เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)จัดแถลงข่าวเปิดตัวหนัง 3เดซิเบล เสียงที่ไม่ได้ยิน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ที่นำเสนอเรื่องราวสร้างจากเรื่องจริงของนักต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ชุมชน และสังคมส่วนรวม โดยมีกรณีศึกษา 3กรณี ได้แก่กรณีของ ลุงถนอม ชูแก้ว กลุ่มไทยพลัดถิ่นอายุ 77ปีที่ยังไม่ได้บัตรประชาชน ที่เผชิญชะตาชีวิตถูกสังคมเอาเปรียบทั้งครอบครัว กระทั่งเหตุการณ์ร้ายๆเกิดขึ้น อาทิ ลูกสาวฆ่าตัวตายเพราะถูกข่มขืนจนติดเชื้อเอชไอวี ส่วนลูกชายฆ่าตัวตายเพราะถูกเอาเปรียบด้านหน้าที่การงาน และมักไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนที่ยืนยันการเป็นคนไทย
กรณี ชัยรัตน์ ราชปักสี อดีตลูกเรือประมงที่รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์บนเรือประมงในเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งภายหลังการค้นพบจาก มูลนิธิ LPN พบตัวก็พยายามติดตามช่วยเหลือแต่พบว่า ชัยรัตน์ นั้นป่วยเป็นทางจิตเพราะถูกทรมานและข่มขู่ เรื่องราวของเขาได้รับการถ่ายทอดโดยเพื่อนร่วมชะตากรรมและเจ้าหน้าที่LPN
สุดท้ายเป็นกรณี ของพฤ โอ่โดเชา ชาวปกาเกอะญอที่ต่อสู้เพื่อชาติพันธุ์ เกี่ยวกับการปกป้องป่าไม้ วัฒนธรรมและคัดค้านการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่มีส่วนทำลายรากเหง้าชาติพันธุ์พื้นเมืองโดยมีกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)สนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งกำหนดฉายในโรงภาพยนตร์ SF ห้างเซนทรัลเวิร์ล กรุงเทพ ในเวลา 14.00น.
นายอภิชิต ศรีเกษม ผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า การเข้ามาสร้างหนังเรื่องนี้ เป็นความโชคดีของทีมงานที่มีโอกาสสร้างสิ่งที่แตกต่าง ก้าวข้ามการมีบทหนังที่ต้องสร้างสรรค์ขึ้น โดยตัวละครบางกรณีเป็นตัวบุคคลนั้นจริงๆ อย่างพฤ โอ่โดเชา เขาไม่ใช่นักแสดง คำพูดบางอย่างเป็นความในใจที่ในบทไม่มี และสะท้อนมุมมองข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยมีการเอาเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำ มีคนที่ถูกวัฒนธรรมเมืองกลืนกินจริงๆ โดยตนหวังว่าหากหนังเรื่องนี้ได้ฉายออกไป และมีการเผยแพร่ต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาบ้าง
“ช่วงนี้ไทยกำลังจะร่างกฎหมายใหม่ ผมคิดเล่นๆว่าคงมีกฎหมายที่เข้ามารองรับคนไทยพลัดถิ่น มาดูแลคนไร้สิทธิไร้เสียง และเป็นธรรมกับชนพื้นเมืองมากขึ้น หนัง 3เดซิเบล หมายถึงความดังของเสียงที่น้อยกว่าเสียงกระซิบคนราว 10 เท่า ผมเองเป็นแค่คนหนึ่งที่มีส่วนร่วมถ่ายทอดเรื่องราว ถ้าใครได้ดู ขอแค่หยุดคิดบ้างว่า เขาคือคน เราก็คน อย่างน้อยลดอคติและมีความเห็นใจพวกเขาบ้าง ถ้ามีกฎหมายที่เอื้อกับการคุกคามคนกลุ่มนี้ก็อาจจะช่วยคัดค้าน ผมว่าเท่านี้สังคมก็ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ที่ผ่านมา คนไม่คิดเพราะเขาไม่รู้ ผมหวังว่าหนังจะสร้างความรู้ชุดนั้นเพิ่มขึ้น” นายอภิชิต กล่าว
นางปฏิมา ตั้งปรัชญานุกูล ผู้จัดการมูลนิธิ LPN กล่าวว่า กรณีของชัยรัตน์ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจประมงไทยที่เข้าไปประกอบการในอินโดนีเซีย โดยที่ผ่านมา LPN และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือได้เกือบ 400 คน แต่ยังมีลูกเรือประมงอีกจำนวนมากที่ถูกใช้งานอย่างทาส บางคนล้มตาย บางคนป่วย บางคนสูญหาย บางกรณีที่พบติดเกาะอยู่นานสุด18 ปี ได้ค่าแรง 4 แสนบาท โดยส่วนมากถูกหลอกลงเรือ บ้างโดนวางยาพอไปถึงเกาะถูกบังคับใช้แรงงาน แล้วถูกเบี้ยวค่าแรง ซึ่งปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลไทย ดังนั้นตนในฐานะนักพัฒนาเอกชน คิดว่า คนไทยควรดูหนังเรื่องนี้เพื่ออย่างน้อยรับรู้ชะตากรรมคนไทยที่ถูกเอาเปรียบจากทุนใหญ่ และตระหนักว่าปัญหาค้ามนุษย์คือเรื่องที่ไทยต้องเร่งแก้ปัญหา
ด้านนางหยีด เชาวลิต ภรรยาลุงถนอม หนึ่งในสมาชิกไทยพลัดถิ่น ซึ่งถูกนำชีวิตมาสร้างเป็นตัวละครในหนัง กล่าวว่า ตนและสามีถูกทาบทามให้แสดง แต่ตนทำไม่ได้เพราะเมื่อใดที่เข้าฉากกับตัวละครที่แสดงเป็นลูกสาวที่ผูกคอตาย ตนสั่นไหวและรู้สึกช็อกทุกครั้ง เพราะลูกสาวถูกกระละเมิดสิทธิหลายอย่าง ตนหวังว่า เรื่องเศร้าแบบครอบครัวของตนจะไม่เกิดขึ้นอีก
“ตอนนี้ลุงถนอมเองอายุ 77ปีแล้ว บัตรประชาชนยังไม่ได้ แต่เราคุยกันเสมอว่า แม้ไม่มีบัตรเราก็จะตายให้เลือดเนื้อมันทา มันท่วมลงต่อแผ่นดินไทย ถ้าร่างเราถูกเผา เราก็เป็นฝุ่นผงต่อไป แต่ขอแค่อย่าผลักใส หรือเอาเปรียบเราก็พอ เราไม่อยากเป็นอื่น”นางหยีดกล่าว
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยควรให้ความสำคัญ โดยคนทุกคนต้องเคารพสิทธิระหว่างกันและกัน แต่กรณี 3 คนในหนัง พวกเขาคือคนที่ไร้สิทธิ ไร้เสียง เป็นชีวิตที่ถูกเอาเปรียบ ซึ่งกรรมการสิทธิให้ความสำคัญกับการผลักดันมาโดยตลอด ทั้งนี้นอกจากคนทั่วไปแล้ว ตนอยากให้กลุ่มธุรกิจได้เข้ามาดูหนังด้วย จะได้เรียนรู้เรื่องสิทธิไปพร้อมๆกัน ว่าสังคมยุคประชาธิปไตยไม่ควรมีใครที่ถูกเอาเปรียบและละเมิดสิทธิ์