กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ร่วมกับประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อเร็วๆนี้ เตรียมให้งบประมาณ 426,806,000 บาท เพื่อช่วยเหลือในโครงการปกป้องสิทธิของสตรีและเด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชนบทและในเขตสงคราม โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกละเมิดสิทธิในรัฐอาระกัน รัฐคะฉิ่น และทางภาคเหนือของรัฐฉาน โดยโครงการจะดำเนินเป็นระยะเวลา 3 ปี
โครงการนี้จะรวมถึงการให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพการเจริญพันธุ์และความช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาหญิงสาวที่ถูกข่มขืน การให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการถูกละเมิดทางเพศ โดยจะให้บริการผ่านทั้งคลินิกเคลื่อนที่และศูนย์สำหรับสตรีและเด็ก
นาง Janet E Jackson ผู้แทน UNFPA ประจำพม่าเปิดเผยว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์ในพม่าต้องแบกรับภาระหนัก เนื่องจากความยากจนและถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ ประกอบกับสงครามและความรุนแรงระหว่างชุมชน โดยโครงการจะมุ่งเน้นให้สตรีและเด็กหญิงเข้าใจในสิทธิของตัวเองมากขึ้น และรณรงค์ให้ผู้ชายและเด็กชายเห็นถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศ หาพื้นที่สำหรับรับฟังเสียงของผู้หญิง โดยยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมขีดความสามารถของบุคคล ชุมชนและสถาบันเพื่อคุ้มครองและตอบสนองต่อการใช้ความรุนแรงให้ดีขึ้น และสนับสนุนการขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ
ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลอีกว่า ในระหว่างการหลบหนีจากความขัดแย้ง ผู้หญิงมักจะขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผดุงครรภ์และไม่มีการใช้ยาคุมกำเนิด รวมมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ HIV และโรคเพศสัมพันธ์อื่นๆ
ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของมารดาที่คลอดบุตรอยู่ที่ 200 คน ต่อ 100,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนซึ่งอยู่ที่ 140 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งสงครามยิ่งพบมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น ขณะที่รายงานซึ่งออกโดยทีมแพทย์ท้องถิ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ค่าดัชนีด้านสุขภาพของคนทางภาคตะวันออกของพม่าเลวร้ายที่สุดเกือบเท่ากับประเทศโซมาเลีย เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิตของทารกทางภาคตะวันออกของประเทศ ก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว อยู่ในอันดับเลวร้ายสุดในภูมิภาคอยู่แล้ว โดยพบว่ามีทารกเสียชีวิตอยู่ที่ 94.2 ต่อ 1,000 คน
นอกจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติยิ่งพบว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครอง ความปลอดภัยและความช่วยเหลือทางกฎหมาย พม่ามีผู้พลัดถิ่นภายใน 645,000 คน มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่มีอัตราตัวเลขผู้หญิงอยู่ในสภาเพียงแค่ 4.42% ถือว่าน้อยที่สุดในภูมิภาคเช่นกัน
ที่มา Myanmar Times
แปลและเรียบเรียงโดย Transborder News