องค์กรชุมชนพม่าที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิเด็กได้จัดอบรมและประชุม ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากพรรค NLD ยอมรับเด็กที่เกิดในพื้นที่ขัดแย้งสงคราม รวมไปถึงลูกแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากทางการพม่า
ในการจัดอบรมขององค์กรคณะกรรมการเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิเด็ก (The Committee for the Protection and Promotion of Child Rights -CPPCR) ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำงานในประเด็นปกป้องสิทธิเด็ก ได้มีการหารือถึงประเด็นการแจ้งเกิดของเด็กที่เกิดในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสู้รบ รวมถึงเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเห็นว่าเด็กเหล่านี้ควรที่จะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลใหม่ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศในเดือนเมษายนนี้
นายซอว์ ทา วิน หนึ่งในคณะกรรมการของ CPPCR กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะมีรัฐบาลใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนปราถนา และรัฐบาลใหม่จากพรรค NLD นั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม เขาหวังว่า รัฐบาลใหม่จะทำหน้าที่ได้ดีกว่ารัฐบาลชุดก่อนในด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและสิทธิของเด็ก
นอกจากนี้ ทางกลุ่มหวังกดดันให้รัฐบาลใหม่ให้การรับรองเอกสารการเกิดที่ได้มาตรฐานยอมรับได้ ที่ออกโดยองค์กรที่ทำงานตรงชายแดนไทย -พม่า และเอกสารการเกิดของเด็กที่ออกโดยประเทศเพื่อนบ้าน โดยยังหวังให้ประชาชนในเขตชนบทพื้นที่ชนกลุ่มน้อยสามารถเข้าถึงการแจ้งเกิดเพิ่มมากขึ้น ในที่อบรมยังมีการพูดคุยที่จะสร้างเครือข่ายปกป้องสิทธิเด็กให้เข้มแข็งมากขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีการหารือถึงนโยบายเกี่ยวกับสิทธิของพลเมือง สิทธิของเด็กกำพร้าพ่อแม่ รวมถึงนโยบายปกป้องเด็กที่ตกเป็นเหยื่อถูกค้ามนุษย์เป็นต้น
มีรายงานว่า ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์กร Save the Children แม่ตาวคลีนิค องค์กรสตรีกะเหรี่ยง(the Karen Woman Organization) ไปจนถึงองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กและองค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพบริเวณชายแดนไทย-พม่าได้เข้าร่วมประชุมอบรบครั้งนี้
“การมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรที่ทำงานด้านชุมชนทั้งจากในพม่า และกลุ่มที่ทำงานตรงชายแดนเช่นนี้ ทำให้เราได้รับข้อมูลว่า มีพื้นที่ที่เราสามารถร่วมกันทำงานได้ต่อไปในอนาคต สถานการณ์ของเด็กจะดีขึ้นได้ หากเราสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้” นาง นอ แอ ทามวย พอว์ จากองค์กรสตรีกะเหรี่ยงกล่าว
ที่มา Karen News
แปลโดย Transborder News