ปี 2518 นางแปรพร้อมสามีได้อพยพหนีภัยการสู้รบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแถวสะหวันนะเขต ในประเทศลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่กับญาติฝั่งไทย ที่บ้านสอย อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพ
นางก็เหมือนคนอื่นๆสองฝั่งโขงที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่คิดว่าร่มเย็นเป็นสุขซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษดำเนินมา แตกต่างกันแต่ว่าในอดีตการข้ามกันไป-มา ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงโยงใยคนหลากหลายชาติพันธุ์ไว้ด้วยกัน แต่ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้กลับถูกสมมุติให้กลายเป็นเส้นแบ่งแดนของรัฐชาติ แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน
การอพยพข้ามโขงจึงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การเดินทางของนางแปรและสามีจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เมื่อ 40 ปีก่อนรัฐไทยยังไม่เคร่งครัดนัก ทำให้นางแปรและสามีสามารถดำรงวิถีได้อย่างไม่ยุ่งยากนัก
ต่อมาสามีนางได้เสียชีวิต นางจึงย้ายออกไปปักหลักอยู่ที่บ้านตามุย อำเภอและจังหวัดเดียวกัน และนางได้มีสามีใหม่ซึ่งเป็นคนจากประเทศลาวเช่นกัน
นางมีลูกทั้งหมด 5 คน โดยเกิดจากสามีคนแรก 2 คนและสามีใหม่ 3 คน แต่ทั้งหมดกลายเป็นพลเมืองตกขอบของรัฐไทย เพราะไม่มีบัตรประชาชน แม้เคยมีการสำรวจให้คนลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหรือที่เรียกกันว่า “ลาวอพยพ” แต่นางแปรและลูกๆก็ตกสำรวจ
ยังดีที่ไม่กี่ปีก่อนนางได้ไปขึ้นทะเบียนบัตรเลขศูนย์(ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ทำให้ปรากฏตัวตนขึ้นในสังคมไทย
วันที่ 2 ธันวาคม 2558 ครบรอบ 40 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว มีการเฉลิมฉลองจินตนาการใหม่ในดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงกันอย่างรื่นรมย์ ขณะที่นางแปรและลูกๆ รวมทั้งชาวบ้านอีกกลุ่มใหญ่ที่อพยพข้ามโขงมาอยู่ฝั่งซ้าย กลับเป็น 40 ปีที่เหมือนไม่มีตัวตนในสังคมใด
“จะให้กลับไป เราก็ไม่รู้จะกลับไปทำอะไร พวกเราอยู่ที่นี่มานานแล้ว เราเคยยื่นเรื่องไปที่อำเภอหลายครั้ง แต่ก็เงียบหายไป”นางพูดถึงความพยายามในการเป็นพลเมืองสยามครั้งแล้วครั้งเล่า แม้กฎหมายเปิดช่อง แต่ดูมันช่วงยากเย็นสำหรับพลเมืองตกขอบอย่างพวกนาง
ทุกวันนี้ยังมีชาวบ้านในภาคอีสานที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอีกจำนวนไม่น้อยยังคงตกทุกข์ได้ยาก เพราะมีปัญหาด้านสถานะทางทะเบียนราษฎร์และไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และนับวันสถานการณ์ยิ่งซับซ้อน หากไม่เร่งสะสาง
หากคิดว่าพวกเขาเป็นดั่งเครือญาติ สมควรแล้วหรือที่เราเพิกเฉยและปล่อยให้พวกเขาดำเนินชีวิตไปบนความเดือดร้อนเช่นนี้