เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ศ.ระพี สาคริก ปูชนียบุคคลของสังคมไทยและผู้ทรงภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ…หรือที่รู้จักการในนามพ.ร.บ.จีเอ็มโอ ว่าจริงแล้วเราไม่ควรเอาตัวเองเข้าไปใกล้จีเอ็มโอมากนัก เพราะประเทศไทยนั้นในน้ำมีปลาในนามีข้าวอยู่แล้วก็ควรรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้
“การพัฒนาเกษตรกรรมของเราควรยืนอยู่บนพื้นดิน รู้จักคุณค่าและรักแผ่นดินให้ดีที่สุดด้วยความอดทน ไม่ใช่พอเห็นอะไรล่อตาล่อใจก็รับเอาของเขามาหมด เราควรชนะกิเลสให้ได้ โดยมีเมืองไทยนี่แหละเป็นต้นแบบ เรียนรู้จักของใกล้ตัว อย่าเป็นม้าอารี เจ้าของเขาสร้างคอกให้ แต่ต้องถูกวัวควายเบียดออกจนต้องยืนตากฝนตาย”ศ.ระพี กล่าว
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าสภาเกษตรกรฯรู้สึกกังวลใจกับเรื่องการผลักดันร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอเป็นอย่างมาก เพราะเป้าหมายของเราคือต้องการให้เกษตรกรพึ่งตัวเองเป็นหลัก ไม่ใช่พึ่งพิงแต่บริษัทเอกชน ซึ่งการส่งเสริมจีเอ็มโอทำให้เกษตรกรต้องกลายเป็นทาสบรรษัทข้ามชาติ ทั้งๆที่เราต่างอยากให้เกษตรกรเป็นอิสระและมีเสรีภาพด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งด้านวิชาการ
นายประพัฒน์กล่าวว่า การสนับสนุนให้มีการออกพ.ร.บ.จีเอ็มโอจะทำให้เกษตรกรกลายเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนกันหมด และยังนำไปสู่ความสูญเสียด้านพันธุกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ ที่สำคัญคือร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีช่องโหว่อีกมาก ดังนั้นรัฐบาลควรถอยกลับมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งผู้แทนหน่วยงานราชการและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเป็นว่าเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญด้านเกษตรกรรม นายประพัฒน์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิสูจน์ แต่ไม่สมควรเสี่ยงเหมือนที่กฎหมายจะเปิดกว้าง และหากนักวิชาการต้องการสนับสนุนเกษตรกรจริงก็ควรร่วมค้นคว้าหาความรู้ด้านเกษตรกรรมมากๆเพราะที่ผ่านมามีนักวิชาการค้นคว้าเรื่องเหล่านี้น้อยเหลือเกิน
“เราไม่ปฎิเสธเทคโนโลยี แต่ควรมีการเลือกใช้อย่างรอบคอบ เพราะมิฉะนั้นจะเกิดผลเสียหายตามมามากมาย ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ผมจะลงนามในหนังสือจากสภาเกษตรกรฯส่งถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะในเรื่องนี้”นายประพัฒน์ กล่าว
ด้านนายชนวน เรืองวราหะ รัตนะวราหะ นักวิชาการที่เชียวชาญด้านเกษตรอินทรีย์และอดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า น่าสังเกตคือผู้ที่ร่วมกันผลักดันจีเอ็มโอในครั้งนี้อยู่อีกโลกหนึ่งกับเกษตรกร เพราะไม่เคยสัมผัสความเป็นจริงของการเกษตรกรรม เช่น บอกว่าปลูกพืชทั้งสองแบบควบคู่กันไป หรือบอกให้เว้นระยะเวลา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ออกมาผลักดันจีเอ็มโอเห็นได้ว่าไม่เคยมาสัมผัสกับเกษตรกรอย่างแท้จริงทำให้ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เกษตรกรยากจนแค่ไหน และการผลักดันให้นำเข้าจีเอ็มโอก็ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้พวกเขา ขณะที่ประเทศคู่ค้าด้านสินค้าเกษตรจำนวนมากก็ไม่ยอมรับผลิตผลจากจีเอ็มโอ
———–