“เราไม่ได้ใหญ่คับฟ้า และไม่มีใครเด่น วัฒนธรรมในโลกนี้มันหมุนได้ เปลี่ยนได้ ผสมได้ และนี่คือประเทศไทย คงไม่มีวัฒนธรรมไหนรุ่งเรืองแบบโดดเดี่ยว”
เสียงปรบมือดังทั่วลานกิจกรรมบ้านสบลานทันที ที่ “เต๋า” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวเกริ่นนำผลงานสารคดีเกี่ยวกับปกาเกอะญอชุด “ผู้ให้และผู้มีปัญญา (The Givers and The wisdom)หนึ่งในโครงการจากการเรียนวิชาสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม “ในงานบุญข้าวใหม่ พิธีส่งนกขวัญข้าว” ณ บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
“ผลงานนี่เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ น้อยที่พวกเราตั้งใจทำ และในฐานะเยาวชน หนูเชื่อยังมีคนอีกมากที่ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา อยู่ในประเทศไทย และหากหนูกับเพื่อนมีโอกาสได้ศึกษาเพิ่มเติมก็จะทำต่อไป” เต๋า กล่าวก่อนจะเข้าเริ่มนำผู้ชมกว่า 300 ชีวิต เข้าสู่สารคดี
เนื้อหาของที่ผลิตเป็นบรรยายเสียงเป็นภาษาไทยและบรรยายตัวอักษรเป็นภาษาอังกฤษ เน้นที่ประเด็นภูมิปัญญาบนฐานการพึ่งพิงทรัพยากรป่าและน้ำของชุมชนปกาเกอะญอบ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ชนิดของสมุนไพร ที่ปกาเกอะญอหาได้จากป่าและเพาะปลูกจากไร่หมุนเวียน พันธุ์ข้าวนา ข้าวไร่ ผัก ผลไม้ทั่วไป รวมทั้งนิทานความเชื่อที่รวบรวมองค์ความรู้จากผู้เฒ่าในชุมชนสบลาน ฯลฯ
สำหรับความเป็นมาของโครงการ “กรชิต บุญสถิตภักดิ์ดี” หรือ “นาย” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 เล่าว่า จริงๆแล้ววิชาสื่อสร้างสรรค์ ฯ เป็นวิชาเลือกที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถลงทะเบียนเรียนได้ตามความสนใจ โดยปีนี้มีสมาชิกลงเรียน 26 คน ทุก โดยตนเลือกเรียนเพราะมีความสนใจด้านสื่อ ในการเรียนจะมีทั้งการเรียนในห้องเพื่อเรียนรู้กระบวนการทำสื่อแล้วลงพื้นที่จริง โดยกรณีปกาเกอะญอนั้นทั้งกลุ่มใช้เวลาตั้งแต่เก็บข้อมูลกระทั่งผลิตเป็นสื่อ3 ประเภทคือ วารสารออนไลน์หัวข้อรายงาน HIA (Health Impact Assessment) สารคดีโสตทัศน์เรื่อง “ผู้ให้และผู้มีปัญญา” และนิตยสารสิ่งพิมพ์ชุด “ปกาเกอะญอ ฉันคือคน”
การลงพื้นที่ของสมาชิกกลุ่มใช้เวลาลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูล3 ครั้ง แบ่งเป็นกลุ่มตามความสนใจ เช่น ใครสนใจเรื่องสัตว์เลี้ยงก็ศึกษาเฉพาะสัตว์เลี้ยง ทั้งที่มา ประวัติศาสตร์ความเชื่อ ส่วนใครสนใจเรื่องสมุนไพร ก็ต้องสัมภาษณ์ข้อมูล พร้อมค้นหาข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มาประกอบคำอธิบายฯ จากนั้นสรุปเนื้อหามาผลิตสื่อร่วมกัน
กรชิต อธิบายเพิ่มว่า ข้อมูลครั้งนี้ตนและเพื่อนๆใช้เวลากว่า 6 เดือน โดยเนื้อหาทุกส่วนผ่านการพิจารณาของอาจารย์ที่ปรึกษา และผ่านความเห็นของชาวบ้านสบลานกระทั่งมาสู่กระบวนการเผยแพร่ซึ่งตนรู้สึกประทับใจมากกับผลการศึกษาครั้งนี้
