Search

ครบรอบ 40 ปีลาวอพยพ พบชาวบ้านจำนวนมากยังประสบปัญหาสถานะบุคคล “พระมหา”อดีตคนไร้สัญชาติเผยได้บัตรเหมือนพ้นคุก นักวิชาการชี้ถูกเลือกปฏิบัติ

DSC02774

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่ศูนย์ตุ้มโฮมเรียนรู้บ้านตามุย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านจาก 3 อำเภอได้แก่อำเภอบุณฑริก โขงเจียม และโพธิ์ไทร ร่วมกับนักวิชาการ องค์การพัฒนาเอกชน และตัวแทนภาครัฐ จำนวนกว่า200 คน ทำพิธี “รับขวัญคนไทยมาตรา 23 เอิ้นขวัญคนไทไร้สัญชาติ” ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ลาวอพยพ เพื่อแสดงความยินดีกับชาวบ้านกลุ่มลาวอพยพที่ได้สิทธิในการอาศัยอยู่ในประเทศไทยถาวร และได้มีเวทีเสวนา “ปัจจุบันและอนาคตของคนไร้สัญชาติบนแผ่นดินไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน”

DSC02758

นายบุญมา อักษร ตัวแทนจากกลุ่มลาวอพยพในอำเภอบุณฑริก กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 40 ปี กลุ่มลาวอพยพอย่างตน หวังแค่ว่าประเทศไทยและลาวจะกั้นกลางแค่แม่น้ำและภูเขาเท่านั้น ส่วนเรื่องสัญชาติและการใช้กฎหมายที่แบ่งแยกเชื้อชาติ สัญชาติ ตลอดจนกฎเกณฑ์การเลือกปฏิบัติจากสังคมไทย อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกเพราะสงครามมันสิ้นสุดลงมานานแล้ว การอยู่ในประเทศไทยในอดีตอยู่เพราะภัยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศลาวซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในลาวลำบากเพราะอดีตคนกลุ่มดังกล่าวให้การสนับสนุนกองทัพไทย ทางการลาวไม่ยอมรับ แต่ปัจจุบันอยู่เพราะความผูกพันและยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย-ลาว ที่ต้องประคองอยู่ร่วมกัน ต่อไป

DSC02746

 

พระมหาคำประเสริฐ ถาวร ตัวแทนกลุ่มลาวอพยพจากอำเภอโขงเจียม ที่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา23 พ.ร.บ.สัญชาติ กล่าวว่า การได้มาของสัญชาติไทยนั้น ได้รับหลังเรียนจบเปรียญธรรมหกประโยค (เทียบเท่า มัธยมศึกษาปีที่ 6) หลังจากใช้ชีวิตช่วงเด็กผ่านการเหยียดสัญชาติมาโดยตลอด ขณะนี้ยอมรับว่าชีวิตเหมือนคนเคยติดคุกแล้วถูกปล่อยออกจากคุก หรือเหมือนนกถูกปล่อยออกจากกรง

DSC02893

“อาตมาจำได้ว่าตั้งแต่เป็นเด็กน้อยในโรงเรียน ถูกเรียกว่าบักลาว อาตมาท้อมาก เพราะจำได้ว่าเกิดในไทย แต่เกิดจากพ่อแม่ลาว ทำไมต้องแบ่งเขา แบ่งเรา ต่อมาเมื่ออาตมาจะเข้าเรียนประถม ผู้อำนวยการโรงเรียน เห็นว่าเราไม่มีเอกสารอะไรเลยก็ไม่รับ แล้วยิ่งคนมาเรียกอาตมาว่าลาว โรงเรียนก็ยิ่งไม่รับเข้าไปอีก สิ่งที่อาตมาท้อมาก กลัวมากคือ ลาวไม่มีสิทธิเรียนในไทย ตอนนั้นอาตมาจึงตัดสินใจบวชเรียน เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วย ต่อมาก็มีการเรียนกฎหมายเมื่อโตขึ้น ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น อาตมาเลยตัดสินใจเรียนไว้ก่อน พอเรียนจบก็ค้นข้อมูล ยื่นขอสัญชาติตามกฎหมายกำหนดพอได้มา ชีวิตก็เหมือนหลุดมาจากการคุมขัง เป็นความรู้สึกปลื้มใจมาก อาตมาจึงเชื่อว่า คนเราจะอยู่ในฐานะอะไรก็ช่างเราต้องเรียน ต้องมีการศึกษาไว้ก่อน เพราะการศึกษาช่วยให้เรามีการดำรงชีพที่มั่นคงมากขึ้น สามารถใช้ความรู้เพื่อต่อสู้กับกระบวนการต่างๆได้” พระมหาคำประเสริฐ กล่าว

 

