เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 ที่ค่ายมือเอปู กองบัญชาการกองพล 7 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู) ได้จัดงานวันปฎิวัติหรือวันชาติกะเหรี่ยงปีที่ 67 ซึ่งในครั้งนี้จัดใหญ่เป็นพิเศษโดยกองกำลังกะเหรี่ยงทุกกลุ่มต่างเข้าร่วม และมีประชาชนชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นคนทั้งจากฝั่งพม่าและฝั่งไทย รวมทั้งผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมแสดงความยินดี โดยพิธีเริ่มขึ้นในเวลา 07.00 น.ได้มีพิธีสวนสนามโดยมีพลเอกบอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ตรวจแถว
พลเอกมูตู เซโพ ประธานเคเอ็นยูกล่าวในพิธีเปิดว่า การจัดงานวันปฎิวัติปีที่ 67 นี้ เกิดขึ้นได้จากทุกคน ซึ่งการเริ่มต้นปฎิวัติของกะเหรี่ยงไม่ได้เริ่มจากการใช้อาวุธ แต่เป็นการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติภาพและกฎหมาย แต่รัฐบาลฟาสซิสต่อต้านและไม่ยอมรับ สุดท้ายจึงต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรงเพื่อป้องกันตัวเองและเพื่อประชาธิปไตยและสหพันธรัฐภายใต้ความเท่าเทียม และขณะนี้ได้มีการลงนามร่วมกับรัฐบาลพม่าเพื่อการเจรจาสันติภาพภายใต้กรอบพัฒนาทางการเมืองซึ่งมีลำดับขั้นตอน โดยมีข้อกังวลของประชาชนมาเป็นหัวข้อเจรจา
“ตอนนี้เป้าหมายทางการเมืองของเรายังไม่สมบูรณ์ เรายังไม่ได้รับอิสรภาพ เราต้องยืนหยัดให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราต้องเตรียมตัวเพื่อความเคลื่อนไหวในอนาคต หัวใจของการปฎิวัติจะอยู่ในหัวใจของทุกคนจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย” พลเอกมูตู เซโพ กล่าว
พลเอกบอจ่อแฮกล่าวปราศัยว่า เคเอ็นยูยังต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อให้ถึงหลักชัย โดยเราต้องทบทวนสิ่งที่ประชาชนต้องการอยู่ตลอดเวลา เราต้องต่อสู้ในเวทีการเมืองต่อไปเพราะสงครามไม่ใช่แค่อาวุธ แต่มีหลายรูปแบบ เช่น สงครามข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นเราต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง ทุกวันนี้ประชาชนยังเกิดความแตกแยกเพราะบ้านเมืองเดือดร้อนเนื่องจากกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
“ตอนนี้เขาบอกให้ทุกกองกำลังต้องวางอาวุธ แต่ถ้าเราทำเช่นนั้นก็เหมือนกับการยอมแพ้ อาวุธของกะเหรี่ยงก็ต้องอยู่ในมือของกะเหรี่ยง แต่เราจับอาวุธเพื่อประชาชนของเรา ตอนนี้เรายังมีข้อกังวลอีกมากซึ่งต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ขณะนี้ประชาชนกะเหรี่ยงต้องการให้กองกำลังกะเหรี่ยงทั้ง 5 กลุ่มมาร่วมมือกัน ภายใต้ความไม่เข้าใจกันควรได้รับการแก้ไข” พลเอกบอจ่อแฮ กล่าว
“เราต้องรวมกันให้ได้ภายใน 2-3 ปีนี้ เพราะทุกวันนี้เรายังมีขีดความสามารถในการจัดการกองทัพกันน้อย เราต้องอธิบายกันให้เข้าใจได้ว่าความแตกแยกที่เกิดขึ้นมาจากอะไร หากเรารวมกัน ผมคิดว่าถึงหลักชัยแน่นอน แต่ใครที่ไม่ยอมร่วมมือก็ต้องตีตราได้ว่าร่วมมือกับศัตรู” พลเอกบอจ่อแฮ กล่าว
พลเอกบอจ่อแฮให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ก้าวที่ 67 ของเคเอ็นยูยังคงต้องเตรียมพร้อมยิ่งขึ้นและไม่มีการวางอาวุธแน่นอน และไม่เข้าร่วมกับกองทัพพม่า เพราะการคงกองกำลังของแต่ละรัฐก็สามารถทำได้แม้จะมีกองทัพพม่าอยู่แล้ว โดยกองกำลังของแต่ละชาติพันธุ์มีเพื่อปกป้องตนเอง ขณะเดียวกันควรมีการสานความร่วมมือกับชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ เพราะพม่ามีกองทัพที่ใหญ่ หากมีการรุกรานก็จะต้านทานยาก นอกจากทุกกองกำลังมาร่วมมือกัน
ขณะที่พลเอกซอ บีทู ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพรรคคะเรนนีก้าวหน้า หรือ เคเอ็นพีพี กล่าวว่าการที่เคเอ็นพีพีไม่ลงนามในสันติภาพกับรัฐบาลพม่าเนื่องจากในสัญญาข้อที่ 32 คือเรื่องการให้ทุกกองกำลังลงนาม ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขคือเรื่องรัฐธรรมนูญของพม่าที่ยังให้อำนาจกับกองทัพอยู่เหนือรัฐบาล