“ผมว่ามันมากกว่าห้องเรียนธรรมดานะ ผมเองก็มีชีวิตติดเมืองมากๆ ชอบความสบาย ทีแรกผมสงสารปกาเกอะญอมากๆ เขาไม่มีไฟฟ้าใช้ และต้องเสี่ยงกับลมหนาว แต่พอผมลงพื้นที่หลายครั้ง หน้าฝนมีปลากิน หน้าหนาวผู้เฒ่าเผามัน ต้มมันให้กิน บางครั้งได้กินผักที่ชาวบ้านปลูกเอง กินหมูที่เขาเลี้ยงเอง ผมรู้สึกแต่ละวันมันมีคุณค่า เขามีความสุขอย่างเหลือเชื่อ บางวันเดินไปป่า ไปไร่ ผมก็นั่งพักใต้ร่มไม้ เบื่อๆ ก็เล่นน้ำตกใกล้ๆ หมู่บ้าน ผมก็รู้แล้วว่า ชีวิตคนเราไม่มีอะไรที่ต้องเปรียบเทียบกับใครหรอก บางสิ่งที่เราสบาย คนอื่นอาจไม่สบาย บางสิ่งที่คนอื่นเขารู้สึกมีคุณค่าเราอาจมองไม่เห็น แต่สำหรับปกาเกอะญอ ที่บ้านสบลาน ผมเชื่อเหมือนที่ชาวบ้านเชื่อ คือ มีน้ำ ป่าก็มีซึ่งทุกสิ่ง รักษาต้นน้ำ เพื่อความสมดุลของทรัพยากร และเพื่อความมั่นคงของการดำรงชีวิต ซึ่งคนปลายน้ำเองก็ต้องการ” กรชิต กล่าวถึงความประทับใจจากการลงพื้นที่บ้านสบลาน
สวิตตา จันทรี หรือ เกื้อ สมาชิกกลุ่มที่ร่วมบอกเล่าเรื่องราวของปกาเกอะญอ บ้านสบลาน กล่าวว่า ปกาเกอะญอที่หมู่บ้านบอกกับตนเสมอว่า ให้มองเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ว่าคนอื่นจะมองว่าแปลก แบ่งแยกก็ตาม คนเราบนโลกนี้เกิดมามีมุมต่างกันไม่มากก็น้อย และปกาเกอะญอก็มีวัฒนธรรมแตกต่างจากคนเมือง สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องแปลก
สวิตตายอมรับว่า ปกาเกอะญอ คือชาติพันธุ์แรกที่เธอได้รู้จัก และมีภูมิปัญญาหลายอย่างที่น่าทึ่ง โดยในการทำโครงการฯ เธอและเพื่อนๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นการประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ วิถีชีวิตของปกาเกอะญอมีความพิเศษในหลายๆด้าน เช่น การจัดการป่าโดยแบ่งเขตป่าตามความเชื่อ ความรู้ และลักษณะการใช้สอย เช่น ปกาเกอะญอจะเลือกรักษาป่าความเชื่อหรือป่าศักดิ์สิทธิไว้ ไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ ทำให้ป่าศักดิ์สิทธิฯ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นโดยรอบ ส่วนป่าที่ใช้สอยจะมีทั้งสมุนไพร มีพืช และมีต้นไม้ที่โตพอจะตัดมาทำประโยชน์ได้ ส่วนไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านทำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นองค์ความรู้ในการทำไร่ และพักไร่ โดยเพาะปลูกแค่ 1ฤดูกาล แล้วปล่อยทิ้งไว้ ให้ป่าใช้เวลาคืนสมดุลตามธรรมชาติ ราว 6-7 ปี ฤดูกาลเพาะปลูกของปกาเกอะญอ จะแบ่งวัน เดือนคล้ายกับปฏิทินพืชผัก สลับกันไปทุกเดือน โดย เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชแต่ละชนิด ชาวบ้านจำถนอมอาหารไว้กินนานๆ โดยไม่พึ่งพาเครื่องมือทันสมัยอย่างเครื่องอบแห้ง หรือตู้เย็นเลย ช่วงการเพาะปลูกบางช่วงชาวบ้านปลูกผักผสมผสานกันได้ตามความเหมาะสม เช่น ปลูกมัน ปลูกเผือกในไร่ข้าว เพราะมีประสบการณ์แล้วว่า พืชทั้งสองประเทศไม่ใช่ศัตรูระหว่างกันผลผลิตก็จะดีเพราะแทบไม่มีศัตรูพืช
