังจากสู้คดีข้อพิพาทที่ดินมาเนิ่นนาน กระทั่งศาลพิพากษาให้ชนะคดีกลางปี2558แต่กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเอกสารโฉนดที่ดินอย่างถูกกฎหมายกลับคืนมา แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของนายทุนที่ออกโฉนดทับที่ของตนก็ตาม ทั้งนี้เหตุผลจากสำนักงานที่ดินวารินชำราบ ระบุเพิ่มเติมว่า การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์จะทำได้ต่อเมื่อเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงเข้ามาแสดงตัวความเป็นเจ้าของและให้การยืนยัน ซึ่งกระบวนการเรียกพยานดังกล่าวสำนักงานที่ดินยื่นขอศาลขยายเวลาเพื่อดำเนินการเพิกถอนและออกโฉนดให้แก่ครอบครัวนายวิทยา ทำให้กระบวนการล่าช้ากว่าเดิม

“จะเร็วจะช้า ผมยังหวังจะได้ที่ดินคืนมานะ เพราะเราต่อสู้คดีมา เราหมดเงินเยอะมาก ค่าทนายความ ค่าเดินทาง ค่าเอกสาร เราปลูกดอกไม้ ทำนา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หากินหลายอย่างรอจะใช้ที่ดินอย่างภูมิใจ ผมจะอดทน เพราะที่ผ่านมาผมเคยอดทนในคุกมาแล้ว ครั้งนี้ผมหวังว่าผมจะชนะอย่างเต็มรูปแบบ” นายวิทยากล่าวอย่างมีหวัง

กรณีที่ดินหนองกินเพลฉายภาพการโกงของนักการเมือง และสะท้อนช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรม อย่างมาก และในประเทศไทยก็ยังมีกรณีคล้ายกันอีกหลายแห่งซึ่งคนที่แบกรับปัญหาไม่ต่างกัน

โดย จารยา บุญมาก

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →