วันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. ชาวเลชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ราว 30 คน ที่เดินทางมายังกรุงเทพฯ เป็นวันที่สาม เพื่อยื่นข้อร้องเรียนยังหน่วยงานต่างๆ ภายหลังจากเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับเอกชน จนเป็นเหตุให้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ราว 100 คนรุมทำร้ายเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาที่ดินชุมชนราไวย์ โดยได้แนบเอกสารและแผนที่ที่ผ่านการตรวจแล้วของดีเอสไอโดยมีนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงเป็นผู้แทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ ในหนังสือที่ยื่นถึงกระทรวงยุติธรรมระบุว่า ตามที่มีชายฉกรรจ์กว่า 100 คน บุกเข้าทำร้ายชาวเล ชุมชนบ้านราไวย์ และนำรถบรรทุกก้อนหินขนาดใหญ่มาเท ปิดเส้นทางเข้า-ออก ของชุมชน ในขณะที่มีผู้หญิงและเด็กจำนวนมากนั่งอยู่จนเป็นเหตุให้ชาวเลกว่า 30 คน ได้รับบาดเจ็บนั้น ชาวเลบ้านราไวย์ขอเรียนให้ท่านทราบว่าพื้นที่บริเวณหาดราไวย์ เป็นที่อยู่อาศัย ทำกิน ของชาวเลบ้านราไวย์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมากว่า 7 ช่วงอายุคน หรือนับระยะเวลามากว่า 300 ปีโดยมี 3 ชนเผ่า คือ มอแกน มอแกลน และอุรักราโว้ย อาศัยในพื้นที่เดียวกัน จำนวน 252 หลังคาเรือน 2,063 คน
หนังสือระบุว่า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงกับความจริง ขอเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีฯ กระทรวงยุติธรรม เร่งดำเนินการดังต่อไป 1.สั่งการให้ดีเอสไอรับคดีที่ดินชุมชนราไวย์และคดีชาวเลพิพาทกับเอกชน เป็นคดีพิเศษ 2.ให้เร่งดำเนินคดีกับกลุ่มอิทธิพลและชายฉกรรจ์กว่า 100 คน ที่ทำร้ายชาวเล 3.เร่งเยียวยาชาวเลจำนวน 34 ราย ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งร่างกาย ทรัพย์สิน และเครื่องมือประมงที่เสียหาย
นายสนิท แซ่ซั่ว ตัวแทนชาวเลราไวย์ กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้ ชาวบ้านไม่ได้ต้องการเรียกร้องเอาที่ดินสาธารณะมาเป็นของส่วนตัว เพียงแค่อยากให้มีการกันเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ผ่านมาชาวบ้านเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด เมื่อออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เอกชนก็บอกกับเราว่ามีเอกสารสิทธิ์ แล้วความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ในเมื่อชาวเลทั้ง 5 จังหวัดอันดามันเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงมาตรวจสอบมีหลักฐานชัดเจนว่าชาวเลอยู่มาก่อน แต่อัยการจังหวัดภูเก็ตกลับบอกกกับชาวบ้านว่า ไม่สามารถใช้หลักฐานเหล่านี้ไปเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หากจะเพิกถอนต้องใช้อำนาจศาล
“การมาครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เรายังมีพี่น้องอีกกว่า 2 พันคนที่รอคอยคำตอบและให้กำลังใจอยู่ที่ชุมชนราไวย์ เราอยากให้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย เพื่อร่วมกันปกป้องสิทธิที่บรรพบุรุษได้มอบให้ชาวเลทุกคน ทั้งที่ดินชุมชน พื้นที่ศักดิสิทธิ บางทีหากปัญหาไม่มีความคืบหน้า เราอาจตัดสินใจอยู่สู้ที่กรุงเทพต่อ” นายสนิท กล่าว
นายธวัชชัย กล่าวว่า ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ พ.ต.อ.ดุษฏี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม จะนำคณะลงพื้นที่หาดราไวย์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีการทำร้ายร้างกายชาวบ้าน ส่วนกรณีปัญหาที่ดินชุมชนนั้น จะสั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษลงไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกรณีที่ดินสาธารณะจำนวน 33 ไร่ ว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง และจะติดตามเรื่องขอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินชุมชนราไวย์จำนวน 19 ไร่ ตามที่เคยส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอยู่ในกระบวนการใดหรือติดขัดขั้นตอนใด
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ จะให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยใช้เงินจากกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้ในชั้นศาล เช่น ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศาล รวมไปถึงพยายามหาแนวทางไกล่เกลี่ยที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพื่อไม่จำเป็นให้เรื่องไปถึงชั้นศาล
ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะเดินทางเข้ามาในครั้งนี้ ดีเอสไอได้รับการร้องขอหลักฐานจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ส่งข้อมูลทั้งหมดกลับไปแล้ว หลังจากนี้หากกระทรวงฯ มีคำสั่งให้ดีเอสไอรับกรณีปัญหานี้เป็นคดีพิเศษ ก็พร้อมจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ เส้นทางเดินสาธารณะ จุดที่ตั้งโต๊ะบาไล ที่กำลังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจน ซึ่งหากมีผลออกมาแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การยอมรับแล้ว จึงจะไปตรวจสอบการถือครองเอกสารสิทธิ์ว่าถูกต้องหรือไม่
เวลา 12.00 น. กลุ่มชาวเลได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือต่อนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ให้ช่วยเหลือชาวบ้านจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน โดยนางตือนใจ กล่าวว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้ง ตำรวจ มณฑลทหารบก ชาวบ้านที่ถูกทำร้าย เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ถึงข้อเท็จจริงในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน และเชิญนักวิชาการที่ศึกษาการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธ์ เพื่อหารือแนวทางการพิสูจน์สิทธิ์ของชาวเล นอกจากนี้จะเสนอให้มติคณะรัฐมนตรีแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ยกระดับเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองตามกฎหมาย
จากนั้นเวลา 13.00 น. กลุ่มชาวเลได้เดินทางไปยัง สำนักงานกรมที่ดิน เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาที่ดินชุมชนราไวย์ โดยมีนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ เลขานุการกรม เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ในหนังสือร้องเรียนระบุว่า 1.ให้อธิบดีกรมที่ดินเร่งดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบ ทับชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ตามที่คณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชองชุมชนชาวเล ซึ่งมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ดีเอสไอรวบรวมหลักฐานและที่ประชุมมีมติส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ จำนวน19 ไร่ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 2.ขอให้กรมที่ดินร่วมกับคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชองชุมชนชาวเล ตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทระหว่างชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ กับบริษัทบารอน เวิร์ดเทรด จำกัด จำนวน 33 ไร่ ซึ่งออกทับทางเดินสาธารณะ บาไลพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล พื้นที่ชายหาด บ่อน้ำโบราณของชาวเล และคลองหลาโอน
นายปิยพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินชุมชนราไวย์จำนวน 19 ไร่ นั้น กรมที่ดินได้รับการเสนอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์และหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจากดีเอสไอแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการที่กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างรอบคอบ ส่วนกรณีที่ดินจำนวน 33 ไร่ ที่เอกชนมีเอกสารสิทธิ์และชาวบ้านอ้างว่าเป็นที่สาธารณะ กรมที่ดินจะลงไปตรวจสอบอย่างแน่นอน หากพบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ก็จะต้องมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เช่นกัน โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้าน กรมที่ดินจะทำหนังสือสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด
————