สวิตตา เล่าด้วยว่า ในหนังสือชุดปกาเกอะญอ ฉันคือคน ยังมีการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าเรื่องแนวคิดการรักษาน้ำ โดยปกาเกอะญอมีพิธีบูชาผีฝาย ผีน้ำเพื่อขอน้ำมาใช้สอยตามฤดูกาล และมีพิธีให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาต้นน้ำให้ดีที่สุด หากคนในหมู่บ้านมีส่วนทำลายน้ำก็จะป่วยไข้ หรือเกิดเหตุอันตรายต่อชีวิตขึ้นมาได้ จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าระบุว่า ป่าต้นน้ำสบลาน เป็นจุดกำเนิดของลำห้วยมากกว่า 22 สาย อาทิ ห้วยหมี ห้วยลูกอ๊อด ห้วยน้ำหวาน ฯลฯ ซึ่งน้ำในลำห้วยจะไหลไปรวมกันเกิดเป็นแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำแม่ลานเงิน แม่ลานคำ และแม่ลานหลวง จากนั้นไหลรวมเป็นแม่น้ำแม่ลาน ก่อนไหลออกไปแม่ขาน ซึ่งหากปกาเกอะญอรักษาต้นน้ำในพื้นที่ไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดวิกฤติแก่สิ่งมีชีวิตทุกที่ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำ ลำห้วย สำคัญที่กล่าวมา
ผลงานของเยาวชนโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นข้อมูลเชิงบันทึกปรัชญา ความรู้ และความเชื่อของปกาเกอะญอ บ้านสบลาน ที่เป็นดังข้อมูลเบิกทางให้คนได้รู้จักปกาเกอะญอมากขึ้น โดยเฉพาะวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ที่ปากเกอะญอหลายพื้นที่ เคยตกเป็นจำเลยผู้เผาป่า สร้างมลพิษ ซึ่งเรื่องนี้พาตี (ลุง)เก่หน่า ยอดฉัตรมิ่งบุญ หมอขวัญข้าวประจำหมู่บ้านสบลาน กล่าวหลังทำบุญขวัญข้าวเพิ่มเติมว่า ปกาเกอะญอที่ทำไร่หมุนเวียนเพื่อความอยู่รอดระยะยาว วันนี้ตนดีใจที่เยาวชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ศึกษาวิถีชีวิตที่แทบจะถูกรัฐบาลหลงลืม แม้จะมีการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษมานานแล้วก็ตาม แต่ชีวิตของคนอยู่กับป่าแบบปกาเกอะญอ ก็ถูกรุกรานอยู่เรื่อยๆ ปีนี้ชาวบ้านจึงถือโอกาสจัดงานบุญขวัญข้าว ครั้งใหญ่ครั้งแรก แล้วเชิญปกาเกอะญอ และผู้เกี่ยวข้องเข้ามาฉลองงานบุญด้วยกัน เพื่อย้ำว่าปกาเกอะญอบ้านสบลานให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และยินดีเป็นผู้ผลิตพืชอันสำคัญอย่างข้าว โดยไม่เบียดเบียนป่าต้นน้ำ
เก่หน่า ประกาศเจตนารมณ์ในฐานะตัวแทนชาวนาปกาเกอะญอด้วยว่า ชาวบ้านไม่สามารถสูญเสียที่ดินเพื่อการพัฒนาอย่างอื่นได้แล้ว และไม่อยากให้มีการประกาศแนวเขตอุทยาน หากต้องมีการกันชาวบ้านให้ไกลออกจากป่า มาถึงวันนี้สิ่งที่ชาวบ้านหวงแหนที่สุดคือที่ดินสำหรับปลูกข้าว เพราะข้าวมีความสำคัญกับปกาเกอะญออย่างมาก
