วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องประชุมอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดสัมมนาและเปิดตัวงานวิจัยเรื่อง แม่น้ำโขง กฎหมาย เขื่อน และการพัฒนา “The Mekong Laws, Dams and Development” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้แทนจากสถานทูตต่างๆ และสื่อมวลชนต่างประเทศจากหลายสำนัก
ดร.ฟิลลิป เฮิร์ช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษากฎหมายและการจัดการแม่น้ำโขง การพัฒนาลุ่มน้ำโขงโดยมองจากด้านสังคมวิทยาและกฎหมาย(socio-legal) การทำวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อมองระบบแม่น้ำโขงในด้านนิเวศวิทยา แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งวิถีชีวิต แต่ลุ่มน้ำแห่งนี้กลับเกี่ยวข้องกับระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำ มีหลายระดับ ทั้งระดับกฎหมายนานาชาติ กฎหมายของแต่ละประเทศ ข้อตกลงระหว่างประเทศ และธรรมเนียมปฏิบัติที่มิใช่กฎหมาย คำว่ากฎหมาย ในระดับต่างๆ นี้เหล่านี้จึงมีบริบทต่างกัน งานวิจัยชิ้นนี้ดำเนินการเป็นระยะเวลา3 ปี ได้รับการสนับสนุนจากสภาการวิจัยออสเตรเลีย โดยคณะนักวิจัยเป็นนักกฎหมายและนักสังคมศาสตร์ 5 ท่าน โดยได้ศึกษากับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแม่น้ำโขง
ดร.ฟิลลิปกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ทำความเข้าใจว่ากฎหมายมีผลอย่างไรกับแม่น้ำโขง โดยศึกษาในระดับต่างๆ ที่สำคัญคือพยายามเข้าใจว่ากฎหมาย ถูกเข้าใจอย่างไรจากฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ และผู้ที่ถูกกระทำ หรือในแง่ของการเรียกร้องความเป็นธรรมจากชุมชน การศึกษาพบว่า “กฎหมาย” ที่เขียนและปฏิบัตินั้น แตกต่างกัน โดยคณะนักวิจัยยังพยายามหาผลลัพธ์ของการใช้กฎหมาย ที่มิใช่แค่การฟ้องร้องในกระบวนการศาล แต่รวมถึงการใช้กฎหมายในการอธิบายประเด็นต่างๆ เราพบความหลากหลายในการใช้กฎหมายมาสร้างคำอธิบาย
“เขื่อนเป็นหัวข้อหลักที่คณะนักวิจัยใช้เป็นกรณีศึกษา ทั้งเขื่อนที่สร้างแล้ว เขื่อนระหว่างการก่อสร้าง และโครงการ รวมทั้งเขื่อนที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในภูมิภาคในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คือโครงการเขื่อนไซยะบุรี นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้ศึกษารวมถึงเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน และเขื่อนในลุ่มน้ำสาขา”ดร.ฟิลลิป กล่าว
นางนาตาเลีย สครัช อาจารย์มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ครอบคลุมเนื้อหาส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงแนวคิดการจัดการลุ่มน้ำ ที่มองช่วงการจัดการแม่น้ำโขงเป็นสามช่วง เริ่มตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส ยุคสงครามเย็นโซเวียต และมาสู่ยุคการพัฒนา ในช่วงทศวรรษ 90 เป็นต้นมา ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขง ซึ่งมีทุนและบริษัทเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก การปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคเอกชน งานวิจัยได้ศึกษากฎหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อม กฎหมายในบริบทของการพัฒนาและทุน ประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา กฎหมายสามารถสร้างผลลัพธ์ที่อาจไม่คาดคิดได้
นายเบน โอเออร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่าวิจัยพบว่ากฎหมายมีอยู่เต็มไปหมดในลุ่มน้ำโขง แต่ในความเป็นจริงหลายกรณีกลับไม่มีกาบังคับใช้จริง บางกรณีพบว่ากฎหมายมีเพื่อรับใช้ชนชั้นนำ ดังกรณีระเบียบการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ซึ่งมีการนำมาใช้ครั้งแรกในโครงการ เขื่อนไซยะบุรี โดยมีคำถามเกิดตามมามากมาย พบว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA แม้มีการทำการศึกษาจริง แต่กลับถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพ และพบว่าไม่สามารถตอบคำถามให้แก่ชุมชนได้
