เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กทม.ชาวบ้านในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์” จังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 50 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ของบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์เนจเมนท์ ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนซึ่งใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง อันเป็นหนึ่งในโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนชัยภูมิ โดยมี นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ รองเลขาธิการสผ.เป็นผู้รับหนังสือ ทั้งนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารคอยควบคุมดูแลสถานการณ์ตลอดเวลาการทำกิจกรรมของชาวบ้าน
นายสมพร สันติสัมพันธ์ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ กล่าวว่า อยากให้ สผ.รับผิดชอบต่อการรายงานผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของบริษัททีม คอนซัลติ้งฯ โดยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้อง เนื่องจากชาวบ้านพบว่า บริษัทรายงานผลการจัดประชุมไม่ตรงกับส่วนจังหวัดชัยภูมิ โดยในรายงานของบริษัทระบุว่า ชาวบ้านที่ไปประชุมรับฟังความเห็นนั้น ส่วนมากเห็นด้วยกับโครงการพลังงานความร้อน ขณะที่ส่วนจังหวัดลงนามโดยผู้ว่าจังหวัดชัยภูมิระบุว่า ประชาชน 70% ของผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อกรณีโครงการโรงไฟฟ้า ฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทที่รับจัดเวทีไม่มีความจริงใจต่อประชาชนที่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น สผ.ไม่ควรนิ่งเฉย หากตรวจสอบแล้วพบว่ารายงานเป็นเท็จก็ควรมีมาตรการลงโทษ
นายสมพรกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านทุกคนที่ไม่เห็นด้วยเพราะตระหนักต่อผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวการณ์แย่งน้ำ เช่น แหล่งน้ำคันฉู น้ำทะเลสีดอ ที่ชาวบ้านอาศัยทำเกษตรกรรมมานาน หากเกิดโรงไฟฟ้าขึ้นมา เกษตรจะต้องตกเป็นฝ่ายแบกรับปัญหา สผ.จึงไม่ควรปล่อยให้บริษัททำรายงานเท็จเพราะมีผลต่อคนจำนวนมาก
“ถ้าไม่แน่ใจ อยากทำเวทีใหม่ก็ทำได้ แต่ต้องไม่เป็นไปแบบมั่วๆ และต้องไม่รายงานเท็จ แต่ผมยืนยันว่าจะทำเวทีกี่ครั้งและจะเอาแบบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแบบไหนมาอ้าง ผมก็ว่าไม่เหมาะ ทางที่ดีควรจะมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญลงมาศึกษาสภาพพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อพิสูจน์ว่าดิน น้ำ ก็ยังพออยู่พอใช้ และชาวบ้านอยู่ได้โดยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้า หรือควรเอานักวิชาการมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยว่าถ้าโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในสภาพพื้นที่ดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง เราจะได้โต้เถียงกันโดยใช้ข้อมูล แต่ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มาตั้งเวทีแล้วรายงานออกไปโดยไม่ตรงตามความเป็นจริง” นายสมพร กล่าว
นางปิยนันท์ กล่าวภายหลังการรับหนังสือร้องเรียนว่า สผ.จะขอใช้เวลาตรวจสอบกรณีโรงไฟฟ้าสักพักว่าบริษัทรายงานถูกต้อง โปร่งใสหรือไม่ โดยจะนำหนังสือส่งต่อเลขาธิการ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ารายงานเท็จ ประมาท เลินเล่อต่อการรายงานผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นก็อาจจะตักเตือนบริษัท อย่างไรก็ตาม มีบางโครงการที่บริษัทที่ปรึกษารายงานผลการรับฟังความคิดเห็นผิดพลาด สผ.ได้ลงโทษไปบ้างแล้วเช่นกัน โดยการพักใบอนุญาตโดยระยะเวลาการพักขึ้นอยู่กับว่ากรณีนั้นๆ มีความผิดพลาดระดับใด แต่สำหรับโรงไฟฟ้าฯ จังหวัดชัยภูมินั้น ตนยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายประเมินผลอีกที
นางปิยนันท์กล่าวว่า หากผลตรวจสอบไม่มีพบความผิดปกติ สผ.ก็จะปล่อยให้บริษัททำตามขั้นตอนต่อไป นั่นคือ สผ.จะพิจารณารายงานผลรับฟังความคิดเห็นควบคู่กับการตรวจสอบความถูกต้องของรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และหากต้องแก้ไขรายงานจะดำเนินการสั่งแก้ภายใน 30 วัน แล้วส่งต่อให้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการยื่นหนังสือต่อ สผ.แล้ว ชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านและตั้งคำถามในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมกับกับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) สูงถึง 11.32 % และเป็นองค์กรที่เน้นการขับเคลื่อนพลังงานสีเขียว Green Society, Greenery Excellence ในขณะที่ถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก โดยก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะเดินทางไปถึง นางฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ ได้เดินทางมาพบชาวบ้านที่สผ.และเจรจาไกล่เกลี่ยขอความร่วมมือไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว หรือชูป้ายค้านโรงไฟฟ้าที่หน้าบริษัทโดยนางฉวีวรรณ กล่าวว่า ทางบางจากไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) แล้ว โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการบริษัทมีมติเป็นเอกฉันท์ และประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า บริษัทขายหุ้นดังกล่าวให้กับบริษัท เอส กรุ๊ป เออีเซี (ประเทศไทย) กว่า 1 .9 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และไม่มีส่วนในการดำเนินการใดๆ กรณีการทำเหมืองแร่โปแตชอาเซียน
////////////////////////////////