
การประชุมเพื่อสันติภาพและเจรจาทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ที่ลงนามหยุดยิงแห่งชาติได้เริ่มขึ้นแล้ว ที่กรุงเนปีดอว์ ระหว่างวันที่ 12 – 16 มกราคม 2559 มีตัวแทนกว่า 700 คนได้เข้าร่วมประชุม ถึงแม้ทางกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วมการประชุมนี้ เช่นเดียวกับองค์กรภาคสังคมพม่ากว่า 100 องค์กรได้ร่วมกันเรียกร้องให้เลื่อนการประชุมไปก่อนก็ตาม การประชุมหารือทางการเมืองครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติสงครามการเมิืองที่ดำเนินมาหลายสิบปีในพม่า
ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ขึ้นกล่าวว่า การประชุมใน 5 วันนี้ แม้จะยังไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจใดๆ แต่จะเป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาบริหารบ้านเมืองในอีกไม่ถึง 3 เดือนข้างหน้า โดยแถลงการณ์และความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมครั้งนี้จะถูกนำไปหารือในการประชุมในครั้งหน้า “หากเราสามารถรวบรวมความคิดเห็นหลากหลายในแนวทางที่ดีที่สุด การประชุมเจรจาการเมืองที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลหน้าก็จะส่งผลดีออกมาด้วย” เต็งเส่งกล่าว
การประชุมครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ลงนามหยุดยิงแห่งชาติ หรือหยุดยิงทั่วประเทศร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่มเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ มีทั้งตัวแทนจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน กองทัพพม่า ตัวแทนจากรัฐสภา พรรคการเมือง ผู้นำชาติพันธุ์และผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นต้น ขณะที่นางอองซาน ซูจี ประธานพรรค NLD ได้สร้างความประหลาดใจโดยการเข้าร่วมการประชุมสันติภาพเมื่อวานนี้ ซึ่งอาจสร้างความก้าวหน้าให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลือหันมาเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ

“เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จะไม่เกิดการเข้าใจผิดระหว่างกลุ่มที่ลงนามกับกลุ่มที่ยังไม่ลงนาม ประเทศของเรากำลังต้องการความปรองดอง หากปราศจากความปรองดองแล้ว เราไม่สามารถสร้างความสงบสุขที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้” นางซูจียังเรียกร้องให้ทำงานเพื่อให้ทุกกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้ามีส่วนร่วมในการลงนามหยุดยิงแห่งชาติ(NCA)
ทางด้านพลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ได้ขึ้นกล่าวต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมเช่นเดียวกันว่า พม่าจำเป็นต้องมีกองทัพเดียวเหมือนนานาประเทศ โดยเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าร่วมกับกองทัพตั้ตมะด่อว์ หรือกองทัพพม่า เพื่อปกป้องประเทศและรักษาความมั่นคงภายใน โดยเสนอให้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการ DDR/SSA หรือ ปลดอาวุธ เลิกเคลื่อนไหว กลับคืนสู่สังคม(DDR) และการปฏิรูปภาคความมั่นคง (SSR) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ
“เราปฏิบัติให้นโยบายและการสร้างกองทัพพม่าเป็นกองทัพอันเดียวที่มีมาตรฐาน ผมอยากจะบอกว่า ผมอยากเรียนเชิญทหารชาติพันธุ์ที่ต้องการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศเข้าร่วมกองทัพตั้ตมะด่อว์” มิ้นอ่องหล่ายกล่าว
ทางด้านนักเขียนด้านการเมืองอย่าง นายอูจ่อวินแสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการสันติภาพในพม่านั้นอาจเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของต่างชาติและประเทศมหาอำนาจโลก การแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยนายอูจ่อวินแสดงความคิดเห็นว่า หากไม่มีคนอยู่เบื้องหลังกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่อยู่ตายชายแดนพม่า-จีน กระบวนการสันติภาพสำหรับรัฐบาลหน้าก็จะไม่มีปัญหามากนัก
โดยตั้งข้อสังเกตการณ์ กลุ่มติดอาวุธที่อยู่ตายชายแดนจีนไม่ยอมลงนามหยุดยิง ขณะที่กลุ่มติดอาวุธที่อยู่ตามชายแดนไทยกลับยอมลงนามหยุดยิง ซึ่งยังแสดงความคิดเห็นอีกว่า กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยจะมีโอกาสที่ดีในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลชุดใหม่ได้ก็ต่อเมื่อพลเรือนและทหารมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ที่มา Myanmar Times/DVB
แปลและเรียบเรียงโดย Transborder News