Search

อยู่เมืองไทยมา 40 ปีแต่ยังไร้บัตรประชาชน พบคนริมแม่น้ำโขงอีกจำนวนมากยังประสบปัญหา สื่อมวลชนคณะใหญ่ลงพื้นที่หมู่บ้านคนไร้สัญชาติเมืองอุบล

DSC02324
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) และเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง ชักชวนคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง จำนวน 18 คน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสำรวจสถานการณ์ผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร ณ บ้านบะไห ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมรับฟังข้อเท็จจริง

นายศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง จังหวัดอุบลฯ กล่าวว่า ปัญหาบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนในจังหวัดอุบลฯ เป็นปัญหาเรื้อรังตั้งแต่สถานการณ์การยุบศูนย์อพยพตั้งแต่ปี 2525 โดยมักถูกเรียกทั่วไปว่า “กลุ่มลาวอพยพ” ทั้งนี้จากพื้นที่ทำงานใน 3 อำเภอคือ อำเภอโขงเจียม บุณฑริก และโพธิ์ไทร พบผู้ที่ประบปัญหาประมาณ 8,000 คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ถือ บัตรลาวอพยพ บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข0) บัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรเลข6) และบัตรแรงงานต่างด้าว3 สัญชาติ ( ทร.38/1) โดยบัตรเลข 0 มีปัญหามากที่สุด มีประมาณ5,000 คน โดยในอำเภอโขงเจียมนั้นมีประชาชนใน3กลุ่มดังกล่าวราว600คน กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่น กรณีบ้านบะไห มีประชากรทั้งหมู่บ้านราว 400 คนมีปัญหาด้านสถานะ 114 คน
DSC02248

นายศิระศักดิ์กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนด้านสถานะบุคคลดังกล่าวส่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ การศึกษา การเดินทาง การทำงาน ฯลฯทั้งที่ในอดีตนั้นประชากรกลุ่มดังกล่าวมีให้การช่วยเหลือทางการไทย โดยเฉพาะด้านความมั่นคง หลายรูปแบบ เมื่อสมัยที่ไทยยังสู้รบกับลาวแดง และกลุ่มปฏิวัติ เนื่องจากชาวลาวที่ได้รับความเดือดร้อนต้องอพยพเข้ามาอยู่ไทย ต้องการให้ทางการไทยช่วยเหลือ ต่อมาเมื่อประเทศไทยต้องการจัดการกับกลุ่มอพยพ ทางการไทยจึงทยอยยุบศูนย์อพยพ ทั้งที่อุบลฯ นครพนมและเลย โดยส่งผู้อพยพไปอยู่ประเทศที่3 บางส่วนส่งกลับบ้านเกิด แต่บางรายมีความผูกกันกับแผ่นดินไทย จึงไม่กลับแผ่นดินเกิดต่อมามีการตั้งครอบครัวในประเทศไทย ทำให้มีลูกหลานเกิดขึ้นตาม