“เรามีนิทานเรื่องหนึ่งชื่อเงิน ข้าว และ นกกระติ๊ดตะโพกขาว (โถ่พิ้ว) เล่ากันว่ากาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องสองคนทะเลาะกันในเรื่องที่ว่า ข้าวมีค่าเหนือกว่าเงินหรือเงินมีค่าเหนือกว่าข้าว โดยพี่เห็นว่า “เงินเหนือกว่าข้าว” ส่วนน้องเห็นว่า “ข้าวเหนือกว่าเงิน” ในที่สุดน้องเถียงสู้พี่ไม่ได้ก็ให้พี่เอาเงินไปให้หมด ส่วนน้องเอาข้าวไปหมด สมัยนั้นเม็ดข้าวมีขนาดใหญ่เท่าฟักเขียว วันหนึ่งเด็กคนหนึ่งร้องไห้เพราะหิวข้าว พี่เห็นเด็กคนนั้นร้องไห้ ก็ตักน้ำถ้วยหนึ่ง แล้วเอาเงินแช่ลงไปในนั้น จากนั้นเอาไปให้เด็กกินแต่กินแล้วก็ยังร้องไห้อยู่เหมือนเดิม พี่เลยลองเอาข้าวไหม้ก้นหม้อนิดหนึ่ง แช่น้ำให้เด็กกิน เด็กจึงหยุดร้องไห้ พี่เห็นดังนั้นจึงมองเห็นความสำคัญของข้าว จากนั้นจึงเริ่มออกเดินตามหาน้องชายที่อาศัยอยู่ในถ้ำ แต่พอไปถึงเข้าถ้ำไม่ได้เพราะช่องประตูเล็ก จึงใช้นกกระติ๊ดตะโพกขาวไปเอาข้าวแทน แต่นกไม่สามารถเอาข้าวทั้งหมดได้ ก็จิกมาทีละนิด ๆ เพราะถ้าเอามาเยอะก็จะบินกลับมาไม่ไหว จากนั้นฝ่ายพี่ก็รับเอาเมล็ดข้าวมาปลูกทีละเล็ก ทีละน้อยจนเป็นพันธุ์ข้าวใหม่ในเวลาต่อมา เรื่องนี้อธิบายว่า อุดมคติของชาวปกาเกอะญอเห็นความสำคัญของข้าว แบบพออยู่พอกิน และไม่ใฝ่หาความร่ำรวยเชิงวัตถุ จากเรื่องเล่าในอดีตทำให้ปกาเกอะญอนับเป็นหนี้บุญคุณข้าว และนับถือนกกระติ๊ด ที่เอาข้าวมาให้ จึงต้องมีพิธีกรรรมขอบคุณ บอกลา นกและขอบคุณเมล็ดข้าวที่ให้ชีวิต ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน”
จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปกาเกอะญอ อยู่บ้านหนองเต่า ดอยแม่วางจังหวัดเชียงใหม่ อธิบายถึงภูมิปัญญาของปกาเกอะญอว่า ชีวิตของปกาเกอะญอทุกพื้นที่ มี 3 อย่างที่ชาวบ้านเชื่อว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ คือ ดิน น้ำ ป่า.ซึ่งชาวบ้านไม่เคยคิดครองเนื่องจากเป็นทรัพยากรส่วนร่วมที่หล่อเลี้ยงคนจำนวนมาก ในพิธีบุญขวัญข้าวนั้นชาวบ้านจะมีสัญลักษณ์หนึ่งที่เอามาตั้งรับลม คือ “กังหันลม 3 ใบที่ทำจากไม้ไผ่” เป็นสัญลักษณ์เตือนสติปกาเกอะญอว่า ทุกครั้งที่กังหันลมหมุนไป เป็นเหมือนวงจรดิน น้ำ ป่า ต่างต้องทำงานคู่กัน เราจึงต้องรักษา 3อย่างนี้เท่าชีวิตเพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ การที่เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาภูมิปัญญาปกาเกอะญอ ก็เท่ากับว่าเขามารู้จัก ดิน น้ำ ป่า ซึ่งดินนี้ชาวบ้านใช้ปลูกข้าว และผักอื่น จำเป็นต้องน้ำ หากป่าไม่สมบูรณ์น้ำฝน น้ำในห้วยก็แปรปรวน เมื่อไม่ปกติผลผลิตก็แย่ ชาวบ้านก็เดือดร้อน
การอยู่อย่างพึ่งพาธรรมชาติและการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่า ทั้งจากคำบอกเล่าของปราชญ์ชาวบ้าน และบันทึกข้อมูลของเยาวชนโรงเรียนรุ่งอรุณ จึงนับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ช่วยถ่ายทอดชีวิตของปกาเกอะญอในฐานะผู้ให้และผู้มีปัญญา
—————————-
หมายเหตุ : -รับชมสารคดีของนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=c3lLLAXdVA
– ดาวน์โหลดวารสารออนไลน์ได้ที่ HIA http://issuu.com/roongaroon/docs/hia_pgagayaw_resize