DSC02862

นางจันทร์ฉวีวรรณ สีมาฤทธิ์ ปลัดอำเภอโขงเจียม กล่าวว่าการได้สัญชาติตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ ปี 2551 ในส่วนของอำเภอโขงเจียม ได้แล้วจำนวน 800 คน ซึ่งสามารถได้รับสิทธิด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนคนที่ยังไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เช่น เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่รับเรื่อง ส่วนปัญหารองลงมา คือ ประชากรใช้พยานเท็จ ให้ข้อมูลเท็จ ทั้งนี้ตนจะดำเนินการเสนอคำสั่งให้นายอำเภอโขงเจียมเพื่อเปิดยื่นคำร้องแบบต่อเนื่อง ทั้งนี้ยืนยันว่าการยื่นขอขึ้นทะเบียนบัตรเลข 0 ไม่มีเจ้าหน้าที่อำเภอโขงเจียมเรียกรับเงินจากชาวบ้าน จึงขอให้วางใจให้เข้ามายื่นคำร้อง

นายสุรสม กฤษณะจูฑะ อาจารย์ประคำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำวิจัยเมื่อ10 ปีแล้ว ผลจากการวิจัยพบว่า ประชากรในกลุ่มลาวอพยพ ถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเสมอมา โดยส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการตรวจบัตรแสดงตัวตนของกลุ่มลาวอพยพที่ถือบัตรต่างๆ ทั้งผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรเลข6) บัตรแรงงานต่างด้าว ( ทร.38) และบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข0) โดยมักจะตัดสินใจเองว่า กลุ่มนี้เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พิจารณาใจว่าสิทธิในบัตรคืออะไร ทั้งๆที่บัตรต่างๆข้างต้นล้วนมีสิทธิอยู่ในประเทศไทย แตกต่างกันไปตามเงื่อนไข ซึ่งทางกฎหมายมีการระบุสิทธิที่ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น

นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายจากสภาทนายความ กล่าวว่า มนุษย์เราทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญมากที่สุด ดังนั้นหลักการทั่วโลกจึงกำหนดให้ชาติอย่างน้อยหนึ่งชาติเข้ามาดูแล ซึ่งหลักการดังกล่าวชัดเจนว่าทุกคนต้องถูกคุ้มครองจากรัฐ เพื่อไม่ให้มีบุคคลตกสำรวจทางทะเบียน เนื่องจากขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่ของการแก้ปัญหาสัญชาติ อย่างกรณีลาวอพยพในไทยก็เช่นกัน คือ ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทย แม้จะยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีเอกสารแสดงตัว ถ้าไม่มี รัฐต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการขึ้นทะเบียนบุคคลดังกล่าว เพื่อยืนยันแสดงการมีอยู่ของบุคคลๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนคนไร้สัญชาติ ทะเบียนแรงต่างชาติ หรืออะไรก็ตามจำเป็นต้องมีเลขประจำตัวชัดเจน

DSC02818

“ปัจจุบันนี้ รัฐจัดการปัญหายากเพราะเราไม่ยอมบันทึกข้อมูล หรือทำการสำรวจอย่างจริงจัง ดังนั้นการมีบัตรแสดงตนที่ไม่ใช่คนไทยคือ พื้นฐานการทำงานต่อเนื่อง ขอแค่พี่น้องคุยข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่โกหก เป็นลาวมาปีใดก็บอกอย่างนั้น เพิ่งมาทำงานในไทยขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติก็บอกเจ้าหน้าที่ตรงๆ ไม่ว่าท่านๆ อาจจะมีถิ่นที่อยู่อาศัยหรือไม่ก็ได้ มีเอกสารใดๆ ติดตัวหรือไม่ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าต้องแจ้งข้อมูลที่เป็นจริง พอได้เลขประจำตัวมาแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น” นายสุรพงษ์ กล่าว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การติดตามตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านมาของกลุ่มลาวอพยพในขณะนี้ มีตัวกลางดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาสิทธิสถานะบุคคลเพื่อเพื่อสุขภาวะชุมชนลุ่มน้ำโขง –สาละวิน ที่ทำงานอย่างเต็มที่ ต่อจากนี้ตนในฐานะ กสม.จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิและสัญชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนลาวอพยพได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน โดยในส่วนกฎหมายที่มีการคุ้มครองคนดังกล่าวอยู่แล้ว กสม.จะขับเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าประเด็นใดกฎหมายไม่ครอบคลุม ก็รับปากว่าจะขับเคลื่อนประเด็นต่อไปเพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นธรรมและครอบคลุมคนทุกเชื้อชาติ

 

DSC02831
ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน สื่อมวลชนจากส่วนกลางราว 20 คน ได้เดินทางลงพื้นที่หาข้อมูลและสำรวจข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านกลุ่มลาวอพยพ และชาวบ้านที่ยังประสบปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง โดยพบว่ายังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการไม่มีบัตรประชาชนพลเมืองไทย ทั้งกลุ่มที่เดินทางมาเมื่อ 40 ปีก่อนหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังตกหล่นการสำรวจ และอีกจำนวนมากที่เป็นลูกหลานของผู้ที่ประสบปัญหาถานะ อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาของภาครัฐต่อกรณีนี้ ยังไม่เป็นระบบและไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ภาคตะวันออกของอีสานโดยเฉพะริมแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเลยมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี จึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

 

(ภาพ: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →