มีรายงานว่า ระหว่างวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติดาราอั้ง (Ta’ang National Liberation Army- TNLA) และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน(RCSS/SSA)ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก ที่เมืองน้ำคำและที่เมืองม่านต้ง ใกล้กับชายแดนจีน ทางเหนือของรัฐฉาน โดยทหารปะหล่อง TNLA อ้างว่า ฝ่ายทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ได้รุกล้ำในเขตพื้นที่และเป็นฝ่ายเข้าโจมตี TNLA ก่อน
นายไมก์ไอก์จ่อ โฆษกของ TNLA เปิดเผยกับสำนักข่าว Irrawaddy ว่า แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุของการรุกล้ำในครั้งนี้ แต่เชื่อว่า กองทัพพม่าอยู่เบื้องหลังที่พยายามสร้างขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองกลุ่ม ทาง TNLA ยังเปิดเผยว่า หลังเหตุสู้รบเกิดขึ้น มีแนวโน้มว่าสงครามจะดำเนินต่อไปเป็นระยะๆ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกิดเหตุสู้รบตลอดทั้งวัน
“เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับเจตนาของพวกเขา แต่เหตุปะทะกันเกิดขึ้นหลังทาง RCSS/SSA ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่า กองทัพพม่าพยายามสร้างสงคราม พวกเขาร่วมรบกับ RCSS/SSA ในพื้นที่แนวหน้า” นายไมก์ไอก์จ่อ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การสู้รบได้ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในเมืองวี เมืองน้ำคำ หลังทหารพม่าจากกองพันที่ 88 และกองพันที่ 77 ได้ช่วยเหลือทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ยิงปืนเข้าไปในเขตของ TNLA โดยก่อนหน้านี้ทางปะหล่อง TNLA ได้เตือนทหารไทใหญ่หลายครั้ง ไม่ให้เข้ามาในเขตของ TNLA แต่ทางทหารไทใหญ่กลับไม่ปฏิบัติตามและโจมตีปะหล่องจนเป็นเหตุสู้รบกันเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าว Tai Freedom ของ RCSS/SSA ได้ออกมาสวนกลับ ระบุทหารปะหล่อง TNLA เป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีทหารไทใหญ่ก่อน โดยทหารไทใหญ่ที่ถูกโจมตีได้เดินทางกลับจากดอยไตแลง ศูนย์บัญชาการใหญ่ ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังไปฝึกอบรมและฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) ที่ดอยไตแลง ระหว่างที่เดินทางผ่านหมู่บ้านป๋างไก่ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองวุยและเมืองหม่อ ทางเหนือรัฐฉาน ก็ถูกทหารปะหล่องดักซุ่มโจมตีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันเป็นเวลา 4 วัน โดยระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน ทหารปะหล่อง TNLA ได้เพิ่มกำลัง 300 นายมาในพื้นที่และไล่ยิงทหารไทใหญ่เสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็บอีก 2 นาย ทางด้าน TNLA ระบุ ทหารฝ่ายตนได้รับบาดเจ็บเช่นเดียวกัน 3 นาย
ทั้งนี้ RCSS/SSA เป็น 1 ใน 8 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลพม่าเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ปะหล่อง TNLA เป็นกลุ่มที่ยังไม่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ และที่ผ่านมายังคงทำสงครามกับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธส่วนใหญ่ต่างแสดงความคาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองจะเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ โดยพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสร้างกระบวนการสันติภาพในพม่าเป็นงานใหญ่ท้าทายสำหรับนางอองซาน ซูจีและพรรค NLD ที่จะขึ้นมารับช่วงต่อ
ที่มา Irrawaddy/Tai Freedom
แปลและเรียบเรียงโดย Transborder News