วันที่ 19 มีนาคม 2559 แหล่งข่าวจากภาคประชาชนในเมืองทวาย ประเทศพม่า เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่จะทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการสร้างเขื่อนกะโลท่า ซึ่งจะนำน้ำมาใช้ในอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้เข้ามาสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวบ้านกะโลท่า โดยมีชาวบ้าน 30 คนให้ข้อมูลเพราะคิดว่าเป็นตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชนในพม่ามาสอบถามข้อมูล เนื่องจากตัวแทนบริษัทไม่ได้ชี้แจงว่าตัวเองเป็นใคร และใช้แบบฟอร์มเป็นภาษาอังกฤษมาสำรวจด้วยการจ้างนักศึกษาพม่าเป็นล่าม
ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมทวายนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ได้มีการก่อสร้างและเตรียมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีการปักป้ายเจ้าของโครงการใหม่คือ บริษัท Myndawei Industrial Estate Company จำกัด แม้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะมีใครมาลงทุนบ้าง โดยก่อนหน้านี้ในช่วงแรกๆ บริษัทอิตาเลียนไทยดิเวล๊อบเม้นต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย เป็นผู้ที่จะเข้ามาลงทุนหลักร่วมกับรัฐบาลของพม่า และประกาศเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำไทยหลายคนได้ลงทุนไปชักชวนมาร่วมทุนในโครงการนี้ แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับเท่าที่ควร ทำให้โครงการล่าช้าเรื่อยมา
หลวงพ่อเปียงยา โวสะ เจ้าอาวาสวัดกะโลท่าและพระนักพัฒนากล่าวว่า ก่อนหน้าที่ตัวแทนบริษัททีมฯ จะเข้ามาทำการสำรวจ เขาได้มาประสานกับหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อไม่รับ เขาจึงไปประสานกับนายอำเภอ และนายอำเภอจึงเป็นคนพาเขาลงพื้นที่เอง ในวันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากทางบริษัทพยายามไปเข้าหาทางนายอำเภอเพื่อให้รัฐออกคำสั่ง ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านถูกกดดันมาก เนื่องจากถูกบังคับให้ยอมรับการพัฒนา
“เรื่องการสร้างเขื่อนเรายอมไม่ได้ ตอนนี้มีการต่อรองเรื่องถนน(Road Link) ที่จะเชื่อมต่อมาจากทางชายแดนไทย ชาวบ้านในหมู่บ้านกะโลนท่า อาจจะต้องยอมให้ถนนเส้นนี้ตัดผ่าน แต่ชาวบ้านก็ยังกังวลต่อการทำถนนเส้นนี้เนื่องจาก 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวแทนบริษัทมาแจ้งชาวบ้านว่าจะทำถนน 4 เลน แต่จริงๆ แล้วจะมีการสร้างถนน 8 เลน ซึ่งจะตัดผ่านสวนหมากและที่ดินทำกินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้กับชาวบ้านทั้งหมดว่าจะเกิดอะไรขึ้นเลย”เจ้าอาวาสวัดกะโลท่า กล่าว
หลวงพ่อนักพัฒนากล่าวด้วยว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดนั่นคือ การเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ชาวบ้าน เพื่อจะได้รู้ว่าถนนตัดผ่านไปเส้นไหนบ้าง เพราะชาวบ้านไม่อยากให้มีการสร้างเขื่อน และไม่อยากให้มีการสร้างถนนตัดผ่าน ชาวบ้านจึงได้รับการกดดันจากรัฐมากว่า ไม่ยอมรับการพัฒนา ฉะนั้นตอนนี้ชาวบ้านอาจจะต้องยอมรับเรื่องถนนไปก่อน แต่ต้องมีข้อมูลที่โปร่งใสและต้องแปลเป็นภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านสามารถอ่านและเข้าใจได้
ทั้งนี้ หมู่บ้านกะโลนท่ามีประชากรประมาณ 200 ครัวเรือน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตะไลยา กลางหุบเขาตะนาวศรี โดยชาวบ้านมีอาชีพทำสวนหมากและไร่มะม่วงหิมพานต์ ถือเป็นรายได้หลักของชุมชน บ้านเรือนแต่ละหลังมีสวนหมากรายล้อมและสภาพหมู่บ้านมีความสะอาด โดยชุมชนวางแผนที่จะดำเนินการให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างไรก็ตาม หมู่บ้านแห่งนี้เป็นเป้าหมายที่จะถูกสร้างเขื่อนเพื่อเป็นแหล่งน้ำใช้ในอุตสาหกรรมและต้องอพยพโยกย้ายเนื่องจากหมู่บ้านจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ชาวบ้านจึงได้ลุกขึ้นมาคัดค้านตั้งแต่ 2554 จนถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทยังไม่สามารถที่จะเข้าไปทำการสำรวจและจัดทำอีไอเอได้
/////////////////////////