“หากเพียงกฎหมายถูกนำมาบังคับใช้จริงในแม่น้ำโขง ทุกคนจะได้ประโยชน์ด้วยกัน หากมีการบังคับใช้จริงในการปรึกษาหารือกับชุมชน ในบทสรุปของหนังสือ เราสรุปว่า ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ อีก ตั้งคำถามกับการพัฒนาและกฎหมาย สุดท้ายคือเรียกร้องให้สร้างความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า กฎหมาย ในลุ่มน้ำโขง คืออะไร และส่งผลอย่างไรบ้าง”นายเบน โอเออร์ กล่าว
ดร.กนกวรรณ มโนรมน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าหนังสืองานวิจัยชิ้นนี้ให้ภาพของการพัฒนาแม่น้ำโขงในทุกระดับ ด้วยการมองแม่น้ำโขงว่ากฎหมายต่างๆ มีการผสานและบังคับใช้อย่างไรในการจัดการแม่น้ำโขง soft law เป็นเครื่องมือในการจัดการที่สำคัญเท่าๆ กันกับกฎหมายโดยเฉพาะธรรมเนียมและการจัดการแม่น้ำโขงสำหรับท้องถิ่น เป็นการท้าทายความเชื่อเรื่องการจัดการลุ่มน้ำ
คร.กนกวรรณกล่าวว่ากรณีเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาว เราพบว่าแม้ธนคารโลกจะอ้างว่าเป็นเขื่อนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด แต่กลับพบผลกระทบความเสียหายรุนแรงกับชุมชนท้ายน้ำที่เซบังไฟ แขวงคำม่วน สปป.ลาว และปัญหาการเยียวยาให้ชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินและต้องอพยพ ผู้บริหารธนาคารโลกท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่าธนาคารโลกไม่ได้มีระบบที่ดีเพียงพอในการเยียวยาผลกระทบ และไม่มีระบบการติดตามว่าปฏิบัติได้เรียบร้อยจริงไหม ขณะที่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ดังกรณีเขื่อนปากมูล พบว่าละเลยต่อเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรวมถึงโครงการปัจจุบันคือเขื่อนไซยะบุรีที่จะสร้างผลกระทบข้ามพรมแดน ผลประโยชน์จากเขื่อนมักถูกขยายความจนเกินจริง ในขณะที่ต้นทุนถูกทำให้ดูน้อยมาก
ดร.คาร์ล มิดเดิลตัน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ต่างกันไปเรื่องกฎหมายในภูมิภาค เวลานี้เป็นเวลาที่กฎหมายถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆ ทั้งแนวคิดสนับสนุนการสร้างเขื่อน เขื่อนยั่งยืน sustainable hydropower ในขณะที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่พยายามเรียกร้องสิทธิ งานวิจัยชิ้นนี้เติมเต็มช่องว่างทางวิชาการที่มองลุ่มน้ำโขงในมุมมองระหว่างประเทศ เป็นช่องว่างที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราขาดไป งานวิจัยนี้ทำให้เห็นว่า กฎหมายในภูมิภาคอ่อนแอมากแค่ไหน ในขณะที่แนวปฎิบัติ(soft law) กลับถูกนำมาใช้อย่างเข้มแข็ง ความเป็นธรรมที่สร้างได้ด้วยหลักการ soft law กฎหมายที่ถูกตีความด้วยฝ่ายต่างๆ ที่มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจในโครงการใหญ่ๆ ความเป็นธรรมบนแม่น้ำข้ามพรมแดน กลับถูกอธิบายไม่เหมือนกัน สิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ความเป็นธรรมทางการตลาด ความเป็นธรรมเพื่อใคร การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นมากน้อยหรือเป็นจริงเพียงใด
“ผมดูกรณีการฟ้องศาลปกครองคดีเขื่อนไซยะบุรี ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งมีนักกฎหมายมากมายเป็นกองทัพ และฝ่ายชาวบ้านมีแค่นักกฎหมายนักสู้เพียงคนสองคน ที่ออกมาสู้กันด้วยตัวกฎหมายที่มีอยู่ และคดีนี้คงทำให้เราเห็นว่าจะเป็นอย่างไร” ดร.คาร์ล กล่าว
ดร.คาร์ล กล่าวว่าเราพบแล้วว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาการเมือง คือผู้ชี้เป็นชี้ตายต่อระบบนิเวศ และทรัพยากรของภูมิภาค แต่สิทธิของชีวิตอื่นๆ สิทธิของโลก (rights of mother earth) เหล่านี้จะคุ้มครองอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิทธิมนุษยชน
“บทบาทของจีน ที่ยังไม่มีการศึกษาเข้าใจมากเพียงพอ จีนกำลังขยายอิทธิพลมากขึ้นในสถาบันต่างๆ ทั้งGMS กลไกความร่วมมือล้านช้างแม่น้ำโขง คระกรรมาธิการแม่น้ำโขงกำลังเผชิญวิกฤต จีนกลับสร้างองค์ความรู้ สร้างกลไกที่ตนเองสร้างขึ้นมาใช้กับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขงตอนล่าง สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จัดการแม่น้ำโขงโดยจีนเป็นผู้นำและกำกับ” ดร.คาร์ล กล่าว
————————