DSC02243
นายศิระศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อสถานการณ์การจัดการผู้อพยพเกิดขึ้น ทางการไทยก็เริ่มจัดขึ้นทะเบียนแก่ประชาชนที่ข้ามมาจากฝั่งลาวหลายพื้นที่ แล้วเริ่มสำรวจประชากรกลุ่มดังกล่าวทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยออกบัตรลาวอพยพให้ แต่ปรากฏว่าลาวบางกลุ่มบางคนตกสำรวจ ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ขึ้นทะเบียนลาวอพยพให้กลายเป็นบัตร เลข0 บัตรเลข6 คนลาวอพยพไม่รู้ข้อมูลแล้วไม่ได้ทำตามขั้นตอนขาดโอกาสในการใช้สิทธิ์ ขณะที่ประชากรบางกลุ่มเลือกที่จะขึ้นทะเบียนใหม่โดยลงทะเบียนเป็นบัตรแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมา ส่วนอีกกลุ่มที่ถือบัตรลาวอพยพอยู่ บางคนยังไม่เริ่มขึ้นทะเบียนเพื่อขอบัตรเลข0 เพื่อจะดำเนินการขอสัญชาติไทยในฐานะบุคคลต่างด้าวทีถิ่นฐานอาศัยถาวร ครั้นพอลูกเกิดขึ้นมา ลูกได้สัญชาติและขึ้นทะเบียนเป็นสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ2551แต่พ่อแม่กลับไม่ได้รับสัญชาติไทย ทั้งที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ทำแล้ว
“ปัญหา คือ ลาวอพยพบางคนก็ดำเนินการขอสัญชาติโดยใช้สิทธิตามบัตรลาวอพยพแล้วแต่กระบวนการยื่นขอนั้นล่าช้า อาจเพราะเปลี่ยนนายอำเภอบ้าง เปลี่ยนเจ้าหน้าที่บ้าง เอกสารหายบ้าง ชาวบ้านรอนาน ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนมากนั้นชาวบ้านที่อุบลฯจะตกสำรวจตั้งแต่ตอนรัฐเปิดทำบัตรอพยพ อย่างบ้านบะไห มี25ราย เข้าข่ายได้สัญชาติไทยตาม ม.23 ใน พ.ร.บ.สัญชาติปี2551 คือมีเอกสารทางทะเบียนราษฏร เช่น มีถิ่นอาศัยถาวร มีงานทำ เป็นต้น โดยมีแค่5รายที่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายดังกล่าว” นายศิระศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ อินทะโสม ผู้ถือบัตรเลข0 และบัตรลาวอพยพ ชาวบ้านบะไห กล่าวว่า ขณะนี้ตนกับภรรยาอยู่ระหว่างการดำเนินการขอสัญชาติตามมาตรา23 โดยตนยื่นเรื่องไว้ที่อำเภอโขงเจียมเมื่อต้นปี2558 และหวังว่าจะได้รับสัญชาติไทยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้ทำงานอย่างคล่องตัวและเดินทางไปเยี่ยมลูกยามที่ลูกจากไปไกลบ้านบ้าง แต่ขณะนี้ตนและภรรยาต้องชะงักเรื่องการขอสัญชาติของตนเองก่อน เนื่องจากมีลูกคนกลางและคนเล็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ตนลืมแจ้งเกิดเพราะเกิดหมอตำแย ลูกจึงยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ที่ผ่านมายื่นขอสัญชาติแล้วแต่ยังไม่เรียบร้อย เพราะทางเจ้าหน้าที่อำเภอแจ้งให้ตามหาหลักฐานก่อนลูกเกิด และหาพยานมายืนยันว่าลูกเกิดในไทย
DSC02274

นางแปร สาพันธวงศ์ อายุ 62 ปีชาวบ้านบะไห กล่าวว่าตนเดินทางอพยพจากเมืองคง แขวงสะหวันเขต ฝั่งลาวตั้งแต่พ.ศ.2518 หรือเมื่อ 40 ปีก่อนเนื่องจากเกิดการสู้รบและเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงข้ามฟากมาอยู่กับญาติพี่น้องฝั่งไทย สุดท้ายมาปักหลักอยู่บ้านบะไห ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยอยู่ในศูนย์อพยพโดยมีบัตรที่ออกให้โดยทางศูนย์ยืนยัน แต่ไม่เคยรู้ว่ามีการสำรวจและให้บัตรคนลาวอพยพ ทำให้ลูกๆทั้ง 5 คนยังไม่มีบัตรประชาชนจึงลำบากมากเพราะ ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ สวัสดิการต่างๆก็ไม่ได้เหมือนคนทั่วไป

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องลาวอพยพจริงๆแล้ว กฎหมายให้การรองรับเสมอ แต่กระบวนการอาจจะล่าช้าแตกต่างกันไปตามกรณี เพราะเป็นปัญหาเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้ก็ควรจะได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้เขามีตัวตนขึ้นมาและได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากคนไทย เบื้องต้นด้านสวัสดิการสาธารณะสุขก็ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสมแล้ว เพราะมีการให้ประกันสุขภาพแก่คนถือบัตรต่างๆ ทั้งบัตรเลข0 บัตรเลข6 และบัตร ทร.38 แต่ถ้าได้รับสัญชาติไทย โดยเฉพาะการรับสัญชาติตามมาตรา 23 อาจจะช่วยให้ประชากรกลุ่มนี้ได้รับความสะดวกสบายด้านการเดินทางและการใช้ชีวิตทั่วไปมากขึ้น เช่นไม่ถูกกดขี่ทางสังคม จากนายจ้างฯลฯ อย่างไรก็ตามตนในฐานะ กสม. จะประสานงานกับนายอำเภอโขงจียม เพื่อปรึกษาเรื่องกระบวนการขอสัญชาติของกลุ่มลาวอพยพต่อไป

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →